๑๐๓. เมื่อเริ่มปฏิบัติธรรมให้เริ่มที่ศรัทธา Get Started Belief of Living in Conformity with the Dhamma
By Nithee Siripat Siripat.com and Academiae Network. 2015 ความสำคัญของบทความ
ภาพที่สร้างความงงงวยที่ไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์หลายอย่าง เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในศาสนกิจ ที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา นั้น เกิดจากความไม่รู้จริง หรือตั้งใจไม่รู้ เสแสร้งจงใจประพฤติผิดจากความเป็นจริง เพื่อดึงความสนใจ หรือมีความประสงค์เป็นอย่างอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องไม่ควร ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ประกอบด้วยปัญญา ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างจริงจัง เพราะจากความงงงวยกลับกลายเป็นความงมงาย และเป็นการหาผลประโยชน์ ลาภสักการะ เงินทอง จากคนที่ไร้ที่พึ่งทางจิตใจและชีวิต เพราะฉะนั้น คนยุคใหม่จึงควรทำการศึกษาในเชิงศาสนาเปรียบเทียบให้มากที่สุด เพื่อให้เห็นภาพรวมที่แท้จริง ในการปฏิบัติศาสนกิจที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ตามคำสอนของศาสดา ไม่ใช่ตกไปเป็นทาสเครื่องมือรับใช้คนชั่ว เพราะความเชื่อที่ไม่ประกอบด้วยการใช้เหตุผล ไม่มีสติปัญญากลั่นกรอง อะไรสมควร อะไรไม่เหมาะควร ที่พึงกระทำให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ฉะนั้น การใช้เหตุผล วิจารณญาณ สามัญสำนึก ความรับผิดชอบต่อสังคม จึงเป็นเรื่องของพลเมืองดีของประเทศ พระพุทธศาสนาเป็นทางเลือกแห่งความศรัทธา ความเลื่อมใส ที่จะได้พัฒนาตัวตนให้เจริญงอดงามใน ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) กายภาวนา (๒) สีลภาวนา (๓) จิตตภาวนา (๔) ปัญญาภาวนา ตามลำดับ ใครจะพัฒนาตนเองอยู่ในขั้นไหน ก็ทำให้เหมาะควรแก่ธรรม ทุกด้านที่ประพฤติปฏิบัติ ขอให้ทำจริงๆ ย่อมทำให้เป็นคนดีได้เสมอ ไม่เกิดความคิดที่ผิดๆ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงโดยวิปริต จนกระทั่งสร้างความเดือดร้อนทั้งกายและใจให้ตนเองและผู้อื่น โง่และชั่วคนเดียวไม่พอ ชักนำคนอื่นไปสู่ความฉิบหายด้วย องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระสัทธรรมที่เป็นแก่นแท้ให้มวลมนุษยชาติ ก็เป็นเวลานานเกือบ ๒,๖๐๐ ปี ที่ผ่าน ที่เรียกว่า ยุคภัทรกัป พระธรรมวินัยของพระองค์ ยังคงแสดงผลแห่งความเป็นจริงโดยปรมัตถ์ ไม่คลาดเคลื่อน ไม่เป็นอย่างอื่น ยังจริงแท้แน่นอน และยังเป็นที่พึ่งของสาธุชนทั้งหลายได้เป็นอย่างดี คุณสมบัติของพระธรรมวินัยนี้ บ่งบอกถึงการทำลายสิ่งเป็นอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเป็นลามกธรรม ที่ประกอบด้วยทรามปัญญา แต่ให้เกิดปัญญาที่บริสุทธิ์ อันมีพื้นฐานมาจาก จิตที่สะอาดและบริสุทธิ์ พร้อมด้วยพฤติกรรมที่ผ่องแผ้วบริสุทธิ์จนกลายเป็นศีลตามปกติ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ถือตนเป็นพุทธมามกะที่มีพร้อมด้วยศรัทธาและฉันทะที่แรงกล้า ปฏิบัติตนด้วยซื่อตรงต่อพระสัตถุสาสน์ของพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ย่อมเกิดความปีติปราโมทย์เอิบอิ่มในธรรม มีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ สันติสุขย่อมไพบูลย์ด้วยภาวะที่ปราศจากกิเลสและทุกข์ทั้งหลาย มีชีวิตอยู่เป็นสุขเกษมจากโยคธรรมทั้งหลาย เพราะเข้าใจแก่นแท้ของชีวิตอย่างลึกซึ้ง ไม่ระแวงสงสัยในธรรมอันเป็นสัมมาปฏิปทา ที่รุดหน้าก้าวไปอย่างมีอริยะอันประเสริฐแห่งความเป็นผู้เจริญแล้ว ท่านผู้เจริญสมบูรณ์บริบูรณ์ได้ ดังเช่น พระอริยเจ้าทั้งหลาย ต่างสรรเสริญในคุณชาติแห่งธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสพึงทำ ดังเช่นนี้.
บทความที่ ๑๐๓ ประจำปี ๒๕๕๘ เมื่อเริ่มปฏิบัติธรรมให้เริ่มที่ศรัทธา
โดยปกติทั่วไป สำหรับการนับถือศาสนานั้น มักเริ่มต้นด้วยความเชื่อ ความศรัทธา ความเลื่อมใส ว่า ศาสนาReligion ดังกล่าวนั้น จะเป็นสรณะที่พึ่งแห่งชีวิตได้ เพราะก่อนหน้านั้น บุคคลนั้นมักประสบกับวิถีชีวิตที่ทุกข์ยากลำบาก ขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่มีใครยื่นมือมาช่วยเหลือ หรือมิฉะนั้น ก็ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มผู้มีอำนาจ หรือมีผลประโยชน์ รีบไถ่ให้บุคคลนั้น อึดอัดดำเนินชีวิตได้ยากเย็นเข็ญใจ มีชีวิตอยู่เหมือนไม่ใช่คน แรงกดดันดังกล่าวนี้ เป็นภาวะทางจิตที่อ่อนล้า เบื่อหน่ายในชีวิต เพราะดูเหมือนไม่มีอนาคต มีชีวิตอยู่อย่างไร้ค่า ตายก็ตายไม่สนิทใจ ดังเช่น ทาสในสังคม จะเป็นคนก็ไม่ใช่ จะเป็นสัตว์ก็ไม่ใช่ ดังเช่น ระบบสังคมที่แบ่งชั้นวรรณะในอินเดียสมัยโบราณช่วงพุทธกาล ที่มีการจัดระบบสังคมเป็น ๔ วรรณะ สำหรับนิยามของ คำว่า วรรณะ นั้น (๑) ผิว สี เพศ ชนิด พวก เหล่า หนังสือ คุณความดี ความยกย่องสรรเสริญ (๒) ชนชั้นที่จัดแบ่งออกไปตามหลักศาสนาพราหมณ์เรียกว่า วรรณะ ๔ หรือ วัณณะ ๔ [Castes] คือ กษัตริย์พราหมณ์แพศย์ศูทร ดังนี้
(๑) กษัตริย์ ชื่อวรรณะที่ ๑ ในวรรณะ ๔ ของคนในชมพูทวีป ตามหลักศาสนาพราหมณ์ พระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย ชนชั้นปกครอง หรือ นักรบ นั่นคือ จัดอยู่ใน อุภโตสุชาต เกิดดีแล้วทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายมารดาทั้งฝ่ายบิดา หมายความว่า มีสกุลสูง เป็นเชื้อสายวรรณะนั้นต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา เป็นคุณสมบัติที่กษัตริย์บางวงศ์ถือเป็นสำคัญมาก
(๒) พราหมณ์ ชื่อวรรณะที่ ๒ ในวรรณะ ๔ ของคนในชมพูทวีป ตามหลักศาสนาพราหมณ์ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร พราหมณ์เป็นวรรณะนักบวชและเป็นเจ้าพิธี ถือตนว่าเป็นวรรณะสูงสุด เกิดจากปากพระพรหม นั่นคือ จัดอยู่ใน อุภโตสุชาต เกิดดีแล้วทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายมารดาทั้งฝ่ายบิดา หมายความว่า มีสกุลสูง เป็นเชื้อสายวรรณะนั้นต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา เป็นคุณสมบัติที่พวกพราหมณ์ถือเป็นสำคัญมากได้แก่ (๑) พราหมณดาบส ดาบสที่มีชาติตระกูล เป็นพราหมณ์ ออกมาบำเพ็ญพรตถือเพศเป็นดาบส มีบันทึกในอรรถกถาว่า ครั้งอดีตสมัยพระเจ้าโอกกากราช ในดินแดนแถบทักขิณาบถ อันเป็นทักษิณชนบท มีพวกพราหมณดาบสอยู่มาก (๒) พราหมณมหาสาล พราหมณ์ผู้มั่งคั่ง (๓) พราหมณคหบดี พราหมณ์และคหบดี คือ ประดาพราหมณ์ และชนผู้เป็นเจ้าบ้านครองเรือนทั้งหลายอื่น ที่นอกจากกษัตริย์และพราหมณ์นั้น เฉพาะอย่างยิ่งคือพวกแพศย์
(๓) แพศย์ คนวรรณะที่ ๓ ใน ๔ วรรณะ ของคนในชมพูทวีป ตามหลักศาสนาพราหมณ์ หมายถึง พวกชาวนา และ พ่อค้า
(๔) ศูทร ชื่อวรรณะที่ ๔ ในวรรณะ ๔ ของคนในชมพูทวีป ตามหลักศาสนาพราหมณ์ จัดเป็นชนชั้นต่ำ ได้แก่ พวกทาส และ กรรมกร หรือคนในกลุ่มต่อไปนี้ (๑) ชาติสุททะ พวกสุททะ คนพวกวรรณะศูทร เป็นคนชั้นต่ำในชมพูทวีป (๒) ชาติปุกกุสะ พวกปุกกุสะ เป็นคนชั้นต่ำพวกหนึ่งในระบบวรรณะของศาสนาพราหมณ์ มีอาชีพคอยเก็บกวาดขยะดอกไม้ตามสถานที่บูชา (๓) จัณฑาล ลูกต่างวรรณะ เช่น บิดาเป็นศูทร มารดาเป็นพราหมณ์ มีลูกออกมา เรียกว่า จัณฑาล ถือว่าเป็นคนต่ำทรามถูกเหยียดหยามที่สุดในระบบวรรณะของศาสนาพราหมณ์
อย่างไรก็ตาม มีคำศัพท์อีกคำหนึ่ง ที่ชาวพุทธควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับลัทธิศาสนาพราหมณ์ในสมัยครั้นพุทธกาล คือ คำว่า อาศรม ดังนี้
อาศรม หมายถึง ที่อยู่ของนักพรต ตามลัทธิของพราหมณ์ ในยุคที่กลายเป็น ลัทธิฮินดู แล้วได้วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวฮินดูวรรณะสูง โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ โดยแบ่งเป็นขั้นหรือช่วงระยะ ๔ ขั้น หรือ ๔ ช่วง เรียกว่า อาศรม ๔ กำหนดว่าชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ทุกคนจะต้องครองชีวิตให้ครบทั้ง ๔ อาศรม ตามลำดับ [แต่ในทางปฏิบัติ น้อยคนนักได้ปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้ถือกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีป่าให้เข้าไปอยู่] ได้แก่ (๑) พรหมจารี เป็นนักเรียนศึกษาพระเวท ถือพรหมจรรย์ (๒) คฤหัสถ์ เป็นผู้ครองเรือน มีภรรยาและมีบุตร (๓) วานปรัสถ์ ออกอยู่ป่าเมื่อเห็นบุตรของบุตร (๔) สันยาสี [เขียนเต็มเป็น สันนยาสี] เป็นผู้สละโลก มีผ้านุ่งผืนเดียว ถือภาชนะขออาหารและหม้อน้ำเป็นสมบัติ จาริกภิกขาจารเรื่อยไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวโลก
[ข้อวิจารณ์: ปราชญ์บางท่านว่า: พราหมณ์ได้ความคิดจากพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงจัดวางระบบของตนขึ้น หลังตั้งลัทธิฮินดูขึ้นมาแข่งกับพระพุทธศาสนา เพราะมีพราหมณ์ถือเพศสมณพราหมณ์มากขึ้นกว่าทุกวรรณะ จนถึงเป็นอริยสาวกของพระตถาคต เช่น พยายามนิยาม คำว่า สันยาสี ให้ตรงกับ คำว่า ภิกษุ แต่หาเหมือนกันจริงไม่]
นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การศึกษาEducation ในสมัยพุทธกาลที่มีเมืองสำคัญๆ ในครั้งกระโน้น ดังเช่น ตักสิลา กับ คันธาระ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
เมืองตักสิลา ชื่อนครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้น แห่งชมพูทวีป ตักสิลามีมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาล เคยรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาต่างๆ เป็นสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดในการศึกษายุคโบราณ เรียกกันว่า เป็นเมืองมหาวิทยาลัย สันนิษฐานว่า บัดนี้ คือ บริเวณซากโบราณสถาน ในเขตแคว้นปัญจาบ ของประเทศปากีสถาน อยู่ห่างออกไปประมาณ ๒๗ กม. ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของราวัลปินดิ [Rawalpindi] เมืองหลวงเก่า และห่างจากอิสลามะบาด [Islamabad] เมืองหลวงปัจจุบัน ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒๓ กม. ตักสิลา เป็นราชธานีที่มั่งคั่งรุ่งเรืองสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ มีเรื่องราวเล่าไว้ในชาดกเป็นอันมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตักสิลา เป็นศูนย์กลางการศึกษา มี สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ แก่ศิษย์ซึ่งเดินทางมาเล่าเรียนจากทุกถิ่นในชมพูทวีป แต่ในยุคก่อนพุทธกาล ชนวรรณะสูงเท่านั้น จึงมีสิทธิเข้าเรียนได้ บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านในสมัยพุทธกาลสำเร็จการศึกษาจากนครตักสิลา เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล เจ้ามหาลิจฉวีพันธุลเสนาดี หมอชีวกโกมารภัจ และ องคุลิมาล เป็นต้น
องคุลิมาล พระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เคยเป็นมหาโจรโด่งดัง เป็นบุตรของ ภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อ นางมันตานีพราหมณี เดิมชื่อ อหิงสกะ [แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียน] ไปศึกษาศิลปะศาสตร์ใน สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อนศิษย์ด้วยกันริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย อาจารย์ลวงอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพันแล้ว จะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ [ในครั้งนั้น ยังไม่มีกระทรวงศึกษา ที่ออกระเบียบจรรยาบรรณครู จึงคิดชั่วสนธิกำลังได้มาตรฐาน ทั้งครูและศิษย์ มีความรู้แต่ไร้คุณธรรม ไม่สามารถยกระดับคุณภาพคนได้จริงๆ แต่จากแนวทางแห่ง มัชฌิมาปฏิปทาพุทธศึกษาแห่งไตรสิกขา ให้เปรียบเทียบกับ กาลามสูตร ในข้อ (๑๐) อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา ข้อนี้ใช้ได้เหนือกาลเวลา แม้ในสังคมปัจจุบัน] จึงกลายไปเป็น มหาโจร [ไม่มหาบัณฑิต] ผู้โหดร้ายทารุณตัดนิ้วมือคนที่ตน ฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องคุลิมาล [แปลว่า มีนิ้วเป็นพวงมาลัย] ภายหลัง พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จ พระอรหัต ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติ ไม่ให้ บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง เพราะเป็นวัตถุวิบัติหรือมนุษย์วิบัติ ให้บวชไม่ได้
ต่อมาภายหลังพุทธกาล ตักสิลา ได้ถูก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกยึดครอง มีหนังสือที่คนชาติกรีกกล่าวถึง ขนบธรรมเนียม ประเพณีของเมืองตักสิลา เช่นว่า ประชาชนชาวตักสิลา ถ้าเป็นคนยากจน ไม่สามารถจะปลูกฝังธิดาให้มีเหย้าเรือนตามประเพณีได้ ก็นำธิดาไปขายที่ตลาด โดยเป่าสังข์ตีกลองเป็นอาณัติสัญญาณ [แต่คงไม่ใช่ต้นแบบวิถีชีวิตในค่านิยมเรื่องขายลูกกินที่มีในบางเขตทางภาคเหนือประเทศไทย] ประชาชนก็พากันมาล้อมดู ถ้าผู้ใดชอบใจก็ตกลงราคากันนำไปเป็นภรรยา หญิงที่สามีตายจะต้องเผาตัวตายไปกับสามี [ปัจจุบันได้ยกเลิกขนบธรรมเนียมนี้ไปแล้ว เพราะไม่ใช่นิทานเรื่อง ดาวลูกไก่ทั้ง ๗ แต่ดาวที่ต้องระวังมาก คือ ดาวไถ]
นับแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้นมา ตักสิลา ได้เป็น นครที่รุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา ซึ่งเจริญขึ้นมาเคียงข้างศาสนาฮินดู เป็นแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของการศึกษาพระพุทธศาสนา ดังมีซากสถูปเจดีย์ วัดวาอาราม และ ประติมากรรมแบบ ศิลปะคันธาระ จำนวนมากปรากฏเป็นหลักฐาน
ต่อมาราว พ.ศ. ๙๔๓ หลวงจีนฟาเหียน ได้มาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ยังได้มานมัสการพระสถูปเจดีย์ที่เมืองตักสิลา แสดงว่าเมืองตักสิลายังคงบริบูรณ์ดีอยู่ แต่ต่อมาราว พ.ศ. ๑๐๕๐ ชนชาติฮั่นยกมาตีอินเดียและได้ทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้ เมืองตักสิลา พินาศสาปสูญไป ครั้นถึง พ.ศ. ๑๑๘๖ หลวงจีนเหี้ยนจัง [พระถังซัมจั๋ง] มาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย กล่าวว่า
เมืองตักสิลาตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเป็นเพียงเมืองหนึ่งที่ขึ้นกับแคว้นกัศมีระ โบสถ์วิหาร สถานศึกษา และปูชนียสถานถูกทำลายหมด จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏเรื่อง เมืองตักสิลา อีก
เขียนเต็มตามบาลีเป็น ตักกสิลา เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ตักษศิลา อังกฤษเขียน Taxila
เมืองคันธาระ ชื่อแคว้นลำดับที่ ๑๕ ในบรรดา๑๖ แว่นแคว้นใหญ่ ที่เรียกว่า มหาชนบทแห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำสินธุ ตอนเหนือ ปัจจุบันอยู่ในเขตปากีสถาน เริ่มแต่แคว้นปัญจาบภาคเหนือ คลุมไปถึงบางส่วนของประเทศอัฟกานิสถานรวมทั้ง เมืองกันทหาร [Kandahar] สันนิษฐานว่า เลือนมาจากชื่อเดิมของแคว้นนี้ คือ Gandhara
ในพุทธกาล คันธาระ มีนครหลวงชื่อ ตักสิลา ซึ่งเป็นนครที่รุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาต่างๆ มีพระราชาปกครอง พระนามว่า ปุกกุสาติ ในพระไตรปิฎก คันธาระ เป็นแคว้นใหญ่ มีชื่อเฉพาะตัว แต่เมื่อถึงยุคอรรถกถา คันธาระ มักปรากฏชื่อรวมอยู่ด้วยกันกับ แคว้นกัสมีระ โดยเรียกชื่อรวมกันว่า แคว้นกัสมีรคันธาระ [ในพระไตรปิฎก กัสมีระ ยังไม่มีชื่อปรากฏ] ซึ่งแสดงว่า ดินแดนทั้งสองนี้อยู่ข้างเคียงติดต่อกันและในยุคนั้นเป็นอันเดียวกัน ทางการเมือง ต่อมา คันธาระ ถูกทำลายแม้แต่ชื่อก็เลือนหายไป เหลือแต่ กัศมีระ [ปัจจุบันเขียน กัศมีร์ รูปสันสกฤตเดิมเป็น กศฺมีร บาลีเป็น กสฺมีร ในภาษาไทย บางทีเรียกเพี้ยนเป็น แคชเมียร์] ซึ่งในปัจจุบันปรากฏชื่อรวมอยู่ด้วยกันกับ แคว้นชัมมู โดยเรียกชื่อรวมกันว่า ชัมมูและกัศมีร์ [Jammu and Kashmir] และเป็นดินแดนที่เป็นกรณีพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถานตลอดมา ตั้งแต่ประเทศทั้งสองนั้นแบ่งแยกจากกันในปี ๒๔๙๐ [ค.ศ.1947] กับทั้งจีนก็ได้ครอบครองแถบตะวันออกบางส่วนของ กัศมีระ เกิดเป็นกรณีพิพาทกับอินเดียด้วย สำหรับดินแดนส่วนที่เป็นของอินเดีย ซึ่งอยู่ใต้ส่วนที่พิพาทกันอยู่นั้น เรียกว่า รัฐชัมมูและกัศมีร์ เป็นรัฐเหนือสุดของอินเดีย มีเมืองหลวงชื่อว่า ศรีนคร [Sri Nagar]
ด้วยเหตุนี้ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาในท่ามกลางลัทธิศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากมาก เพราะต้องโต้เถียงในข้อ ปรัปวาท [ปะ-รับ-ปะ-วาด] คือ คำกล่าวของคนพวกอื่นหรือลัทธิอื่น คำกล่าวโทษคัดค้านโต้แย้งของคนพวกอื่น หลักการของฝ่ายอื่น ลัทธิภายนอก [พาหิรสมัย: ปุพเพกตเหตุวาทลัทธิกรรมเก่า ๑ อิสสรนิมมานเหตุวาทลัทธิพระเป็นเจ้า ๑ อเหตุอปัจจัยวาทลัทธิเสี่ยงโชค ๑] หรือคำสอนที่คลาดเคลื่อน หรือ วิปริตผิดเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น ไม่เป็นไปตาม ธรรมดากฎธรรมชาติ โดยไม่ครั่นคร้ามด้วยความแก้วกล้าอาจหาญในความเชื่อมั่น [SelfConfidences] ในพระธรรมของพระองค์ ดังนี้
เวสารัชชญาณ ๔ [เวสารัชชะ] หมายถึง ความไม่ครั่นคร้าม ความแกล้วกล้าอาจหาญ พระญาณอันเป็นเหตุให้ทรงแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม พระตถาคตเจ้าไม่ทรงมองเห็นว่า ใครก็ตาม จักทักท้วงพระองค์ได้โดยชอบธรรมในฐานะเหล่านี้ คือ (๑) สัมมาสัมพุทธปฏิญญา คือ ท่านปฏิญญาว่า เป็นสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านยังไม่รู้ (๒) ขีณาสวปฏิญญา คือ ท่านปฏิญญาว่า เป็นขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านยังไม่สิ้น (๓) อันตรายิกธรรมวาทะ คือ ท่านกล่าวธรรมเหล่าใดว่าเป็นอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่อาจก่ออันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง (๔) นิยยานิกธรรมเทศนา คือ ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่เป็นทางนำผู้ทำตามให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบจริง
ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงถึงความเกษม ถึงความไม่มีภัย แกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้ามอยู่ เวสารัชชะ ๔ นี้ คู่กับ ตถาคตพล ๑๐ [เรียกกันทั่วๆ ไปว่า ทศพลญาณ] เป็นธรรมที่ทำให้พระตถาคต ทรงปฏิญญาฐานะแห่งผู้นำ หมายถึง ฐานะอันสูงสุด คือ ฐานะอันประเสริฐ เป็นฐานะของพระพุทธเจ้าแต่ก่อนทั้งหลายผู้องอาจ และ เปล่งสีหนาทในบริษัททั้งหลาย หมายถึง ใน บริษัท ๘ มี กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี สมณะ เทพชั้นจาตุมมหาราชิกะ เทพชั้นดาวดึงส์ มาร และ พรหม ยังพรหมจักรให้เป็นไป หมายถึง เป็นจักรประเสริฐสูงสุดบริสุทธิ์ พึงทราบ จักกศัพท์ (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 625627 FILE 69) ดังต่อไปนี้
จักกศัพท์ ปรากฏใน สมบัติลักษณะเครื่องประกอบรถอิริยาบถทานรัตนจักรธรรมจักรอุรจักร เป็นต้น ในที่นี้ปรากฏในธรรมจักร พระโยคาวจรพึงประกาศธรรมจักรแม้นั้นโดยอาการ ๒ อย่าง
จักกศัพท์ (๑) ปรากฏในสมบัติ ในบทมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมบัติของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยจักร ๔ เหล่านี้ (๒) ปรากฏในลักษณะ ในประโยคนี้ว่า จักรเกิดที่ฝ่าพระบาทเบื้องล่าง (๓) ปรากฏในส่วนของรถ ในประโยคนี้ว่า ดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าฉะนั้น (๔) ปรากฏในอิริยาบถ ในบทนี้ว่า มีจักร ๔ มีทวาร ๙ (๕) ปรากฏในทาน ในประโยคนี้ว่า เมื่อให้ท่านจงบริโภคเถิดและอย่าเป็นผู้ประมาท ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในแคว้นโกศล ขอพระองค์จงยังจักรให้เป็นไปเถิด (๖) เป็นไปในรัตนจักร ในบทนี้ว่า จักรรัตนะอันเป็นทิพย์ได้ปรากฏแล้ว (๗) เป็นไปในธรรมจักร ในบทนี้ว่าจักรอันเราประกาศแล้ว (๘) เป็นไปในอุรจักร ในบทนี้ว่า จักรย่อมหมุนไปบนหัวของสัตว์ผู้ถูกความริษยาครอบงำแล้ว (๙) เป็นไปในปหรณจักร ในบทนี้ว่า ด้วยจักรมียอดคม ในอสนิมณฑล ในบทนี้ว่า สายฟ้าฟาด แต่ในที่นี้ จักกศัพท์นี้ ปรากฏในธรรมจักร
อนึ่ง ธรรมจักรนั้นมี ๒ อย่าง คือ ปฏิเวธญาณ และ เทศนาญาณ ในญาณทั้ง ๒ นั้น (๑) การนำมาซึ่งอริยผลของตนอันเจริญแล้วด้วยปัญญา ชื่อว่า ปฏิเวธญาณ และ (๒) การนำมาซึ่งอริยผลของสาวกทั้งหลายอันเจริญแล้วด้วยกรุณา ชื่อว่า เทศนาญาณ ในญาณทั้ง ๒ นั้น ปฏิเวธญาณ มี ๒ อย่าง คือ กำลังเกิด ๑ เกิดแล้ว ๑ ญาณนั้นชื่อว่า กำลังเกิด ตั้งแต่ออกมหาภิเนษกรมณ์ จนถึงอรหัตมรรค ชื่อว่า เกิดแล้วในอรหัตผล ด้วยความว่า:
พระโพธิสัตว์ผู้สิทธัตถกุมาร จักเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ในเวลาเที่ยงคืน ทรงผนวชในวันพระราชโอรสประสูติ ทรงประกอบความเพียรเนืองๆ แล้วทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณตามลำดับ คือ ในปีที่ ๒๙ ก็เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ บรรพชาที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานที เสด็จไปอุรุเวลาประเทศโดยลำดับ แล้วเริ่มตั้งความเพียร ในกาลนั้น
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กำลังเกิด ตั้งแต่ประดิษฐาน ณ ภพดุสิต จนถึงบรรลุอรหัตมรรค ณ โพธิบัลลังก์ ชื่อว่า เกิดแล้วในขณะแห่งผล หรือ กำลังเกิด ตั้งแต่ศาสนาพระทีปังกรทศพล จนถึงบรรลุอรหัตมรรค ชื่อว่า เกิดแล้วในขณะแห่งผล แม้เทศนาญาณก็มี ๒ อย่าง คือ กำลังเป็นไป ๑ เป็นไปแล้ว ๑ เทศนาญาณ นั้น ชื่อว่า กำลังเป็นไปเพียงใดแต่อรหัตมรรคของพระอัญญาโกณทัญญเถระ ชื่อว่า เป็นไปแล้วในขณะแห่งผล ฉะนั้น ปฏิเวธญาณ เป็นโลกุตระ เทศนาญาณ เป็นโลกิยะ แม้ทั้ง ๒ นั้น ก็ไม่ทั่วไปด้วยผู้อื่น เป็น โอรสญาณ [ญาณเกิดแต่อก] ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พฺรหฺมจกฺกํ ปวตฺเตติ คือ ประกาศพรหมจักร
ทศพลญาณ หมายถึง พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ ที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง ได้แก่ (๑) ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่า อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะ ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล และกฎเกณฑ์ทางจริยธรรม เกี่ยวกับ สมรรถวิสัยของบุคคล ซึ่งจะได้รับ ผลกรรม ที่ดีและชั่วต่างๆ กัน (๒) กรรมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม คือ สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อน ระหว่าง กรรมดี กับ กรรมชั่ว ที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มองเห็นรายละเอียดและความสัมพันธ์ภายในกระบวนการก่อ ผลของกรรม อย่างชัดเจน (๓) สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ สุคติ ทุคติ หรือพ้นจากคติ หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่ อรรถประโยชน์ ทั้งปวง กล่าวคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะสัมปรายิกัตถะปรมัตถะ คือ รู้ว่าเมื่อปรารถนาจะเข้าถึงคติหรือประโยชน์ใด จะต้องทำอะไรบ้าง มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติอย่างไร (๔) นานาธาตุญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วย ธาตุ ต่างๆ เป็นอเนก คือ รู้สภาวะของธรรมชาติ ทั้งฝ่าย อุปาทินนกสังขาร และฝ่าย อนุปาทินนกสังขาร เช่น รู้จักส่วนประกอบต่างๆ ของชีวิต สภาวะของส่วนประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งลักษณะและหน้าที่ของมันแต่ละอย่าง อาทิ การปฏิบัติหน้าที่ของ ขันธ์อายตนะธาตุ ต่างๆ ในกระบวนการรับรู้ เป็นต้น และรู้เหตุแห่งความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น (๕) นานาธิมุตติกญาณ ปรีชาหยั่งรู้ อธิมุติ คือ รู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ แนวความสนใจ เป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่างๆ กัน (๖) อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่ง อินทรีย์ ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่าสัตว์นั้นๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อน หรือแก่กล้า สอนง่าย หรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่ (๗) ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งฌานวิโมกข์ สมาธิ และ สมาบัติ ทั้งหลาย (๘) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปรีชาหยั่งรู้อันทำให้ระลึกภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ (๙) จุตูปปาตญาณ ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม (๑๐) อาสวักขยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น ลักษณะอันเป็น มหาบุรุษ หรือ โสภณบุรุษ ของพระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น ย่อมสร้างความน่าศรัทธาปสาทะด้วยอธิโมกข์ [ศรัทธาแรงกล้าที่ทำให้ใจผ่องใสอย่างยิ่ง = อธิโมกขสัทธา] ซึ่งตรงกับ โอกัปปนสัทธา คือ ความเชื่อหนักแน่นสนิทแน่วเมื่อได้ปฏิบัติก้าวหน้าไปในการเห็นความจริง ตามคำสอนของพระศาสดา หรือ ปสาทสัทธา คือ ความเชื่อที่เป็นเพียงความเลื่อมใสจากการได้ยินได้ฟังพระธรรมของพระศาสดา ตัวอย่างเช่น ใน อัคคัญญสูตร (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 145165 FILE 15) ดังนี้
อัคคัญญสูตร โดยความย่อ ดังนี้ ชื่อสูตรที่ ๔ แห่งทีฆนิกายปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก ทรงแสดงแก่ สามเณรวาเสฏฐะ และ สามเณรภารัทวาชะ ผู้ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ ทรงคัดค้านคำกล่าวอ้างของพวกพราหมณ์ ที่ถือว่า พราหมณ์เป็นวรรณะประเสริฐที่สุด และ ถือว่าชาติกำเนิดเป็นเครื่องตัดสินความประเสริฐ และความต่ำทรามของมนุษย์ ทรงแสดงให้เห็นว่า ความประเสริฐหรือต่ำทรามนั้น อยู่ที่ความประพฤติ โดยมีธรรมเป็นเครื่องตัดสิน คนวรรณะต่างๆ ออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมชื่อว่า เป็นผู้เกิดจากธรรมเสมอกันหมด แล้วทรงแสดงความเป็นมาของสังคมมนุษย์ เริ่มแต่เกิดมีสัตว์ขึ้นในโลกแล้วเปลี่ยนแปลงตามลำดับ จนเกิดมีมนุษย์ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นพวก เกิดความจำเป็นต้องมีการปกครอง และมีการประกอบอาชีพการงานต่างๆ กัน วรรณะทั้ง ๔ ก็เกิดจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มิใช่เป็นเรื่องของพรหมสร้างสรรค์ แต่ เกิดจากธรรม [ธรรมดากฎธรรมชาติ Natural Law อันพิจารณารู้เห็นได้ด้วย ธัมมัฏฐิติญาณ โดย อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาทปัจจยาการ หรือ จุตูปปาตญาณ] ทุกวรรณะประพฤติชั่วก็ไปอบายได้ ปฏิบัติธรรมก็บรรลุนิพพานได้ ธรรมเป็นเครื่องตัดสิน และ ธรรมเป็นของประเสริฐสุด ผู้ที่สิ้นอาสวกิเลสแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุดในวรรณะทั้ง ๔ ส่วน ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ [วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน (ข้อ ๓ ในพุทธคุณ ๙) หมายถึง ความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วย วิชชา คือ ความรู้แจ้ง ได้แก่ วิชชา ๓ กับ วิชชา ๘ และ จรณะ (จรณะ ๑๕) คือ ความประพฤติ ได้แก่ สีลสัมปทา ๑ อปัณณกปฏิปทา ๓ สัทธรรม ๗ และ ฌาน ๔ ] เป็น ผู้ประเสริฐสุดในบรรดาเทวะ และมนุษย์ทั้งปวง สิ่งนี้คือ คุณสมบัติแห่งความค่าความเป็นมนุษย์ของพระพุทธศาสนา
๔. อัคคัญญสูตร เรื่อง วาเสฏฐะภารทวาชะ (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 145165 FILE 15)
[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ในบุพพารามกรุงสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล วาเสฏฐสามเณรสละภารทวาชสามเณร หวังความเป็นภิกษุ จึงอยู่ประจำในสำนักของภิกษุ ลำดับนั้นในเวลาเย็นวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นแล้ว ได้เสด็จลงจากปราสาท ทรงจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งที่ร่มเงาปราสาท วาเสฏฐสามเณรได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นลงจากปราสาทแล้ว เสด็จจงกรมอยู่กลางแจ้งที่ร่มเงาปราสาทในเย็นวันหนึ่ง ครั้นเห็นแล้ว จึงเรียกภารทวาชสามเณรมากล่าวว่า:
ภารทวาชะผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้านี้เสด็จออกจากที่เร้นลงจากปราสาท ภารทวาชะจงกรมอยู่ที่กลางแจ้งที่ร่มเงาของปราสาทในเวลาเย็น ภารทวาชะผู้อาวุโส เรามาไปกัน เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจนถึงที่ประทับ เราพึงได้ เพื่อจะฟังธรรมีกถา ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้
ภารทวาชสามเณรก็รับคำของวาเสฏฐสามเณรว่า ตกลงท่านผู้มีอายุ ครั้งนั้นแล วาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณรจึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจนถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้เดินจงกรมตามพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งกำลังเสด็จ จงกรมอยู่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกวาเสฏฐสามเณรมา แล้วตรัสว่า:
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งหลายแล มีชาติเป็นพราหมณ์มีตระกูลเป็นพราหมณ์ ออกบวชจากตระกูลของพราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ พราหมณ์ทั้งหลาย ไม่ด่า ไม่บริภาษเธอทั้งหลายหรือดังนี้
วาเสฏฐะและภารทวาชสามเณรจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมด่า ย่อมบริภาษข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยถ้อยคำตามสมควรแก่ตนอย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนเลย ดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามว่า ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็พวกพราหมณ์ด่าบริภาษเธอด้วยคำด่าอันสมควรแก่ตนอย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนเลยอย่างไร้
สามเณรทั้งสองทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณ์ทั้งหลาย กล่าวอย่างนี้ว่า: (๑) พราหมณ์เท่านั้น เป็นวรรณะประเสริฐที่สุด วรรณะเหล่าอื่นเลวทราม (๒) พราหมณ์เท่านั้น เป็นวรรณะขาว วรรณะอื่นดำ (๓) พวกพราหมณ์ทั้งหลายเท่านั้นบริสุทธิ์
คนที่ไม่ใช่พราหมณ์ หาบริสุทธิ์ไม่ (๔) พวกพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพระพรหม เกิดจากพระพรหม พระพรหมเนรมิตขึ้นมา เป็นทายาทของพระพรหม พวกท่านมาละเสียจากวรรณะที่ประเสริฐที่สุดเข้าไปอยู่ในวรรณะที่เลวทราม คือ พวกสมณะโล้น เป็นพวกคหบดีเป็นพวกดำ เกิดจากเท้าของพระพรหม การที่พวกท่านมาละเสียจากวรรณะประเสริฐสุด ฯลฯ เช่นนี้ ไม่เป็นการดี ไม่เป็นการสมควรเลย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ได้พากันด่าบริภาษข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยถ้อยคำบริภาษอันสมควรแก่ตนอย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนเลย อย่างนี้แล ดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ระลึกถึงเรื่องเก่าของตนไม่ได้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า (๑) พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐที่สุด วรรณะเหล่าอื่นเลวทราม (๒) พราหมณ์เท่านั้นมีวรรณะขาว วรรณะเหล่าอื่นดำ (๓) พวกพราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ หมู่ชนที่ไม่ใช่พราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ (๔) พวกพราหมณ์ เป็นบุตรเกิดแต่อุระ เกิดจากปากของพระพรหม เกิดจากพระพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม ดังนี้
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ตามที่ปรากฏชัดเจนอยู่ว่า นางพราหมณีของพวกพราหมณ์ทั้งหลายมีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง ตลอดอยู่บ้าง ให้ลูกดื่มนมบ้าง ก็พราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้เกิดทางช่องตลอดของนางพราหมณีทั้งนั้น พราหมณ์เท่านั้น เป็นวรรณะประเสริฐที่สุด ฯลฯ เป็นทายาทของพรหม ดังนี้ ก็พราหมณ์เหล่านั้น ย่อมกล่าวตู่พระพรหม และพูดมุสา พวกเขาจะต้องประสพ สิ่งไม่เป็นบุญมากมาย
ว่าด้วย วรรณะ ๔ (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 147 - FILE 15)
[๕๒] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ วรรณะเหล่านี้มี ๔ คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ (๑) มีปกติฆ่าสัตว์ปาณาติบาต (๒) มีปกติถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้อทินนาทาน (๓) มีปกติประพฤติผิดทางกามกาเมสุมิจฉาจาร (๔) มีปกติพูดเท็จมุสาวาท (๕) มีวาจาส่อเสียดปิสุณาวาจา (๖) มีวาจาหยาบคายผรุสวาจา (๗) พูดเพ้อเจ้อสัมผัปปลาปะ (๘) เพ่งเล็งอยากจะได้ของเขาอภิชฌา (๙) พยาบาทปองร้ายเขาผู้อื่นพยาบาท (๑๐) มีความเห็นผิดจากคลองธรรมมิจฉาทิฏฐิ [อกุศลกรรมบถ ๑๐] ดูก่อนวาเสฎฐะและภารทวาชะ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้อันใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล มีโทษนับว่ามีโทษ ไม่ควรเสพ นับว่าไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม ก็นับว่าไม่ควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมที่ดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน ดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่านั้นย่อมปรากฏอย่างชัดเจนในกษัตริย์บางพระองค์ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้พราหมณ์แล... ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะแม้แพศย์แล... ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้ศูทรและบางคนในโลกนี้ (๑) มีปกติฆ่าสัตว์ปาณาติบาต (๒) มีปกติถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้อทินนาทาน (๓) มีปกติประพฤติผิดทางกามกาเมสุมิจฉาจาร (๔) มีปกติพูดเท็จมุสาวาท (๕) มีวาจาส่อเสียดปิสุณาวาจา (๖) มีวาจาหยาบคายผรุสวาจา (๗) พูดเพ้อเจ้อสัมผัปปลาปะ (๘) เพ่งเล็งอยากจะได้ของเขาอภิชฌา (๙) พยาบาทปองร้ายเขาผู้อื่นพยาบาท (๑๐) มีความเห็นผิดจากคลองธรรมมิจฉาทิฏฐิ [อกุศลกรรมบถ ๑๐] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะอย่างนี้แล ธรรมทั้งหลายเหล่าใด เป็นอกุศลนับว่าเป็นอกุศล ฯลฯ เป็นธรรมดำมีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านั้นก็ย่อมปรากฏอย่างชัดเจนในศูทรแม้บางคน
ว่าด้วย ธรรมอันประเสริฐในโลกทั้งสอง (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 148149 FILE 15)
[๕๓] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์แม้บางคนในโลกนี้ เป็นผู้ (๑) เว้นขาดจากจากปลงชีวิตปาณาติปาตา เวรมณี (๒) เว้นขาดจากถือเอาของที่เขามิได้ให้โดยอาการขโมยอทินฺนาทานา เวรมณี (๓) เว้นขาดจากประพฤติผิดในกามกาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (๔) เว้นขาดจากพูดเท็จมุสาวาทา เวรมณี (๕) เว้นขาดจากพูดส่อเสียดปิสุณาย วาจาย เวรมณี (๖) เว้นขาดจากพูดคำหยาบผรุสาย วาจาย เวรมณี (๗) เว้นขาดจากพูดเพ้อเจ้อสมฺผปฺปลาปา เวรมณี (๘) ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขาอนภิชฺฌา (๙) ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่นอพฺยาปาท (๑๐) ความเห็นชอบถูกต้องตามคลองธรรมสมฺมาทิฏฺฐิ [กุศลกรรมบถ ๑๐] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ อย่างนี้แล ธรรมเหล่านี้เหล่าใด เป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ไม่มีโทษนับว่าไม่มีโทษ ควรเสพนับว่าควรเสพ ควรเป็นอริยะนับว่าควรเป็นอริยะ เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้นย่อมปรากฏอย่างชัดเจนในกษัตริย์บางคนในโลกนี้ ดูก่อนเวเสฏฐะและภารทวาชะ แม้พราหมณ์... ดูก่อนวาเสฏฐะและการทวาชะ แม้แพศย์แล ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้ศูทรแลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ (๑) เว้นขาดจากจากปลงชีวิตปาณาติปาตา เวรมณี (๒) เว้นขาดจากถือเอาของที่เขามิได้ให้โดยอาการขโมยอทินฺนาทานา เวรมณี (๓) เว้นขาดจากประพฤติผิดในกามกาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (๔) เว้นขาดจากพูดเท็จมุสาวาทา เวรมณี (๕) เว้นขาดจากพูดส่อเสียดปิสุณาย วาจาย เวรมณี (๖) เว้นขาดจากพูดคำหยาบผรุสาย วาจาย เวรมณี (๗) เว้นขาดจากพูดเพ้อเจ้อสมฺผปฺปลาปา เวรมณี (๘) ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขาอนภิชฺฌา (๙) ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่นอพฺยาปาท (๑๐) ความเห็นชอบถูกต้องตามคลองธรรมสมฺมาทิฏฺฐิ [กุศลกรรมบถ ๑๐]
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ อย่างนี้แล ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ เหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ไม่มีโทษ นับไม่มีโทษควรเสพ นับว่าควรเสพควรเป็นอริยะ นับว่าควรเป็นอริยะ เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมปรากฏอย่างชัดเจน แม้ในศูทรบางคน
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อวรรณะทั้ง ๔ เหล่านี้แลรวม กันเป็น ๒ ฝ่าย คือ พวกที่ตั้งอยู่ในธรรมฝ่ายดำ วิญญูชนติเตียนพวกหนึ่ง และพวกตั้งอยู่ในธรรมฝ่ายขาว วิญญูชนไม่ติเตียนพวกหนึ่ง ในเรื่องนี้เหตุไร พวกพราหมณ์ จึงพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐที่สุด วรรณะเหล่าอื่นล้วนเลวทราม พราหมณ์เท่านั้นมีวรรณะขาว วรรณะเหล่าอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้น ย่อมบริสุทธิ์ หมู่คนที่ไม่ใช่พราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พราหมณ์ทั้งหลายเป็นบุตรเกิดแต่อกเกิดจากปากของพรหม เกิดจากพระพรหมโดยตรง พรหมเนรมิตขึ้นเป็นทายาทของพรหม ดังนี้ วิญญูชนทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำของพราหมณ์เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะเพราะว่า บรรดาวรรณะทั้ง ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุผู้ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์มีกิจที่ควรทำทำเสร็จแล้วปลงภาระลงได้แล้ว ตามบรรลุประโยชน์ของตน มีสังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นได้เพราะรู้โดยชอบ และแล้ว ผู้นั้นย่อมปรากฏว่าเป็นยอดกว่าคนทั้งหลายโดยธรรมแท้ หาใช่โดยอธรรมไม่ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุด ภารทวาชะ โดยบรรยายมานี้ พวกเธอพึงเข้าใจข้อนั้นอย่างนี้ วาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยบรรยายมานี้ พวกเธอพึงเข้าใจข้อนั้นอย่างนี้ว่า ธรรมเท่านั้น ประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในทิฏฐธรรม และในอภิสัมปรายภพ [ภพหน้าอันประเสริฐโลกุตตรภูมิ]
คำอธิบายด้วยเหตุผลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ:
ในบทว่า (๑) พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐที่สุด (๒) พราหมณ์เท่านั้นมีวรรณะขาว (๓) พราหมณ์เท่านั้น ย่อมบริสุทธิ์ และ (๔) พราหมณ์ทั้งหลายเป็นบุตรเกิดแต่อกเกิดจากปากของพรหม เกิดจากพระพรหมโดยตรง พรหมเนรมิตขึ้นเป็นทายาทของพรหม ซึ่งเป็น มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นผิดที่คลาดเคลื่อนจากธรรมดาหรือกฎธรรมชาติ ตามที่เป็นจริง เป็นความเชื่อไม่ประกอบด้วยเหตุผล เป็นพวกลักทธินอกพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า อิสสรนิมมานเหตุวาทลัทธิพระเป็นเจ้า แต่พระตถาคตทรงแก้คำปรัปวาท [ปะ-รับ-ปะ-วาด] นั้น ด้วยวาทะโดยนัยอรรถะว่า:
[สัมมาทิฏฐิ] ผู้ใดเป็นภิกษุผู้ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์มีกิจที่ควรทำทำเสร็จแล้วปลงภาระลงได้แล้ว ตามบรรลุประโยชน์ของตน มีสังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นได้เพราะรู้โดยชอบ
เพราะฉะนั้น สมณพราหมณ์ใดผู้เลื่อมใสศรัทธาในอริยมรรค ย่อมมีปรีชาสามารถบรรลุได้ถึง: (๑) รูปฌาน ๔ [ปฐมฌานทุติยฌานตติยฌานจตุตฌาน] หมายถึงได้บรรลุถึงภูมิจิตที่เป็นพรหมใน รูปพรหม ๔ [ชั้นกายหยาบ] และ ถ้าสามารถบรรลุถึง: (๒) อรูปฌาน ๔ [อากาสานัญจายตนะชั้นที่เข้าถึงภาวะมีอากาศไม่มีที่สุด ๑ วิญญาณัญจายตนะชั้นที่เข้าถึงภาวะมีวิญญาณไม่มีที่สุด ๑ อากิญจัญญายตนะชั้นที่เข้าถึงภาวะไม่มีอะไร ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนะชั้นที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ๑ รวมทั้ง การเข้านิโรธสมาบัติสัญญาเวทยิตนิโรธ คือ ฌานสมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา ที่เกิดจากเจริญฌานสมาบัติจาก รูปฌาน ๔อรูปฌาน ๔นิโรธสมาบัติ = สมาบัติ ๘ หรือ อนุปุพพนิโรธ ๙อนุปุพพวิหาร ๙] ก็หมายถึงได้บรรลุถึงภูมิจิตที่เป็นพรหมใน อรูปพรหม ๔ [ชั้นกายละเอียด]
นอกจากนี้ ถ้าดับ ราคสังโยชน์ กิเลสราคะอย่างละเอียดได้ ด้วยประพฤติพรหมจรรย์ [วิสุทธิมรรค] ใน อรหัตตมรรคญาณ และ อรหัตตผลญาณ [สัมมาญาณ] จนถึง อรหัตตผลวิมุตติสุข [สัมมาวิมุตติ = อเสขปฏิปทา] อันเป็นธรรมประเสริฐที่สุด คือ พระอรหันตขีณาสพ ผู้หลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวงสมบูรณ์แล้ว [ความตรัสรู้ = สัมโพธะปัจจเวกขณญาณอาสวักขยญาณ] ผู้เป็นอริยสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ไพบูลย์ด้วยโลกุตตรสัมมาทิฏฐิแห่งอริยบุคคลขั้นสูงสุดด้วย อมตธาตุแห่งพระนิพพาน นั่นเอง
ว่าด้วย ธรรมประเสริฐที่สุด (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 149150 FILE 15)
[๕๔] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ พระราชาทรงพระนามว่า ปเสนทิโกศล ก็ทรงทราบว่า พระสมณโคดมผู้ยอดเยี่ยม เสด็จออกบวชจากศากยราชตระกุล ดังนี้ ดูก่อนวาเสฎฐะและภารทวาชะ พวกศากยราชทั้งหลายแล ย่อมเป็นผู้ติดตาม พระเจ้าปเสนทิโกศล ทุกขณะ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกศากยราชทั้งหลายแล ย่อมกระทำการนอบน้อมการไหว้ การต้อนรับ อัญชลีกรรม [การกราบไหว้] สามีจิกรรม [ปฏิบัติตามสมควร] ในพระเจ้าปเสนทิโกศล ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะอย่างนี้แล ศากยะทั้งหลายย่อมพากันกระทำการนอบน้อม การไหว้ การต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ในพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลยังทรงกระทำการต้อนรับ การไหว้ การต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมนั้นในพระตถาคต ด้วยพระดำริว่า พระสมณโคดมมีชาติดีกว่า เรามีชาติไม่ดี พระสมณโคดมทรงมีกำลัง เราเองมีกำลังทราม พระสมณโคดมน่าเลื่อมใส เราเองมีผิวพรรณเศร้าหมอง พระสมณโคดมมีศักดิ์ใหญ่ เราเองมีศักดิ์น้อย ดังนี้ โดยที่แท้ พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสักการะพระธรรม เคารพพระธรรม นับถือพระธรรม บูชาพระธรรม นอบน้อมพระธรรม พระเจ้าเสนทิโกศล ทรงทำการนอบน้อม อภิวาท ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ในพระตถาคตอย่างนี้แล ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยบรรยายนี้เธอพึงทราบอย่างนี้ว่า พระธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในทิฏฐิธรรมและอภิสัมปรายภพ
ว่าด้วย บุตรเกิดแต่พระอุระ พระโอษฐ์พระผู้มีพระภาค (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 150153 FILE 15)
[๕๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนว่าเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งหลายแล มีชาติต่างกัน มีชื่อต่างกัน มีโคตรต่างกัน ออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ถูกเขาถามว่า ท่านเป็นพวกไหน ดังนี้ พึงตอบเขาว่า พวกเราเป็น พวกพระสมณะศากยบุตร ดังนี้ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแลมีศรัทธาในพระตถาคตตั้งมั่น เกิดแต่มูลราก ตั้งมั่นอย่างมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลกให้เคลื่อนย้ายไม่ได้ ควรจะเรียกผู้นั้นว่า เราเป็นบุตรเถิด แต่พระอุระเกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค เกิดจาก พระธรรม พระธรรมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพระธรรม ดังนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ธรรมกาย ก็ดี พรหมกาย ก็ดี ธรรมภูต ก็ดี พรหมภูต ก็ดี เป็น ชื่อของพระตถาคต
[ในคำว่า ธรรมกาย หมายถึง ผู้มีธรรมเป็นกาย เป็นพระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า หรือเรียกว่า พรหมกายพรหมภูตธรรมภูต หมายความว่า พระองค์ทรงคิดพุทธพจน์คำสอนด้วยพระหทัยแล้วทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจา เป็นเหตุให้พระองค์ก็ คือ พระธรรม เพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือที่ประชุมอยู่แห่งพระธรรมอันปรากฏเปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก]
[๕๖] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีบางสมัยบางคราว โดยอันล่วงไปแห่งกาลอันยาวนาน โลกนี้ก็จะพินาศไป เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากหมู่สัตว์ย่อมวนเวียนไปเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม ในชั้นอาภัสสรพรหมนั้น สัตว์เหล่านั้นมีความสำเร็จได้โดยทางใจ มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีเอง ท่องเที่ยวไปได้ในอากาศ ดำรงอยู่ในวิมานอันแสนงามย่อมดำรงอยู่ได้สิ้นกาลยืดยาวนาน
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยอีกบางครั้ง โดยอันล่วงไปแห่งกาลยืดยาวนาน โลกนี้ย่อมเจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น โดยมากเหล่าสัตว์ก็จะพากันเคลื่อนจากพวกอาภัสสรพรหม มาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก และสัตว์เหล่านั้นมีความสำเร็จได้โดยทางใจมีปีติเป็นภักษา มีรัศมีเอง ท่องเที่ยวไปในอากาศได้ ดำรงอยู่ในวิมานอันงดงาม ย่อมดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็โดยสมัยนั้นแลจักรวาลนี้ ก็จะกลายเป็นน้ำไปหมด มีความมืด มองไม่เห็น ทั้งดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรก็ยังไม่ปรากฏ กลางวันกลางคืนก็ไม่ปรากฏ เดือนหนึ่งกึ่ง เดือนหนึ่งก็ยังไม่ปรากฏ ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฏ หญิงชายก็ยังไม่ปรากฏ หมู่สัตว์ทั้งหลาย ก็ถึงการนับว่า สัตว์ [ผู้อันกิเลสมากปิดบังไว้แล้ว] ดังนี้ อย่างเดียวกัน
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ในกาลบางคราว โดยอันล่วงได้แห่งกาลยืดยาวนาน ง้วนดิน ก็เกิดลอยอยู่บนน้ำ ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น เหมือนน้ำนมสด ที่บุคคลเคี่ยวแล้วทำให้เย็นสนิทแล้วปรากฏเป็นฝาอยู่ข้างบน ฉะนั้น ง้วนดินนั้นได้สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใสอย่างดี และเนยขึ้นอย่างดี ฉะนั้น และได้มีรสอันน่าชอบใจ เหมือนน้ำผึ้ง อันปราศจากโทษฉะนั้น
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะที่นั่นแล มีสัตว์บางตนมีชาติโลเลกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ สิ่งที่ลอยอยู่นี้ จะเป็นอะไร ดังนี้ แล้วเอานิ้วมือช้อนเอาง้วนดินขึ้นมาลิ้มดู เมื่อเขากำลังเอานิ้วมือช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มอยู่ ง้วนดินที่ได้ซ่านไปทั่ว ความอยากจึงเกิดขึ้นแก่เขา
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์เหล่าอื่นแลก็ถึง (๑) ทิฏฐานุคติ ของสัตว์นั้นก็จะพากันเอานิ้วมือซ้อนง้วนดินนั้นขึ้นมาลิ้มดู เมื่อสัตว์เหล่านั้นกำลังเอานิ้วมือช้อนเอาง้วนดินนั้นขึ้นมาชิม ง้วนดินก็แผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์ และ (๒) ตัณหา ก็เกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ที่นั้นแล สัตว์เหล่านั้นจะพากันพยายามเอามือปั้นง้วนดินปั้นทำให้เป็นคำเพื่อที่จะบริโภค
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อใดแลที่สัตว์เหล่านั้นพยายามที่จะเอามือปั้นง้วนดินทำเป็นคำเพื่อที่จะบริโภค เมื่อนั้นรัศมีเฉพาะตัวของสัตว์เหล่านั้นก็จะหายไป เมื่อรัศมีเฉพาะตัวหายไป พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ปรากฏขึ้นมา เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏขึ้นแล้ว หมู่ดาวนักษัตรก็จะปรากฏ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรปรากฏแล้ว กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืนกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่ง กึ่งเดือนหนึ่งก็ปรากฏขึ้น เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนหนึ่งปรากฏขึ้นแล้ว ฤดูและปีก็ปรากฏขึ้น
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยเหตุเพียงประมาณเท่านี้แล โลกนี้ก็ย่อมเจริญขึ้นมาอีก
[๕๗] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์เหล่านั้นพากันบริโภคง้วนดิน มีง้วนดินเป็นภักษาเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์เหล่านั้นบริโภคง้วนดิน มีง้วนดินนั้นเป็นภักษาเป็นอาหารได้ตั้งอยู่ตลอดกาลยืดยาวนานโดยประการใดแล ความแข็งแกร่งก็เกิดมีในกายของสัตว์เหล่านั้น ความมีผิวพรรณดีก็ได้ปรากฏชัดขึ้นมา สัตว์บางพวกก็มีผิวพรรณดี บางพวกมีผิวพรรณเลว บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณดี สัตว์เหล่านั้นก็ดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณเลวว่า เรามีผิวพรรณดีกว่าสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นมีผิวพรรณเลวกว่าเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดมี (๓) มานะ ถือตัว เพราะการดูหมิ่นเรื่องผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินก็ได้อันตรธานหายไป เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมกัน ครั้นประชุมกันแล้วต่างก็พากันทอดถอนใจว่า รสดี รสดี ดังนี้ แม้ในทุกวันนี้พวกมนุษย์ได้ของมีรสดีบางอย่างเท่านั้น ก็พากันกล่าวอย่างนี้ว่า รสดี รสดี ดังนี้ หมู่พราหมณ์ทั้งหลายพากันอนุสรณ์ถึงอักขระที่รู้กันว่า เป็นของเลิศเป็นของเก่า นั้น แต่หาได้รู้ถึงความหมายของอักขระนั้นเลย
[เพิ่มเติม: ในบทนี้ จะเห็นว่า ผู้มาจากเทวดากลายเป็นคน ที่เรียกว่า สัตว์ หมายถึง ผู้อันกิเลสมากปิดบังไว้แล้ว นั้น ย่อมเนื่องในกิเลสเครื่องเนิ่นช้า [ปปัญจธรรม] คือ กิเลสที่เป็นตัวการทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร ทำให้เขวห่างออกไปจากความเป็นจริงที่ง่ายๆ เปิดเผย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริงหรือทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกทางตรงไปตรงมา ได้แก่ ตัณหาทิฏฐิมานะ ซึ่งเรียกว่า ปปัญจะ ๓ ดังที่พระตถาคตทรงแสดงธรรมในข้างต้นนั้น]
ว่าด้วย กะบิดินเป็นต้นเกิดขึ้น (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 153 - 154 FILE 15)
[๕๘] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล เมื่อง้วนดินของสัตว์เหล่านั้นหายไป กะบิดินก็ปรากฏขึ้น กะบิดินนั้นปรากฏเหมือนเห็ด กะบิดิน นั้น ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส ได้มีสีเหมือนเนยใสที่ปรุงอย่างดีหรือเนยขึ้นอย่างดี และได้มีรสอย่างน่าชอบใจเหมือนน้ำผึ้งซึ่งปราศจากโทษ ฉะนั้น ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์เหล่านั้นก็ได้พยายามเพื่อจะบริโภคกะบิดิน สัตว์เหล่านั้น บริโภคกะบิดินนั้นแล้ว มีกะบิดินนั้นเป็นภักษาเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์เหล่านั้นเมื่อบริโภคกะบิดิน มีกะบิดินนั้นเป็นภักษาเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนานโดยประการใดแล ความเป็นผู้กล้าแข็ง โดยประมาณโดยยิ่งก็ได้ปรากฏขึ้นในกายของสัตว์เหล่านั้น และความเป็นผู้มีผิวพรรณงดงามก็ได้ปรากฏขึ้นในกายของประการนั้น สัตว์บางพวกมีผิวพรรณดี บางพวกมีผิวพรรณเลว บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณดี สัตว์เหล่านั้นก็พากันดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณทรามว่า พวกเรามีผิวพรรณงามกว่าสัตว์เหล่านี้ สัตว์เหล่านี้มีผิวพรรณเลวกว่าพวกเราดังนี้ เมื่อสัตว์เหล่านั้นต่างพากันมี มานะเกิดขึ้นเพราะการดูหมิ่นผิวพรรณเป็นปัจจัย กะบิดินก็อันตรธานหายไป เมื่อกะบิดินหายไปแล้ว เครือดินได้ปรากฏขึ้นมา เครือดิน นั้น ได้ปรากฏคล้ายผลมะพร้าวฉะนั้น เครือดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รส ได้มีสีเหมือนเนยใสที่ปรุงอย่างดีหรือเหมือนเนยขึ้นอย่างดี ฉะนั้น และได้มีรสน้ำชอบใจเหมือนน้ำผึ้ง ซึ่งปราศจากโทษฉะนั้น ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นได้พากันพยายามเพื่อที่จะบริโภคเครือดิน สัตว์เหล่านั้นบริโภคเครือดิน ได้มีเครือดินนั้นเป็นภักษาเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์เหล่านั้นบริโภคเครือดิน มีเครือดินเป็นภักษาเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนานโดยประการใดแล ความเป็นผู้กล้าเข็งโดยประมาณโดยยิ่งก็ได้ปรากฏในการแก่สัตว์เหล่านั้น ละความเป็นผู้มีผิวพรรณดีได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน สัตว์บางพวกมีผิวพรรณดี บ้างพวกมีผิวพรรณเลว บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใด มีผิวพรรณดี สัตว์เหล่านั้นย่อมดูหมิ่นหมู่สัตว์ที่มีผิวพรรณเลวว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าสัตว์เหล่านี้ สัตว์เหล่านี้มีผิวพรรณเลวกว่าเราทั้งหลาย ดังนี้ เมื่อสัตว์เหล่านั้นต่างก็เกิดมี มานะ ถือตัวเพราะมีมานะว่ามีผิวพรรณดีนั้นเป็นปัจจัย เครือดินได้อันตรธานหายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว เหล่าสัตว์ประชุมกัน ครั้นประชุมกันเล้วก็ทอดถอนใจว่า เครือดินได้มีแก่เราหนอ เครือดินของเราได้สูญหายไปหมดแล้วหนอ ดังนี้ ในสมัยนี้มนุษย์ทั้งหลายพอถูก ทุกขธรรม บางอย่างถูกต้องเข้าก็พากันกล่าวว่า ของนี้ได้มีแล้วสู่เรา ของนี้ของเราได้สูญหายไปหมดแล้ว ดังนี้ พวกพราหมณ์ ย่อมอนุสรณ์ถึงอักขระอันควรรู้ซึ่ง เป็นของดีเป็นของเก่า นั้นแล แต่ว่าพวกพราหมณ์เหล่านั้น หารู้ทั่วถึงใจความของอักขระนั้นไม่
ว่าด้วย ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 154 - 160 FILE 15)
[๕๙] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นนั้นแล เมื่อเครือดินของสัตว์เหล่านั้นสูญหายไปแล้ว ข้าวสาลีซึ่งบังเกิดในที่ที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำไม่มีแกลบ บริสุทธิ์มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสารก็ปรากฏขึ้นมา สัตว์ทั้งหลายก็พากันขนเอาข้าวสาลีชนิดใดมา เพื่อเป็นอาหารมื้อเย็นในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลีชนิดนั้นก็สุกงอกขึ้นมาแทน และในตอนเช้าสัตว์ทั้งหลายได้พากันขนเอาข้าวสาลีชนิดใดมา เพื่อรู้โภคในเวลาเช้า ในตอนเย็น ข้าวสาลีชนิดนั้นก็สุกงอกขึ้นมาแทน ความบกพร่องไปหาได้ปรากฏไม่
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล เหล่าสัตว์ทั้งหลายพากัน บริโภคข้าวสาลีซึ่งเกิดสุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถมีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษาเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์เหล่านั้นบริโภคข้าวสาลี ซึ่งเกิดสุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ มีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษาเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน โดยประการใดแล ความกล้าแข็งโดยประมาณโดยยิ่งได้เกิดมีในกายของสัตว์เหล่านั้น และความเป็นผู้มีผิวพรรณงดงามก็ได้ปรากฏอย่างชัดเจนโดยประการนั้น และเพศหญิงก็ปรากฏแก่หญิง เพศชายก็ปรากฏแก่ชาย ก็ได้ยินว่า หญิงย่อมเพ่งดูชายอยู่ตลอดเวลา และชายก็เพ่งดูหญิงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เมื่อชนเหล่านั้นต่างเพ่งดูกันและกันอยู่ตลอดเวลา ความกำหนัดก็เกิดขึ้น ความเร่าร้อนก็ปรากฏขึ้นในกาย ชนเหล่านั้น เพราะความเร่าร้อนเป็นปัจจัย จึงได้เสพ เมถุนธรรม ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็โดยสมัยนั้น สัตว์เหล่าใดแลเห็นสัตว์เหล่าอื่นกำลังเสพเมถุนกันก็โปรยฝุ่นลงบ้าง โปรยเถ้าลงบ้าง โปรยโคมัย [สิ่งที่สำเร็จโดยโค สิ่งที่โคทำ หรือ สิ่งที่เกิดจากโค เช่น ขี้วัว เยี่ยววัว] ลงบ้าง ด้วยกล่าวว่า คนถ่อยเจ้าจงฉิบหาย คนถ่อยเจ้าฉิบหาย ดังนี้ แล้วกล่าวว่า ก็สัตว์จักกระทำกรรมอย่างนี้แก่สัตว์อย่างไร ดังนี้ แม้ในขณะนี้ ในชนบทบางแห่ง เมื่อนำสัตว์ถูกฆ่าไปสู่ตะแลงแกง มนุษย์เหล่าอื่นก็จะซัดฝุ่นบ้าง ซัดเถ้าบ้าง ซัดโคมัยบ้างใส่คนชื่อนั้น พวกพราหมณ์ย่อมระลึกถึงอักขระที่รู้กันว่า ดีซึ่งเป็นของเก่า นั้น แต่ว่าพราหมณ์เหล่านั้นหารู้เนื้อความของอักขระนั้นอย่างชัดเจนไม่
[๖๐] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะก็โดยสมัยนั้น การซัดฝุ่น เป็นต้น นั้นแล รู้กันว่าไม่เป็นธรรม ในบัดนี้รู้กันว่าเป็นธรรม ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยสมัยนั้น สัตว์เหล่าใดแลย่อมเสพเมถุนกันสัตว์เหล่านั้นย่อมไม่ได้เพื่อจะเข้าไปยังหมู่บ้าน หรือนิคมตลอด ๓ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ในกาลใดแล สัตว์ทั้งหลายถึงความชั่วช้าใน อสัทธรรม นั่นตลอดเวลา ในกาลนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงได้พากันพยายามสร้างเรือนอยู่ เพื่อประโยชน์แก่การปกปิดอสัทธรรมนั้น
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์บางตนซึ่งมีชาติขี้เกียจได้มีความคิดนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เรานี้ต้องนำเอาข้าวสาลีมาเพื่อเป็นอาหารเย็น ในเวลาเย็นและเพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า ย่อมเดือดร้อนจริง อย่ากระนั้นเลย เราควรนำข้าวสาลีมาครั้งเดียวให้พอเพื่อบริโภคทั้งในเวลาเช้าและเวลาเย็นดังนี้ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์นั้นก็นำเอาขาวสาลีมาเพียงคราวเดียว เพื่อเป็นอาหารทั้งในเวลาเย็นทั้งในเวลาเช้า
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์อื่นจึงเข้าไปหาสัตว์นั้นจนถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วจึงได้กล่าวกะสัตว์นั้นว่า มาเถิด สัตว์ผู้เจริญ เราจะไปนำข้าวสาลีมา ดังนี้ สัตว์นั้นจึงกล่าวว่า อย่าเลยสัตว์ผู้เจริญ เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวเพื่อบริโภคทั้งในเวลาเย็นทั้งในเวลาเช้า ดังนี้
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์นั้นก็ถึง ทิฏฐานุคติ ของสัตว์นั้นแล้ว นำข้าวสาลีมาครั้งเดียว เพื่ออาหารทั้งสองเวลาด้วยกล่าวว่า ได้ยินว่า อย่างนี้ก็ดีนะ ผู้เจริญ ดังนี้ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์อื่นจึงเข้าไปหาสัตว์นั้นจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงได้กล่าวคำนี้กะสัตว์นั้นว่า มาเถิดสัตว์ผู้เจริญ เราจะไปเก็บข้าวสาลีกัน ดังนี้ สัตว์นั้นจึงตอบว่า อย่าเลยสัตว์ผู้เจริญ เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวเพื่อเป็นอาหารทั้งเช้าและเย็น ดังนี้
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์นั้นถึง ทิฏฐานุคติ ของสัตว์นั้นจึงนำข้าวสาลีมาเพื่อเป็นอาหารถึง ๔ วัน ด้วย กล่าวว่า ได้ยินว่า อย่างนี้ก็ดีนะ ผู้เจริญ ดังนี้ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์อื่นเข้าไปหาสัตว์นั้นจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะสัตว์นั้นว่า มาเถิดสัตว์ผู้เจริญ พวกเราไปเก็บข้าวสาลีกัน ดังนี้ สัตว์นั้นจึงกล่าวว่า อย่าเลยผู้เจริญ เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวเพื่อเป็นอาหารได้ ๔ วัน ดังนี้ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์นั้นถึง ทิฏฐานุคติ ของสัตว์นั้นได้ไปขนเอาข้าวสาลีมาครั้งเดียวเท่านั้นเพื่อเป็นอาหาร ๔ วัน ด้วยกล่าวว่า ได้ยินว่า อย่างนี้ก็ดีนะผู้เจริญ ดังนี้
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อใดแล สัตว์นั้นก็ได้พยายามเพื่อจะบริโภคข้าวสาลีที่สั่งสมไว้ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล ข้าวสาลีจึงมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบห่อเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นอีก การขาดตอนก็ปรากฏขึ้น ข้าวสาลีจึงได้มีเป็นกลุ่มขึ้นมา
[๖๑] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมพร้อมกัน ครั้นแล้วก็พากันทอดถอนใจว่า ผู้เจริญ ธรรมอันเลวทรามได้ปรากฏในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยว่า ในกาลก่อน พวกเรามีความสำเร็จทางใจ มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีเอง ท่องเที่ยวไปในอากาศได้ ดำรงอยู่ ในวิมานอันงดงาม ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน ในกาลบางคราวโดยล่วงไปแห่งกาลยืดยาวนาน ง้วนดินเกิดในน้ำแก่พวกเรา ง้วนดินนั้นได้สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รส พวกเรานั้น ได้พยายามเอามือปั้นง้วนดินเป็นคำๆ เพื่อที่จะบริโภค เมื่อพวกเราพากันพยายามเอามือปั้นง้วนดินทำเป็นคำๆ เพื่อที่จะบริโภคอยู่ รัศมีเฉพาะตัวก็หายไป เมื่อรัศมีเฉพาะตัวหายไป พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์ปรากฏแล้ว หมู่ดาวนักษัตรทั้งหลายก็ได้ปรากฏ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรปรากฏแล้ว กลางคืนกลางวันก็ได้ปรากฏ เมื่อกลางคืนกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่งกึ่งเดือนหนึ่งก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่งกึ่งหนึ่งเดือนปรากฏอยู่ฤดูและปีก็ปรากฏ พวกเราเหล่านั้นบริโภคง้วนดิน มีง้วนดินนั้นเป็นภักษาเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน เพราะ อกุศลธรรม อันลามก ง้วนดินของพวกเรานั้นจึงได้หายไป เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว กะบิดินก็ปรากฏ กะบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเรานั้นบริโภคกะบิดินนั้นแล้วกันพยายามเพื่อจะบริโภคกะบิดินนั้น พวกเรานั้นบริโภคกะบิดินนั้นแล้ว มีกะบิดินนั้นเป็นภักษาเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน เพราะความปรากฏแห่ง อกุศลธรรม อันลามกของพวกเรานั้น กะบิดินจึงได้หายไป เมื่อกะบิดินหายไปแล้ว เครือดินก็ปรากฏขึ้นมา เครือดินนั้นก็สมบูรณ์ด้วย สี กลิ่น รส พวกเรานั้นได้พากันพยายามเพื่อที่จะบริโภคเครือดินนั้น พวกเรานั้นบริโภคเครือดินนั้นแล้ว ก็มีเครือดินนั้นเป็นภักษาเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน เพราะความปรากฏแห่ง อกุศลธรรม อันลามกของพวกเรานั้น เครือดินจึงได้หายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว ข้าวสาลีอันเกิดสุกในที่ที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสารก็ได้ปรากฏขึ้น พวกเราไปนำเอาข้าวสาลีชนิดใดมา เพื่อเป็นอาหารเย็นในเวลาเย็น ในตอนเช้าข้าวสาลีนั้นก็สุกงอกขึ้นอีก พวกเราไปนำเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า ในตอนเย็นข้าวสาลีนั้นก็สุกงอกขึ้นเอง ความขาดหายได้ปรากฏไม่ พวกเรานั้น เมื่อบริโภคข้าวสาลีซึ่งเกิดในที่ที่ไม่ได้ไถ ก็มีข้าวสาลีนั้น เป็นภักษาเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่ตลอดกาลยืดยาวนาน เพราะความปรากฏแห่ง อกุศลธรรม อันลามกของพวกเรานั้นแล ข้าวสาลีจึงมีรำหุ้มเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ข้าวสาลีที่เราเกี่ยวแล้วหาได้งอกขึ้นอีกไม่ แม้ความขาดตอนก็ได้ปรากฏ ข้าวสาลีเป็นกลุ่มจึงเกิดขึ้น ไฉนหนอ เราควรแบ่งข้าวสาลีกัน และพึงกั้นเขตคันกัน ดังนี้ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ทั้งหลายจึงพากันแบ่งข้าวสาลีและกั้นเขตคันกั้นขึ้น
[๖๒] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์บางตนมีความโลเล รักษาส่วนของตนไว้ ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้บริโภค สัตว์เหล่าอื่นได้จับสัตว์นั้นได้ ครั้นจับได้แล้วจึงกล่าวว่า สัตว์ผู้เจริญ ทานทำกรรมชั่วที่รักษาส่วนของตนไว้ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้บริโภค สัตว์ผู้เจริญ ท่านอย่าได้ทำกรรมชั่วช้าอย่างนี้อีก ดังนี้ สัตว์นั้นก็รับคำของสัตว์เหล่านั้นว่า เราจะไม่ทำอย่างนี้อีกผู้เจริญ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้ในครั้งที่ ๒ สัตว์นั้น ฯลฯ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้ในครั้งที่สามสัตว์นั้นก็รับอย่างนั้น และสัตว์นั้นก็ยังรักษาส่วนของตน แล้วถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้บริโภค สัตว์ทั้งหลายได้พากันจับสัตว์นั้นแล้ว ครั้นจับแล้วกล่าวคำนี้ว่า สัตว์ผู้เจริญ ท่านทำกรรมชั่วช้าที่รักษาส่วนของตนแล้วถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้กลืนกิน สัตว์ผู้เจริญ ท่านอย่าได้ทำอย่างนี้อีก ดังนี้ สัตว์เหล่าอื่นเอามือทุบ เอาก้อนดินขว้าง เอาท่อนไม้ตี ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ในเพราะเรื่องนั้นเป็นสำคัญแล อทินนาทาน จึงปรากฏ การครหาจึงปรากฏ มุสาวาท ปรากฏ การจับท่อนไม้จึงปรากฏ ครั้งนั้นแล สัตว์ประเสริฐทั้งหลายจึงได้ประชุมพร้อมกันครั้นแล้วก็ทอดถอนใจว่า ผู้เจริญ ธรรมอันลามกเลวทรามปรากฏในหมู่สัตว์ได้ ก็อทินนาทานจักปรากฏ การครหาจักปรากฏ มุสาวาทจักปรากฏ การจับท่อนไม้ก็จักปรากฏ อย่ากระนั้นเลย เราควรนับถือสัตว์ผู้หนึ่งซึ่งจะว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้ ส่วนพวกเราจักให้ส่วนแห่งข้าวสาลีแก่ผู้นั้น ดังนี้
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์เหล่านั้นจึงเข้าไปหาสัตว์ที่มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า น่าเลื่อมใสกว่า มีศักดิ์ใหญ่กว่า แล้วได้กล่าวคำนั้นว่า มาเถิดสัตว์ผู้เจริญ ท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้ ส่วนพวกเราจักให้ส่วนแบ่งข้าวสาลีแก่ท่าน ดังนี้ สัตว์นั้นได้รับคำของสัตว์เหล่านั้นว่า อย่างนั้นผู้เจริญดังนี้ แล้วได้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้ ส่วนสัตว์เหล่านั้น ก็ได้ให้ส่วนแบ่งข้าวสาลีแก่สัตว์นั้น
ว่าด้วย ต้นเหตุเกิดอักขระว่า มหาสมบัติ กษัตริย์ ราชา (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 160 - 162 FILE 15)
[๖๓] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะชนผู้เป็นหัวหน้าอันมหาชนสมมติแล้ว (๑) อักขระว่า มหาสมบัติ จึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะผู้เป็นหัวหน้าเป็นใหญ่แห่งเขต ฉะนั้น (๒) อักขระว่า กษัตริย์ กษัตริย์ จึงอุบัติขึ้นเป็นคำที่ ๒ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุที่ผู้เป็นใหญ่ย่อมยังชนเหล่าอื่นให้ยินดีโดยชอบธรรม ฉะนั้น (๓) อักขระว่า ราชา ราชา ดังนี้ จึงบังเกิดขึ้นเป็นคำที่ ๓ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุดังกล่าวมานี้แล การับเกิดขึ้นของหมู่กษัตริย์จึงเกิดมีขึ้นมาด้วยอักขระที่เข้าใจกันว่า เลิศเป็นของเก่า เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะเหมือนกัน และไม่เหมือนกันกับสัตว์อื่นนั้นก็ด้วยธรรม หาใช่ด้วย อธรรม ไม่ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในทิฏฐธรรมและอภิสัมปรายภพ
[๖๔] ครั้งนั้นแล สัตว์บางจำพวกเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ผู้เจริญ (๑) การถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ จักปรากฏ (๒) การครหา จักปรากฏ (๓) มุสาวาท จักปรากฏ (๔) การถือเอาท่อนไม้ จักปรากฏ (๕) การขับไล่ จักปรากฏในเพราะ บาปธรรม ใด บาปธรรมเหล่านั้น ได้ปรากฏในหมู่สัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรลอย อกุศลธรรม อันลามกทิ้งเสียเถิด ดังนี้ [วิจารณ์: ข้อนี้น่าจะเป็นเหตุให้เกิด พิธีลอยบาปเผาเทียน เผาเทียนเท่ากับจำนวนอายุ บริษัทขายธูปเทียนพอใจมาก] สัตว์เหล่านั้นจึงได้พากันลอย อกุศลธรรม อันลามกนั้นทิ้งไป ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะสัตว์ทั้งหลายพากันลอยอกุศลธรรมทิ้งไป ฉะนั้น (๑) อักขระว่า พราหมณ์ ดังนี้ จึงบังเกิดขึ้นครั้งแรก พราหมณ์เหล่านั้นจึงสร้างกระท่อมมุงด้วยใบไม้ไว้ในราวป่าแล้วเพ่งอยู่ในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้นั้น พวกพราหมณ์เหล่านั้นไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าว ในเวลาเย็นในเวลาเช้า พวกเขาก็พากันเที่ยวไปยังหมู่บ้านตำบลและเมืองแสวงหาอาหาร เพื่อบริโภคในเวลาเย็นและในเวลาเช้า พวกเขาได้อาหารแล้วก็เพ่ง [นั่งฌาน] อยู่ในกุฏิใบไม้ในราวป่านั้นอีก หมู่มนุษย์พบเขาเข้า ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ผู้เจริญ สัตว์เหล่านี้สร้างกระท่อมมุงด้วยใบไม้ในราวป่าแล้วเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงด้วยใบไม้นั้น พวกเขาไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าวในเวลาเย็นในเวลาเช้า พวกเขาพากันเที่ยวไปยังหมู่บ้านตำบลและเมืองแสวงหาอาหาร เพื่อบริโภคในเวลาเย็นในเวลาเช้า เขาได้อาหารแล้วมาเพ่งอยู่ในกุฏิที่มุงด้วยใบไม้ในราวป่าอีก
ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ (๒) อักขระว่า ฌายิกา ฌายิกา ดังนี้ จึงบังเกิดขึ้นเป็นคำที่ ๒ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้น บางพวกเมื่อไม่ได้สำเร็จ ฌาน ในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้ในราวป่า จึงเที่ยวไปรอบหมู่บ้านรอบนิคม ทำคัมภีร์ มาอยู่ มนุษย์ทั้งหลายเห็นเขาเข้า จึงกล่าวอย่างนี้ ผู้เจริญ สัตว์เหล่านี้แลไม่ได้บรรลุฌานในกุฏิที่มุงด้วยใบไม้ในราวป่า จึงเที่ยวไปรอบบ้านรอบนิคม ทำคัมภีร์มาอยู่ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ บัดนี้ชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ ชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ในบัดนี้ฉะนั้น (๓) อักขระว่า อชฺฌายิกา อชฺฌายิกา ดังนี้จึงบังเกิดขึ้นเป็นคำที่ ๓ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็คำนั้น โดยสมัยนั้นสมมติกันว่าเป็น คำเลว แต่ในสมัยนี้ คำนั้นสมมติกันว่า ประเสริฐ [สมมติสัจจะ] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะการพรรณนาดังว่ามานี้ การบังเกิดขึ้นของหมู่พราหมณ์นั้นโดยอักขระที่เข้าใจกันว่า เลิศเป็นของเก่า จึงได้มี เรื่องของสัตว์ทั้งหลายจะเหมือนหรือไม่เหมือนกันโดยธรรมเท่านั้นหาใช่โดยอธรรมไม่ ดูก่อนวาเสฏฐและภารทวาชะ ก็ ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในทิฏฐธรรมและอภิสัมปรายภพ
ว่าด้วยการเกิดขึ้นแห่งแพศย์ (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 162 - 165 FILE 15)
[๖๕] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์นั้นบางพวก ยึดมั่น เมถุนธรรม แยกประกอบการงาน ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์เหล่านั้นยึดมั่น เมถุนธรรม แล้ว แยกประกอบการงาน ฉะนั้น อักขระว่า เวสฺสา เวสฺสา ดังนี้จึงบังเกิดขึ้น ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ การบังเกิดของพวกแพศย์จึงมีได้อย่างนี้ ท่านย่อคำไว้แล้ว ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุดังกล่าวนี้แล การบังเกิดขึ้นของหมู่ศูทรนั้น จึงมีได้ด้วยอักขระที่เข้าใจกันว่า เลิศเป็นของเก่า เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะเหมือนกันหรือไม่เหมือนกับสัตว์อื่น ก็โดยธรรมเท่านั้น หาใช่โดยอธรรมไม่ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารัทวาชะ ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในทิฏฐธรรมและอภิสัมปรายภพ
[๖๖] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยที่ (๑) กษัตริย์ ติเตียนธรรมของตน จึงออกจากเรือนบวชด้วยคิดว่า เราจะเป็นสมณะ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารัทวาชะ มีสมัยที่ (๒) พราหมณ์ ติเตียนธรรมของตน จึงออกจากเรือนบวชด้วยคิดว่า เราจะเป็นสมณะ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารัทวาชะ มีสมัยที่ (๓) แพศย์ ติเตียนธรรมของตน จึงออกจากเรือนบวชด้วยคิดว่า เราจะเป็นสมณะ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารัทวาชะ มีสมัยที่ (๔) ศูทร ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราจักเป็นสมณะ ดังนี้ ดูก่อนวาเสฏฐะสละภารทวาชะ การบังเกิดขึ้นแห่งหมู่สมณะจึงได้มีขึ้นด้วยหมู่ทั้ง ๔ เหล่านี้ เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะเหมือนหรือไม่เหมือนกับสัตว์เหล่าอื่นก็โดยธรรมเท่านั้น หาใช่โดยอธรรมไม่ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในทิฏฐธรรมและอภิสัมปรายภพ
[๖๗] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็น มิจฉาทิฏฐิ ยึดถือกรรมด้วยมิจฉาทิฏฐิ เพราะการยึดถือกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตกย่อมเข้าถึง อบายทุคติวินิบาตนรก
[๖๘] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็น สัมมาทิฏฐิ สมาทานกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เพราะการยึดถือกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตกย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์
[๖๙] ดูก่อนวาเสฎฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี มีปกติทำกรรมทั้ง ๒ อย่าง [อกุศลกรรมกุศลกรรม] ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ [กรรม๓: กายกรรมวจีกรรมมโนกรรม] มีความเห็นเจือปนกัน [มิจฉาทิฏฐิสัมมาทิฏฐิ] ยึดถือกรรมด้วยอำนาจความเห็นอันเจือปนกัน เพราะการยึดถือกรรมด้วยอำนาจความเห็น อันเจือปนกันเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก ย่อมได้เสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง
[๗๐] ดูก่อนวาเสฎฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สำรวมทางกาย สำรวมทางวาจา สำรวมทางใจ [อินทรียสังวร] อาศัยการเจริญ โพธิปักขิยธรรม ทั้ง ๗ [ธรรมเครื่องเกื้อกูลการตรัสรู้ และอริยมรรค ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔สัมมัปปธาน ๔อิทธิบาท ๔อินทรีย์ ๕พละ ๕โพชฌงค์ ๗มรรคมีองค์ ๘] แล้ว ย่อมปรินิพพานในโลกนี้แท้
[๗๑] ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาวรรณะทั้ง ๔ เหล่านี้ วรรณะใดเป็นภิกษุผู้อรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบแล้ว มีกรณียะอันกระทำแล้ว ปลงภาระได้แล้ว ตามบรรลุประโยชน์ของตนแล้ว มีสังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้ว นับแล้ว เพราะรู้โดยชอบ วรรณะนั้นปรากฏว่าเป็นผู้เลิศกว่าวรรณะเหล่านั้นโดยธรรม หาใช่โดยอธรรมไม่ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในทิฏฐธรรมและอภิสัมปรายภพ ดูก่อนวาเสฏฐะแลภารทวาชะ แม้สนังกุมารพรหมก็ได้กล่าวคาถาไว้ว่า
[๗๒] กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้มีความ รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและ จรณะ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ดังนี้
ดูก่อนวาเสฎฐะและภารทวาชะ ก็คาถานี้สนังกุมารพรหมขับไว้ถูกต้องไม่ผิด ภาษิตไว้ถูก ไม่ผิด ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เรารู้แล้ว ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้เราเองก็กล่าวอย่างนี้ว่า
กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้มีความ รังเกียจด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและ จรณะ เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในเทวดาและมนุษย์ ทั้งหลาย ดังนี้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ยินดีชื่นชม ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล
จบอัคคัญญสูตร ที่ ๔ -----------------------------
ข้อสังเกต: ความแตกต่างในแนวคิดเกี่ยวกับวรรณะทั้ง ๔ ที่ถ่ายทอดสืบเนื่องในความเป็นมนุษย์ตามคติพราหมณ์นั้น เป็นเรื่องถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิญในการเข้ามาศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไม่เป็นที่ยอมรับเรื่อง ชาติคือกำเนิดแห่งวรรณะชนชั้น [ลัทธิพระเป็นเจ้า] เพราะขัดแย้งกับแนวคิดเรื่อง กฎแห่งกรรม กับ กฎแห่งกรรมของสัตว์กัมมัสสกตาสัทธา ของทางคติพุทธ ที่เน้นเรื่อง กิเลสกรรมวิบาก [วัฏฏะ ๓ไตรวัฏฏ์ ซึ่งเป็นแนวคิดตาม อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ] ฉะนั้น การสร้างบุญกุศลและเจริญโวทานธรรม [อาเนญชาภิสังขาร] ที่เรียกว่า อนุปุพพปฏิปทา คือ ข้อประพฤติปฏิบัติที่กระทำอยู่บ่อยๆ ตามลำดับ ในการมนสิการกรรมฐาน โดยอาศัยบาทฐานจากการเจริญฌานสมาบัติ ที่พัฒนาขึ้นมาพร้อมด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ (๑) อนุปัสสนา ๗ (๒) มหาวิปัสสนา ๑๘ (๓) การจำแนกอารมณ์ ๓๘ (๔) โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ฉะนั้น บุคคลที่ปฏิบัติตามคำสอนพระศาสดาทุกประการนั้น ย่อมบรรลุถึงอธิคมสมณธรรมได้ ที่เรียกว่า อริยบุคคล [โสดาบันสกทาคามีอนาคามีอรหันต์] ที่เรียกว่า อริยชาติ ดังนี้
อริยชาติ หมายถึง เกิดเป็นอริยะ คือ บรรลุมรรคผล กลายเป็น อริยบุคคล เปรียบเหมือนเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ด้วย การเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยะ อีกอย่างหนึ่งว่า ชาติอริยะ หรือ ชาวอริยะ ซึ่งเป็นผู้เจริญในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง ผู้กำจัดกิเลสได้ ซึ่งชนวรรณะไหน เผ่าไหน ก็อาจเป็นได้ ต่างจาก อริยชาติ หรือ อริยกชาติ ที่มีมาแต่เดิม ซึ่งจำกัดด้วย ชาติคือกำเนิด [มีความรังเกียจกันด้วยโคตร]
แต่อย่างไรก็ตาม พราหมณลัทธิ หมายถึง ลัทธิพราหมณ์ เรียกอีกอย่างว่า พราหมณสมัยพราหมณวาท คือ หลักการหรือข้อยึดถือของพวกพราหมณ์ ที่กำหนดว่า พราหมณ์เป็นวรรณะที่ประเสริฐ เลิศ สูงสุด อันให้วัดหรือตัดสินความเลิศประเสริฐนั้น โดยชาติ คือ กำเนิด โดยโคตร คือสายตระกูล ซึ่งผูกพันกับ อาวาหะวิวาหะ คือ การแต่งงาน ที่อ้างออกมาว่า ท่านคู่ควรกับเรา หรือ ท่านไม่คู่ควรกับเรา ต่างกับพระพุทธศาสนาซึ่งให้วัดหรือตัดสินคนด้วย กรรม [กรรม ๓] คือ การกระทำความประพฤติ โดยถือว่า สิ่งที่ทำให้เลิศให้ประเสริฐ คือ วิชชาจรณะสัมปันโน [มีความถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะอันเป็นคุณสมบัติแห่งพระพุทธเจ้า] พราหมณ์บอกว่า เขาก็ถือ วิชชาและจรณะ ด้วย แต่ วิชชาของเขา หมายถึง ไตรเพท และ จรณะที่เขาถืออยู่เพียงศีล ๕ ฉะนั้น ถ้าท่านทั้งหลาย มีความเชื่อศรัทธาอย่างแรงกล้าตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านคือพุทธมามกะ ถ้าไม่เชื่อศรัทธา ท่านคือ พวกนอกพระศาสนาที่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่ทางแห่งพุทธะ ในความหมายของ คำว่า พุทธมามกะ หมายถึง ผู้ถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา คือ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ได้ศรัทธาลัทธินอกพระพุทธศาสนา ให้นับถือศรัทธาเพียงพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น [Monotheism] ไม่ใช่นับถือในหลายเทพเจ้า [Polytheism] อันจะเกิดวุ่นวาย แล้วกลายเป็นอุปสรรคขัดขว้างอันตรายต่อแนวทางปฏิบัติธรรมให้บรรลุถึง ความเป็นอริยะ ความประเสริฐแห่งพุทธะ คำว่า พุทธะ หมายถึง คุณสมบัติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าพระวิสุทธิเทพ [Attributes of the Buddha] ที่ประกอบด้วย พุทธคุณ ดังนี้
พุทธคุณ ๒ หมายถึง คุณสมบัติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า [มหาโพธิสมภาร] ได้แก่ (๑) อัตตหิตสมบัติ คือ ความถึงพร้อมแห่งประโยชน์ตน ทรงบำเพ็ญประโยชน์ส่วนพระองค์เองเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว พระคุณข้อนี้มุ่งเอา พระปัญญา เป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องให้สำเร็จ พุทธภาวะ [พุทธะ] คือ ความเป็นพระพุทธเจ้า และ ความเป็นอัตตนาถะ คือ พึ่งตนเองได้ (๒) ปรหิตปฏิบัติ คือ การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ทรงบำเพ็ญพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น พระคุณข้อนี้มุ่งเอา พระกรุณา เป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องให้สำเร็จ พุทธกิจ คือ หน้าที่ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นโลกนาถ คือ เป็นที่พึ่งของชาวโลกได้
[พุทธคุณ ๙ ย่อลงแล้วเป็น ๒ อย่างดังแสดงมานี้ คือ ข้อ ๑, ๒, ๓, ๕ เป็นส่วน อัตตหิตสมบัติ ข้อ ๖, ๗ เป็นส่วน ปรหิตปฏิบัติ ข้อ ๔, ๘, ๙ เป็นทั้ง อัตตหิตสมบัติ และ ปรหิตปฏิบัติ]
พุทธคุณ ๓ หมายถึง คุณสมบัติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า [มหาโพธิสมภาร] ได้แก่ (๑) ปัญญาคุณWisdom คือ พระคุณคือพระปัญญา (๒) วิสุทธิคุณPurity คือ พระคุณคือความบริสุทธิ์ (๓) กรุณาคุณCompassion คือ พระคุณคือพระมหากรุณา
[ในพระคุณ ๓ นี้ ข้อที่เป็นหลักและกล่าวถึงทั่วไปในคัมภีร์ต่างๆ มี ๒ คือ ปัญญา และ กรุณา และ ส่วน วิสุทธิ เป็นพระคุณเนื่องอยู่ใน พระปัญญา อยู่แล้ว เพราะเป็นผลเกิดเองจากการตรัสรู้ คัมภีร์ทั้งหลายจึงไม่แยกไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก]
พุทธคุณ ๙ หมายถึง คุณของพระพุทธเจ้า ได้แก่
อิติปิ โส ภควา คือ แม้เพราะอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น (๑) อรหํ คือ เป็นพระอรหันต์ นั่นคือ เป็นผู้บริสุทธิ์ ไกลจากกิเลส ทำลายกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ควรได้รับความเคารพบูชา เป็นต้น (๒) สมฺมาสมฺพุทฺโธ คือ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง (๓) วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน คือ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา นั่นคือ ความรู้ และ จรณะ คือ ความประพฤติ (๔) สุคโต คือ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว นั่นคือ ทรงดำเนินพระพุทธจริยาให้เป็นไปโดยสำเร็จผลด้วยดี พระองค์เองก็ได้ตรัสรู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพุทธกิจก็สำเร็จประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ชนทั้งหลายในที่ที่เสด็จไป และได้ประดิษฐานพระศาสนาไว้ แม้ปรินิพพานแล้วก็เป็นประโยชน์แก่มหาชนสืบมา (๕) โลกวิทู คือ เป็นผู้รู้แจ้งโลก นั่นคือ ทรงรู้แจ้งสภาวะอันเป็นคติธรรมดาแห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย ทรงหยั่งทราบอัธยาศัยสันดานแห่งสัตวโลกทั้งปวง ผู้เป็นไปตามอำนาจแห่งคติธรรมดาโดยถ่องแท้ เป็นเหตุให้ทรงดำเนินพระองค์เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจครอบงำแห่งคติธรรมดานั้น และทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลายผู้ยังจมอยู่ในกระแสโลกได้ (๖) อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ คือ เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งไปกว่า นั่นคือ ทรงเป็นผู้ฝึกคนได้ดีเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมเท่า (๗) สตฺถา เทวมนุสฺสานํ คือ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (๘) พุทฺโธ คือ เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว นั่นคือ ทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ถือกันมาผิดๆ ด้วย ทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจากความหลงงมงายด้วย อนึ่ง เพราะไม่ติด ไม่หลง ไม่ห่วงกังวลในสิ่งใดๆ มีการคำนึงประโยชน์ส่วนตนเป็นต้น จึงมีพระทัยเบิกบาน บำเพ็ญพุทธกิจได้ถูกต้องบริบูรณ์ โดยถือธรรมเป็นประมาณ การที่ทรงพระคุณสมบูรณ์เช่นนี้ และทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้เรียบร้อยบริบูรณ์เช่นนี้ ย่อมอาศัยเหตุคือความเป็นผู้ตื่น และย่อมให้เกิดผลคือทำให้ทรงเบิกบานด้วย (๙) ภควา [ติ] คือ ทรงเป็นผู้มีโชค นั่นคือ จะทรงทำการใด ก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการ หรือ เป็นผู้จำแนกแจกธรรม
ด้วยเหตุนี้ การถือฐานะเป็นพุทธมามกะที่ถูกต้องนั้น ต้องเข้าใจภูมิหลังความเป็นมาของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง โดยต้องศึกษาค้นคว้าความรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับประวัติพระพุทธศาสนาถึงแหล่งกำหนด จนรวมถึงความเป็นวิถีชีวิตความเชื่อ ที่เรียกว่า พุทธปรัชญาThe Philosophy of Buddhism ไม่ใช่มีชีวิตแบบมัวๆ สิ้นคิด ไม่ประกอบด้วยเหตุผล โดยไม่ใช้ปัญญาที่ มีสติสัมปชัญญะแบบพุทธ สำหรับประเด็น วัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ [Learning Culture] นั้น สังคมไทยยังห่างอีกไกล ได้เปรียบเฉพาะพวกมีเงินจึงได้ศึกษาในสถาบันที่มีมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ แม้ทางราชการจะพยายามให้โอกาสทางการศึกษามากยิ่งขึ้น มีระบบให้กู้ยืมเงินเพื่อใช้เรียนอย่างเดียว ส่วนค่ากินอยู่หากินเอง ก็ช่วยได้แค่นิดเดียว ก็ใช้ได้ตามทฤษฎีทางสังคมวิทยาว่า: กำขี้ดีกว่ากำตด ฉะนั้น ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตพอสมควรแล้ว ก็อย่าลืมตั้งกองทุนช่วยเหลือการศึกษาและให้งานทำ หรือกองทุนอาหารยาไส้ได้ จะเป็นมหากุศลให้เกิดคนดีพันธุ์ใหม่ ที่สำนึกบุญคุณในสังคมมากยิ่งขึ้น คนจนย่อมเข้าใจคนจนได้ดี คนรวยก็เข้าใจคนรวยได้ดี รวมทั้งพวกเที่ยวกลางคืนมาก คือ คนเหงาก็ย่อมเข้าใจคนเหงา สรุปก็ควรเข้าใจกันทั้งหมด ยังคำคติพจน์ว่า กินคนเดียวไม่อร่อย [อย่าขี้เหนียวตระหนี่มัจฉริยะ] ให้ประพฤติด้วยทานและจาคะต่อสังคมคนรอบข้างด้วยไมตรีความปรารถนาดี ยินดีกับความสำเร็จของเขา [มุทิตาธรรม] ช่วยคนอย่าช่วยแค่ให้เงิน ควรให้งานแลกเงินดีกว่า คนจะได้เห็นคุณค่า มีความเท่าเทียบกัน เงินเท่ากับงานบันดาลสุข อย่าลืมว่า ให้งานแล้วไม่มีเงิน เป็นความคิดที่โง่มากของนายจ้าง เพราะเบียดเบียนมือตีนของตนเอง ความหายนะเกิดขึ้นกับคนพวกนี้มามากแล้ว เช่น ลูกจ้างถูกซื้อตัวไปทำงานให้คู่แข่ง ก็เอาสิ่งดีจากตัวเองเป็นผู้สร้างให้ ไปให้คนอื่นแบบโง่ๆ เพราะความคิดเอาเปรียบผู้อื่น นั่นเอง เรื่องนี้ ก็เป็นเรื่อง กฎแห่งกรรม เช่นกัน ที่กล่าวมาเช่นนี้ เพราะว่า คนเป็นพุทธ ก็ตามนำเอาคุณสมบัติของความเป็นพุทธะมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ให้เกิดความผสมกลมกลืมกันทั้งความจริงและชีวิต ไม่ใช่หัวกุดหางโผล่ไม่สมประกอบ ณ ตรงนี้ ให้ถือปฏิบัติ ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ คือ ดำเนินชีวิตถูกต้องตามคลองธรรม ถ้ายังพูดไม่รู้เรื่อง ก็ให้ย้อนกลับไปอ่านทบทวนในเรื่อง อัคคัญญสูตร ที่ ๔ หลายๆ รอบ จะได้เกิดดวงตาเห็นธรรมเกี่ยวกับประวัติมวลมนุษยชาติทั้งหลาย ที่เรียกอีกอย่างว่า พวกแมงกินง้วนดิน เป็นเทวดาดีๆ ไม่ชอบเอง ชอบกินของสกปรก และคิดชั่วทำชั่ว แล้วยังพากันเริ่มทำความดีใหม่อีกรอบ เผื่อคิดว่าจะกลับไปเป็นเทวดาน้อยเหมือนเดิม ตอนนี้ก็เป็นหมาน้อยธรรมดาไปก่อน [เมื่อช่วง ปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ เพื่อน ส.ส. ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งหรือสองของผู้เขียนบรรยาย เวลาเจอกันที่สโมฯ (คือ ที่สโมสรรัฐสภาพหรือที่สโมคซิกาแรต์) ท่านชอบปรารภว่า ตอนเป็นก็คือเทวดาน้อย (นั่งเครื่องฟรี) ถ้าหมดสมัยไม่ได้เป็น ก็คือหมาน้อยธรรมดา ท่านคงลืมไปว่า ท่านไม่ใช่ผู้ใหญ่ลี ตอนนี้เป็นจริง! ตามกฎอนิจจัง]
ประการสุดท้ายนี้ มนุษย์เป็นสัตว์ขายความเชื่อกับตนเองและผู้อื่น [Ideology: มโนคติวิทยาความคิดที่เป็นไปไม่ได้หรือความฝันระบบความนึกคิดหรือจินตนาการอุดมการณ์] คล้ายกับการเป็น นักปลุกระดม [Demagogue เดม'มะกอก คือ ผู้นำฝูงชนผู้ที่มีอำนาจหรือชื่อเสียงจากการปลุกปั่นประชาชน] ถ้าเป็นการปลุกระดมตนเอง เรียกว่า ขวัญกำลังใจMorales หรือ แรงดลบันดาลใจอันเป็นความวังInspirations ซึ่งต่างจาก การปลุกผีของหมอเวทมนต์ [Ghost Recall Ritual] เอามาใช้ประโยชน์ในทางชั่งร้ายมากกว่าทางดี [ผู้สันทัดกรณี เณรแอร์ บอกว่า มนต์ชั่วทั้งหลาย ทำร้ายคนดีไม่ได้ ขอให้ทำความดีไว้] คือ บางคนก็ชอบสะกดจิตตัวเองให้กลายเป็น ร่างทรง ที่เรียกว่า โรคอุปาทานส่วนตัวโรคอุปาทานหมู่ [ไม่รวมจ่า] ทางธรรมในพระไตรปิฎก เรียกอาการฟุ้งซ่าน [อาการดีแตก] ที่เกิดจากความสำคัญผิดในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ เช่น เอา (๑) โอภาสแสงสว่าง (๒) ปีติความอิ่มใจปลาบปลื้มเต็มไปทั้งตัว (๓) ญาณความรู้ที่คมชัด (๔) ปัสสัทธิความสงบเย็นกายใจ (๕) สุขความสุขฉ่ำชื่นทั่วทั้งตัวที่ประณีตอย่างยิ่ง (๖) อธิโมกข์ศรัทธาแรงกล้าที่ทำให้ใจผ่องใสอย่างยิ่ง (๗) ปัคคาหะความเพียรที่พอดี (๘) อุปัฏฐานสติชัด (๙) อุเบกขาความวางจิตเป็นกลางที่ลงตัวสนิท หรือ (๑๐) นิกันติความติดใจพอใจ ดังนี้ นั้นเป็นมรรคผลนิพพาน เรียกว่า ธัมมุทธัจจะธรรมุธัจจ์ นั่นคือ ปฏิบัติธรรมมาถูกทาง แล้วขาดสติปัญญาไปหลงใหลในสิ่งที่เป็นนิมิตดีนั้น [อวิชชาปิดบังปัญญา] แล้ว เสียคนเสียธรรม ไปเอง คำว่า ไสยาศาสตร์ คือ ดิรัจฉานวิชา ที่เกิดจากฤทธิ์การเจริญฌานสมาบัติ เช่นกัน พอได้ฌานแล้ว ถ้าเป็นฤษีดาบสก็ไปตามคติพราหมณ์ ถ้าพวกถือผีหมออาคม ก็ไปแนวไสยาศาสตร์ ไม่ใช่แนวกระยาสารท [สารท คือ เทศกาลทำบุญเดือน ๑๐ ทำขนมไหว้ผีบรรพบุรุษ ถ้า สาด คือ ซัดน้ำไป แต่ วันสาก นั้น ยังไม่นิยามในพจนานุกรม น่าจะเป็นวันที่แม่ค้าส้มตำเปิดร้านทำงาน ไม่เกี่ยวกับสถานเริงรมย์ ไม่น่าจะกำลังอุปมาอุปมัยถึงขั้นนั้นได้] เพราะฉะนั้น เหตุทั้งหลายทั้งปวงนั้น มาจาก ความเชื่อ [Belief] จนเกิดเป็น ความมั่นใจความเชื่อมั่น [Confidence] จนเป็น ความศรัทธา [Faith] พอซึ้งมากๆ ไปไม่ถูกทางถูกทิศ ก็หันมาทางเดียวเท่านั้น [เป็นสมาธิ] อยู่ไม่ได้ต้องไป เรียกว่า อธิโมกข์ [Fervor: ความอบอุ่นมากความร้อนรนความเร่าร้อนความร้อนจัด = Passion คือ อารมณ์กิเลสตัณหา ความโกรธอย่างรุนแรง เพราะไม่ได้ดังใจ แต่น่าจะตรงกับคำว่า Loyalty ความภักดีด้วยความซื่อสัตย์และเลื่อมใส = ปสาทสัทธา หรือ อธิโมกขสัทธา] หมายถึง ความน้อมใจเชื่อศรัทธาแก่กล้าความปลงใจ ส่วนใหญ่เกิดจากฤทธิ์ของสมาธิ คือ ศรัทธาแรงกล้าที่ทำให้ใจผ่องใสอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ศรัทธาและฉันทะที่แรงกล้าย่อมเกิดบาทวิถีแห่งความสำเร็จได้ [อิทธิบาท ๔: ฉันทะ (ศรัทธา) วิริยะจิตตะวิมังสา นั่นคือ ความพอใจเลื่อมใสความหมั่นเพียรความมุ่งมั่นความไตร่ตรอง] ในทางธรรมนั้น บุคคลนั้น ก็สามารถบรรลุธรรมถึงขั้น ความเป็นอริยบุคคล [บุคคลผู้ประเสริฐ] ได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง
(๑) สัทธาวิมุต (ข้อ ๕ ในอริยบุคคล ๗) หมายถึง ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา คือ ท่านที่เข้าใจ อริยสัจจธรรม ถูกต้องแล้ว และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไป เพราะเห็นด้วย ปัญญา แต่มี ศรัทธา เป็นตัวนำ หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุ โสดาปัตติผล แล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อ อรหันต์ ที่มี สัทธินทรีย์แก่กล้า ในการปฏิบัติอย่างจริงจัง
(๒) สัทธานุสารี (ข้อ ๗ ในอริยบุคคล ๗) หมายถึง ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือ ผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุ โสดาปัตติผล [โดยได้โสดาปัตติมรรค เช่น เกิด ดวงตาเห็นธรรมธรรมจักษุ อย่างจังด้วยปัญญาเห็นธรรม หรือ อย่างแรงมากด้วยปัญญา คือ อะไรก็กั้นไม่อยู่ โสดาบันจะอุบัติขึ้นแล้ว] ที่มี สัทธินทรีย์แก่กล้า อบรม อริยมรรค [อริยสัจจ์ ๔มรรค ๔อริยมรรคมีองค์ ๘] โดยมี ศรัทธา เป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้ว ย่อมกลายเป็น สัทธาวิมุต
นอกจากนี้ ให้พิจารณาถึงสภาพสังคมในปัจจุบันนี้ ว่าคนส่วนใหญ่มีความคิดเรื่องพระศาสนามากน้อยแค่ไหน ในกลุ่มคน ๔ ระดับ ได้แก่ (๑) ชาวบ้าน (๒) ลัทธิภายนอก (๓) นักวิทยาศาสตร์ (๔) พุทธมามกะ ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงเรื่อง ความมีศรัทธา ได้อย่างแจ่มชัด เกี่ยวกับวิถีชีวิตกับการแสวงหาความรู้เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์กายและทุกข์ใจ ได้มากแค่ไหน โดยจะเปรียบเทียบให้เห็นคุณภาพชีวิตและจิตใจ จากคนไม่รู้อะไรจนไปถึงคนรู้พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามลำดับ ดังนี้
(๑) ชาวบ้านOrdinary Man เชื่อใน อำนาจเหนือธรรมชาติ สิ่งลึกลับ ภูต ผี ปีศาจ เวทมนต์ อาคม คุณไสย สิ่งแปลกประหลาด สิ่งอัศจรรย์ใจแท้ [น้องแมวรกแมว ไม้ศักดิ์สิทธิ์ หรือวัตถุอื่นๆ ที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ตามนิทานปรัมปราเล่าสืบกันมา เช่น ธาตุกายสิทธิ์ (เกศาพระอรหันต์ รวมทั้ง คำหมากคำข้าว จีวร เป็นต้น หรือ พระธาตุ) เหล็กไหล ลูกแก้วพญานาค ไม้แหย่แย้ มะพร้าวตาเดียว ฝาบาตรแตก เสี้ยนไม้ฟ้าผ่า ต้นโพธิ์ทางโค้ง ต้นไม้อายุมากๆ เรือโบราณ กระดูกผีตายโหง ซี่โครงเป็ดย่าง แต่คงไม่รวมถึง ฝาหม้อแตกบ้านแม่หม้าย ผ้าชัดหน้าแม้หม้าย ไม้จิ้มฟันลิงเผือก อะไรทำนองนี้] สิ่งวิปริตผิดธรรมชาติ เช่น งูเจ็ดหัว คนสองหัว คนลิ้นสองแฉก รอยเลื้อยพญานาค จิ้งจกสองหาง หน่อไม้ไผ่ ปลีกกล้วย มีรูปร่างเป็นรูปพญานาค ส่วนใหญ่เน้นการขอเลขเด็ดแทงหวย หรือ สิ่งที่เกินบรรยายไว้ ณ ที่นี่ ที่เห็นแล้วงงงวย สามารถทำให้ยกมือไหว้ได้ [รวมทั้งคนชั่วแล้วรวย เป็นของแปลกชนิดหนึ่ง คนเห็นงงก็ไหว้ไว้ก่อน เพราะพวกนี้มีฤทธิ์มาก ปากศักดิ์สิทธิ์ บอกให้คนตายได้ จนได้รับสถาปนาเป็น เจ้าพ่อเจ้าแม่ ได้เช่นกัน ได้ดีเพราะอัปรีย์สีกระบาล ให้คนอื่นเดือดร้อน] ชาวบ้านถือว่า เป็นของศักดิ์สิทธิ์Sacred ด้วยมีปัญญาไม่ถึงขั้นจะทำความเข้าใจได้ การกราบไหว้ไว้ก่อนปลอดภัยในชีวิต มีอะไรก็เอาของไปฝากเซ่นไหว้ ขอเป็นมิตร เผื่อตกทุกข์ได้ยาก ก็ขอเป็นที่พึ่งได้ [ปรัชญาชาวบ้านไม่สงวนลิขสิทธิ์]
(๒) ลัทธิภายนอกNon-Buddhist เชื่อใน ลัทธิกรรมเก่า ลัทธิพระเป็นเจ้า ลัทธิเสี่ยงโชค พราหมณวาท พาหุเทพ [Polytheism] อนึ่ง ความเชื่อถือของคนสมัยพุทธกาล ประมวลได้เป็น ๕ ประเภท ดังนี้ (๑) นักบวชนักพรต [Ascetics] เช่น อาชีวกเป็นเทวดาของสาวกอาชีวก นิครนถ์ ชฎิล ปริพาชก ดาบส ก็เป็นเทวดาของสาวกนิครนถ์เป็นต้นเหล่านั้นตามลำดับ (๒) สัตว์เลี้ยง [Domestic Animals] เช่น ช้างเป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชาช้าง ม้า โค ไก่ กา เป็นต้น ก็เป็นเทวดาของพวกถือพรตบูชาสัตว์นั้นๆ ตามลำดับ (๓) ธรรมชาติ [Physical Forces and Elements] เช่น ไฟเป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชาไฟ แก้ว มณี ทิศ พระจันทร์ พระอาทิตย์ เป็นเทวดาของผู้ถือพรตบูชาสิ่งนั้นๆ ตามลำดับ (๔) เทพชั้นต่ำ [Lower Gods] เช่น นาคเป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชานาค ครุฑ ยักษ์ คนธรรพ์ เป็นเทวดาของผู้ถือพรตบูชานาคเป็นต้นเหล่านั้นตามลำดับ [พระภูมิจัดเข้าในข้อนี้] (๕) เทพชั้นสูง [Higher Gods] เช่น พระพรหม เป็นเทวดาของพวกประพฤติพรตบูชาพระพรหม พระอินทร์ เป็นเทวดาของผู้ถือพรตบูชาพระอินทร์ เป็นต้น
(๓) นักวิทยาศาสตร์Scientist เชื่อใน (๑) ผู้ทรงความรู้Authority (๒) ขนบธรรมเนียมและประเพณีTradition (๓) ประสบการณ์Experience [เน้นการสังเกตตามความเป็นจริง] (๔) วิธีการอนุมานDeductive Method (๕) วิธีการอุปมานInductive Method และ (๖) วิธีการทางวิทยาศาสตร์Scientific Method ที่เรียกว่า กระบวนการค้นหาความจริงDiscovery Procedures [คือ ข้อปฏิบัติที่กำหนดเป็นแนวทางในการวิจัย ปัจจุบันเรียกว่า เกณฑ์ความเป็นเลิศBenchmarks for Best Practice] ซึ่งประยุกต์เป็น ระเบียบวิธีวิจัยResearch Methodology [พวกนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่นั้น ไม่นับถือศาสนา: The Out of Religion = Atheism คือ ไม่เชื่อว่ามีพระเป็นเจ้า จึงหันความสนใจไปสู่วิถีชีวิตตามแนวปรัชญา ซึ่งกลายเป็นค่านิยมในสังคมตะวันตก หรือในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว] ฉะนั้น ความเชื่อในปรัชญาจึงเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรัชญาบริสุทธิ์Pure Philosophy ซึ่งเป็นการสนับสนุนในเรื่อง ปรมัตถ์Ultimate Truths เช่นกัน ในศาสตร์สาขา วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์Pure Science คำว่า ปรัชญาบริสุทธิ์ หมายถึง การศึกษาปรัชญาที่เป็นเนื้อหาสาระของปรัชญาโดยตรง ไม่ใช่ศึกษาเพื่อการอื่นๆ ทั้งนี้ โลกตะวันตกแบ่งปรัชญาออกเป็นสามสาขาใหญ่ๆ [ยึดเนื้อหา/ปัญหาพื้นฐาน เป็นหลัก] โดยการมุ่งตอบปัญหาใดปัญหาหนึ่ง [ในขณะที่ ปรัชญาตะวันออก ไม่มีการแบ่งย่อย] ได้แก่
(๑) อภิปรัชญาMetaphysics คือ ศึกษาอะไรคือความจริง หรือ ภววิทยาOntology เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความจริงReality เพื่อค้นหา ความจริงอันเป็นที่สูงสุดUltimate Reality ได้แก่ ความจริงที่เกี่ยวกับธรรมชาติ จิตวิญญาณ รวมทั้งเรื่องของพระเจ้า อันเป็นบ่อเกิดของศาสนา (๒) ญาณวิทยาEpistemology คือ ศึกษาวิธีรู้ความจริงได้อย่างไร เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความรู้Knowledge ศึกษาธรรมชาติของความรู้ บ่อเกิดของความรู้ ขอบเขตของความรู้ ซึ่งความรู้อาจจะได้มาจากแหล่งต่างๆ เช่น จากพระเจ้าประธานมาซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของศาสนาต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาค้นคว้าปรากฏในตำรา เกิดจากการหยั่งรู้เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นมาในทันทีทันใด เช่น พระพุทธเจ้าตรัสรู้หรือเป็นความรู้ที่เกิดจากการพิจารณาเหตุและผลReasoning หรือ ได้จากการสังเกตObservation (๓) คุณวิทยาอัคฆวิทยาAxiology คือ ศึกษาเกี่ยวกับคุณค่า หรือ ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับคุณค่าหรือค่านิยมValues เช่น คุณค่า เกี่ยวกับความดีและความงาม มีอะไรเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าอย่างไรดี อย่างไรงาม โดยแยกได้ ๒ประเภท ได้แก่ (๑) จริยศาสตร์Ethics ได้แก่ คุณค่าแห่งความประพฤติ หลักแห่งความดี ความถูกต้อง เป็นคุณค่าแห่งจริยธรรม เป็นคุณค่าภายใน นั่นคือ เอาอะไรมาตัดสินการกระทำว่าดีหรือไม่ และ (๒) สุนทรียศาสตร์Anesthetics ได้แก่ คุณค่าความงามทางศิลปะ ซึ่งสัมพันธ์กับจิตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งตัดสินได้ยากและเป็นอัตนัย เป็นคุณค่าภายนอก นั่นคือ เอาอะไรมาตัดสินความงาม
หมายเหตุ: ในการศึกษาพระพุทธศาสนาให้สมบูรณ์มากที่สุดนั้น ควรทำความเข้าใจถึง แนวคิดเชิงปรัชญาของผู้รู้ทางซีกโลกตะวันตกเปรียบเทียบกับซีกโลกตะวันออก เพราะพระพุทธศาสนาอยู่ในฐานะ ๓ ที่เกินจากความเชื่อแบบชาวบ้านและลัทธินอกพระพุทธศาสนา อันมีความคิดเป็นปฏิปักษ์กัน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด หรือข้อปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งหลายก็ตาม คำว่า ปรัชญาPhilosophy นั้น เป็นองค์ความรู้ที่อยู่ตรงกลางระหว่าง พระพุทธศาสนาBuddhism กับ วิทยาศาสตร์Science อันเป็นสะพานเชื่อมองความรู้ทั้งหมดรวมกัน องค์ความรู้ในพระพุทธศาสนานั้น สามารถอธิบายความจริงในทั้ง ปรัชญาPhilosophy และ วิทยาศาสตร์Science ฉะนั้น องค์ความรู้ทั้ง ๓ ฝ่าย ดังกล่าวนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้ปฏิบัติธรรมต้องนำมาประชุมร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยทั้ง ๓ ฝ่าย ต่างไม่ละเมิดซึ่งกันและกัน
ปรัชญาพื้นฐานBasic Philosophy ในแนวคิดทางปรัชญาพื้นฐานปรัชญาทั่วไป เมื่อพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีลัทธิต่างๆ [อุดมศักดิ์ มีสุข: นิสิตปริญญาเอก สาขาอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์] ดังนี้
(๑) ลัทธิจิตนิยมIdealism เป็นลัทธิปรัชญาที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาปรัชญาต่างๆมีกำเนิดพร้อมกับการเริ่มต้นของปรัชญา ปรัชญาลัทธินี้ถือเรื่อง จิตเป็นสิ่งสำคัญ มีความเชื่อว่า สิ่งที่เป็นจริงสูงสุดนั้นไม่ใช่วัตถุหรือตัวตน แต่เป็นเรื่องของความคิดซึ่งอยู่ใน จิตMind สิ่งที่เราเห็นหรือจับต้องได้นั้น ยังไม่ความจริงที่แท้ความจริงที่แท้จะมีอยู่ใน โลกของจิตThe World of Mind เท่านั้น [วิจารณ์: ในข้อนี้ทางพระพุทธศาสนา ให้ใช้จิตคือสติสัมปชัญญะในการมนสิการสภาวธรรม เพื่อให้เห็นว่า นามรูปโดยไตรลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น สังขตธรรม หรือ อสังขตธรรม ก็ตาม [อนุปัสสนาญาณ ๓: อนิจจานุปัสสนาทุกขตานุปัสสนาอนัตตานุปัสสนา ซึ่งทำให้เกิดปัญญา ๓ ประการ ได้แก่ ชวนปัญญานิพเพธิกปัญญามหาปัญญา = ปัญญาพาหุลละ คือ ปัญญาใหญ่ปัญญามากถึงความความเจริญ] ที่เรียกว่า สามัญลักษณะ: อนิจจตาทุกขตาอนัตตตา คือ ปรมัตถ์ หรือ ธรรมนิยาม ๓: สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง ๑ สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งปวง คงทนอยู่มิได้ ๑ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวง ไม่เป็นตัวตน ๑ ดังนี้ เรียกว่า ธรรมดากฎธรรมชาติNatural Law] ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของแนวความคิดลัทธิปรัชญานี้ คือ พลาโต [Plato] นักปรัชญาเมธีชาวกรีก ซึ่งมีความเชื่อว่า การศึกษา คือ การพัฒนาจิตใจมากกว่าอย่างอื่น ถ้าพิจารณาลัทธิปรัชญาลัทธิจิตนิยมในแง่สาขาของปรัชญา แต่ละสาขาจะได้ ดังนี้ (๑.๑) อภิปรัชญา ถือว่าเป็นจริงสูงสุดเป็น นามธรรมอรูปธรรม มากกว่า รูปธรรม ต้องพัฒนาคนในด้านจิตใจSubjectivism มากกว่าวัตถุ (๑.๒) ญาณวิทยา ถือว่าความรู้เกิดจากความคิดหาเหตุผล และการวิเคราะห์แล้วสร้างเป็นความคิดในจิตใจ ส่วนความรู้ที่ได้จาก การสัมผัสด้วยประสาททั้ง ๕ ไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง (๑.๓) คุณวิทยา ถือว่าคุณค่าความดีความงามมีลักษณะตายตัวคงทนถาวรไม่เปลี่ยนแปลง ในด้าน จริยศาสตร์ ศีลธรรม และ จริยธรรม จะไม่เปลี่ยนแปลง ส่วน สุนทรียศาสตร์ นั้น การถ่ายทอดความงาม เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และอุดมการณ์อันสูงส่งสรุปว่า ปรัชญาลัทธิจิตนิยมเป็นการพัฒนาด้านจิตใจ ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ศิลปะต่างๆ การจัดการศึกษาตามแนวจิตนิยมจึงเน้นในด้านอักษรศาสตร์และศิลปะศาสตร์ เป็นผู้มีความรอบรู้โดยเฉพาะตำรา การเรียนการสอนมักจะใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งค้นคว้าและถ่ายทอดเนื้อหาวิชาสืบต่อกันไป
(๒) ลัทธิวัตถุนิยมMaterialism สัจนิยมRealism เป็นลัทธิปรัชญาที่มีความเชื่อใน โลกแห่งวัตถุThe World of Things มีความเชื่อ ในแสวงหาความจริงโดยจิตตามแนวคิดของจิตนิยมอย่างเดียวไม่พอ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามธรรมชาติด้วย ความจริงที่แท้ปรมัตถ์ คือ วัตถุที่ปรากฏต่อสายตา สามารถสัมผัสได้ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ บิดาของลัทธินี้ คือ อริสโตเติล [Aristotle] นักปราชญ์ชาวกรีกลัทธิปรัชญาสาขานี้เป็นต้นกำเนิดของการศึกษาทางงด้านวิทยาศาสตร์ ถ้าพิจารณาปรัชญาลัทธิวัตถุนิยมในแง่สาขาของปรัชญา จะได้ ดังนี้ (๒.๑) อภิปรัชญา มีความเชื่อว่า: ความจริงมาจากธรรมชาติ ซึ่งประกอบสิ่งที่เป็นวัตถุสามารถสัมผัสจับต้องได้ [ประจักษ์นิยมEmpiricismEmpiricalism คือ ระบบประสาทสัมผัสทั้ง ๕] และ พิสูจน์ได้ด้วย วิธีวิทยาศาสตร์The Scientific Method โดยมีขั้นตอนที่เป็นมาตรฐาน ในช่วงแรก เรียกว่า กระบวนการค้นพบความจริง [Discovery Procedures] โดยตั้งข้อสมมติฐานว่า: Null Hypothesis = ใครก็ตามทำตามขั้นตอนดังกล่าวนี้ ย่อมได้ความจริงปรากฏไม่แตกต่างกัน คือ ความจริงนั้นจะแสดงผลต่างกันตามปัจจัยแห่งเวลาและสถานที่ [ตัวแปรอิสระIndependent Variables] (๒.๒) ญาณวิทยา เชื่อว่า: ธรรมชาติเป็นบ่อเกิดของความรู้ทั้งมวลความรู้ได้มาจากการได้เห็นได้สัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕Objectivism โดยไม่ให้ความสำคัญทางจิต [มโนวิญญาณอภิญญาในสมาธิ หรือ ญาณในวิปัสสนา] ถ้าสังเกตไม่ได้มองไม่เห็น ก็ไม่เห็นหรือลงความเห็นว่าเป็น: ความรู้ที่แท้จริงปรมัตถ์ ฉะนั้น การลงความเห็นเป็นข้อสรุปเชิงทฤษฎีGeneralizations นั้น ต้องขึ้นกับความจริงที่เป็นข้อมูลเชิงปริมาณQuantitative Data มากกว่าเชิงคุณภาพQualitative Data โดยมักจะเป็นวิจัยเชิงประยุกต์ [Applied Research] โดยอาศัยค่าความสำคัญอันมีนัยทางสถิติอันน่าเชื่อถือและเที่ยงตรงที่ระดับ 0.01 [Statistically Significant at 0.01 Level of Degree of Freedom] เช่นในงายวิจัยทางการแพทย์ หรือวิศวกรรม ในระดับ 0.05 [Statistically Significant at 0.05 Level of Degree of Freedom] เช่น ในงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ การศึกษา เป็นต้น ในช่วงศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นไป นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจในเรื่อง การบริหารจัดการความรู้Knowledge Management: KM และ การบริหารจัดการต้นทุนทางปัญญาIntellectual Capital Management: ICM อันเป็นเรื่องคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ในสังคม ไม่ใช่เพียงความศิวิไลซ์ทางด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว และการแสวงหาความรู้ปรับเปลี่ยนวิวัฒน์ไปสู่ ยุคสังคมข้อมูลข่าวสารThe Ages of Informative Society โดยเน้นแนวโน้มไปสู่ สังคมอุดมปัญญาKnowledge-Based Society ซึ่งก้าวไปสู่การวิวัฒนาการทางสังคมยุคใหม่ของมนุษย์ ที่มนุษย์เอาชนะธรรมชาติได้ในเรื่องเวลาและสถาที่ [The Conquer of Time-Space Constraints] ที่ความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดด้านเทคโนโลยี ได้ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต การโทรคมนาคมการสื่อสารผ่านดาวเทียม อุปกรณ์การสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งมนุษย์ได้ก้าวสู่แนวคิดโลกไร้พรหมแดนGlobalization Trends ทั้งด้านการค้า [e-Commerce = Electronic Commerce] การเงินการธนาคาร [e-Banking Business] เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และ การศึกษา [Electronic Learning Platform] รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และการพันผ่อนหย่อนใจ ก็อาศัยเครือข่ายสังคมออนไลน์ [สังคมจำลองVirtual Cyberspace Society] (๒.๓) คุณวิทยา เชื่อว่า: ธรรมชาติสร้างทุกสิ่งทุกอย่างมาดีแล้ว ในด้าน จริยศาสตร์ ก็ควรประพฤติปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ [การใช้เหตุผล เกณฑ์มาตรฐานการวัดผลและการประเมินผลStandard Measurements and Evaluations เกณฑ์มาตรฐานความเป็นเลิศThe Best Practice] กฎธรรมชาติก็คือ ศีลธรรมจรรยา ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งใช้ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ ส่วน สุนทรีศาสตร์ เป็นเรื่องของความงดงามตามธรรมชาติ ที่จะสะท้อนความงามตามธรรมชาติออกมา
สรุปว่า ปรัชญาลัทธิจิตนิยม เน้นความเป็นจริงตามธรรมชาติ การศึกษาหาความจริงได้จากการสังเกต สัมผัสจับต้อง และเชื่อในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ [Natural Law] การศึกษาในแนวลัทธิจิตนิยมเน้น วิธีการทางวิทยาศาสตร์The Scientific Method ซึ่งกลายเป็นต้นกำเนิดของวิชาวิทยาศาสตร์
(๓) ลัทธิประสบการณ์นิยมExperimentalism เป็นปรัชญาที่มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ปฏิบัตินิยมPragmatism ปรัชญากลุ่มนี้มีความสนใจในโลกแห่งประสบการณ์ ฝ่ายวัตถุนิยมMaterialism จะเชื่อใน ความเป็นจริงเฉพาะสิ่งที่มนุษย์พบเห็นได้เป็นธรรมชาติที่ปราศจากการปรุงแต่ง เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ [Pure Naturalism = Ultimate Truths] ส่วนประสบการณ์นิยม มิได้หมายถึง สิ่งที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิ่งที่มนุษย์กระทำ คิด และรู้สึก รวมถึงการคิดอย่างใคร่ครวญและการลงมือกระทำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผู้กระทำ [Mind and Actions: ซึ่งคล้ายคลึงกับพุทธศาสนาในเรื่อง อภิสังขาร ๓: ปุญญาภิสังขารอปุญญาภิสังขารอาเนญชาภิสังขาร กับ กรรม ๓: กายกรรมวจีกรรมมโนกรรม] กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นครบถ้วนแล้ว จึงเรียกว่าเป็น ประสบการณ์Experience [ความชำนาญการExpertise หรือ ทักษะSkills] ความเป็นจริงหรือประสบการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเงื่อนไขแห่งประสบการณ์ บุคคลที่เป็นผู้นำของความคิดนี้ คือ วิลเลียม เจมส์ [William James] และ จอห์น ดิวอี้ [John Dewey] ชาวอเมริกัน วิลเลียม เจมส์ มีความเห็นว่า ประสบการณ์และการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนจอห์น ดิวอี้ เชื่อว่า มนุษย์จะได้รับความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆจากประสบการณ์เท่านั้น [Learning by Doing]
ถ้าพิจารณาปรัชญาลัทธิประสบการณ์นิยมในแง่ของสาขาของปรัชญาจะได้ดังนี้ (๓.๑) อภิปรัชญา เชื่อว่า: ความจริงเป็นโลกแห่งประสบการณ์ สิ่งใดที่ทำให้สามารถได้รับประสบการณ์ได้ สิ่งนั้นคือความจริง [การกระทำคือความจริง] (๓.๒) ญาณวิทยา เชื่อว่า: ความรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงมือปฏิบัติ กระบวนการแสวงหาความรู้ก็ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์The Scientific Method [ชอบลองของ] (๓.๓) คุณวิทยา เชื่อว่า: ความนิยมจะเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติ ในด้าน จริยศาสตร์ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างและกำหนดขึ้นมาเอง และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ส่วน สุนทรียศาสตร์ เป็นเรื่องของความต้องการและรสนิยมที่คนส่วนใหญ่ยอมรับกัน
สรุปว่า ปรัชญาลัทธิประสบการณ์นิยม เน้นให้คนอาศัยประสบการณ์ในการแสวงหาความเป็นจริงและความรู้ต่าง ๆ ได้มาจากประสบการณ์ การศึกษาในแนวลัทธิปรัชญานี้เน้นการลงมือกระทำเพื่อหาความจริงด้วยคำตอบของตนเอง
(๔) ลัทธิอัตถิภาวะนิยมExistentialism เป็นลัทธิปรัชญาที่เกิดหลังสุด มีแนวความคิดที่น่าสนใจและท้าทายต่อการแสวงหาของนักปรัชญาในปัจจุบัน [กีรติ บุญเจือ. ๒๕๒๒] Existentialism มีความหมายตามศัพท์ คือ Exist แปลว่า การมีอยู่ เช่น ปัจจุบัน มีมนุษย์อยู่ก็เรียกว่า การมีมนุษย์อยู่ หรือ Exist ส่วน ไดโนเสาร์ไม่มีแล้ว ก็เรียกว่า มันไม่ Exist คำว่าExistentialism จึงหมายความว่า มีความเชื่อในสิ่งที่มีอยู่จริงๆ เท่านั้น The World of Existing) หลักสำคัญปรัชญาลัทธินี้มีอยู่ว่า: การมีอยู่ของมนุษย์มีมาก่อนลักษณะของมนุษย์(Existence Preceding Essence) ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนี้ ขัดแย้งกับหลักศาสนาคริสต์ ซึ่งมีแนวความคิดว่า: พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์และสรรพสิ่งในโลก ก่อนที่จะลงมือสร้างมนุษย์พระเจ้ามีความคิดอยู่แล้วว่ามนุษย์ควรจะเป็นอย่างไร ควรจะมีลักษณะอย่างไร ควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร [วิจารณ์: ให้ผู้ปฏิบัติธรรมเปรียบเทียบเชิงศาสนาเพื่อให้เกิดปัญญาอย่างแท้จริงกับเรื่อง อัคคัญญสูตร คือ กำหนดมนุษย์มาจากความเป็นเทวดามาก่อน แต่ใฝ่ต่ำชอบง้วนดิน กะบิดิน ข้าวสาลี เลยกลับเป็นเทวดาเหมือนเดิมไม่ได้จนทุกวันนี้ ถ้าอยากจะกลับไปอีก ก็ต้องปฏิบัติด้วยอริยมรรค เป็นต้น ฉะนั้น แนวคิดของลัทธินี้ ขัดแย้งกับหลักศาสนาพุทธ เช่นกัน เพราะให้ความสำคัญกับ สัญชาตญาณดิบ พื้นจิตสันดาน จิตไร้สำนึก ที่รอให้มันถูกกระตุ้นสำแดงฤทธิ์ออกมาจากก้นบึ้งของใจ ที่ไร้ระเบียบสังคม ศาสนา ที่มีบทบาทไปควบคุม เลียนแบบอย่างสัญชาตญาณสัตว์ ดังเช่น การทดลองสอนในโรงเรียนแบบ Summer Hill School ที่จังหวัดกาญจนบุรี ถึงมีได้ผลหน้าพอใจ แต่ต้องมีรายงายวิจัยทางการศึกษารับรองผลในระยะยาว ที่มีจะส่งผลกระทบต่อสังคม แต่น่าจะดีกว่าโรงเรียนวัด ไม่รู้เป็นปรัชญาสำนักไหน คงไม่น่าใช่ สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ อย่างแน่นอน] ทั้งหมดเป็นเนื้อหาหรือสาระที่ว่า: ลักษณะของมนุษย์มีมาก่อนการเกิดของมนุษย์ มนุษย์จะต้องอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า หมดเสรีภาพที่จะเลือกกระทำตามความต้องการของตนเองปรัชญาลัทธิอัตถิภาวะนิยมไม่ยอมรับแนวคิดดังกล่าว มีความเชื่อเบื้องต้นว่า: มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความว่างเปล่า ไม่มีลักษณะใดๆ ติดตัวมา ทุกคนมีหน้าที่เลือกลักษณะหรือสาระต่างๆให้กับตัวเอง การมีอยู่ของมนุษย์ [เกิด] จึงมีมาก่อนลักษณะของมนุษย์ หลักสำคัญของปรัชญานี้ จะให้ความสำคัญแก่มนุษย์มากที่สุด มนุษย์มีเสรีภาพในการกระทำสิ่งต่างๆได้ตามความพอใจ และจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เลือก ถ้าพิจารณาลัทธิอัตถิภาวนิยมในแง่สาขาของปรัชญาจะได้ ดังนี้ (๔.๑) อภิปรัชญา ความจริงเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลจะพิจารณา และกำหนดว่าอะไร คือ ความจริง นั่นคือ ต้องมีความสามารถกำหนดรู้ได้ว่า อะไรเป็น สมมติสัจจะ อะไร คือ ปรมัตถสัจจะ เอาเอง (๔.๒) ญาณวิทยา การแสวงหาความรู้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่จะเลือกสรร ตาม ความพร้อมPromptness และ ความปรารถนาVolitions เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ (๔.๓) คุณวิทยา ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกค่านิยมที่ตนเองพอใจด้วย ความสมัครใจSatisfactions ส่วนความงามนั้นบุคคลจะเป็นผู้เลือกและกำหนดเอง Self-Control โดยไม่จำเป็นจะต้องให้ผู้อื่นเข้าใจ
สรุปว่า ปรัชญาลัทธิอัตถิภาวนิยม เป็นปรัชญาที่ให้ความสำคัญแก่มนุษย์ว่า: มีความสำคัญสูงสุด มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถเลือกกระทำสิ่งใดๆได้ตามความพอใจ แต่จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำ การศึกษาในแนวลัทธิปรัชญานี้จะให้ผู้เรียนมีอิสระในการแสวงหาความรู้ เลือกสิ่งต่างๆได้อย่างเสรี มีการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมาเอง แต่ต้องรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
นอกจากนี้ ควรเข้าใจว่า พวกนักวิทยาศาสตร์ นั้น ต้องทำอะไรได้จากความจริงที่สัมผัสได้เท่านั้น โดยอาศัยความสามารถและประสบการณ์ของตนเป็นหลัก ถึงยอมรับความจริงได้ แต่พอมาเจอแนวคิดทางพระพุทธศาสนาแล้ว คนพวกนี้จะปฏิบัติธรรมได้ดีและรวมเร็ว เพราะมีปัญญาดีอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดการขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงไป แค่นั้นเอง
(๔) พุทธมามกะBuddhist เชื่อใน สัทธา ๔ หมายถึง เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม ความเลื่อมใสซาบซึ้งชื่นใจสนิทใจเชื่อมั่นมีใจโน้มน้อมมุ่งแล่นไปตามไปรับคุณความดีในบุคคลหรือสิ่งนั้นๆ ความมั่นใจในความจริง ความดีสิ่งดีงาม และในการทำความดี ไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก ได้แก่ (๑) กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อการกระทำ (๒) วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม (๓) กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว (๔) ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต
นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึง สัทธา ๔ อีกหมวดหนึ่งต่างหาก ได้แก่ (๑) อาคมนสัทธา [อาคมนียสัทธาอาคมสัทธา] ความเชื่อความมั่นใจของพระโพธิสัตว์ อันสืบมาจากการบำเพ็ญสั่งสมบารมี (๒) อธิคมสัทธา [อธิคมนสัทธา] ความเชื่อมั่นของพระอริยบุคคล ซึ่งเกิดจากการเข้าถึงด้วยการบรรลุธรรมเป็นประจักษ์ (๓) โอกัปปนสัทธา [โอกัปปนียสัทธาอธิโมกขสัทธา] ความเชื่อหนักแน่นสนิทแน่วเมื่อได้ปฏิบัติก้าวหน้าไปในการเห็นความจริง (๔) ปสาทสัทธา ความเชื่อที่เป็นเพียงความเลื่อมใสจากการได้ยินได้ฟังพระธรรมของตถาคต
เพราะฉะนั้น มนุษย์มี ภูมิรู้ภูมิธรรมภูมิปัญญา แตกต่างกันตั้งแต่เกิด แต่ตามประวัติความเป็นมาของมนุษย์บนโลกนี้นั้น มนุษย์มีภูมิดั้งเดิมมาจากชั้น อาภัสสรพรหม (ข้อ ๖ ในรูปาวจรภูมิ ๑๖: ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป ชั้นรูปพรหม) หมายถึง จิตวิญญาณที่อยู่ใน ระดับทุติยฌานทุติยฌานภูมิ ที่เรียกว่า อาภัสสรา คือ พวกมีรัศมีสุกปลั่งซ่านไป สัตว์พวกที่อิ่มเอิบบริบูรณ์ถูกต้องด้วยความสุขมีอยู่ สัตว์เหล่านั้น บางคราวเปล่งอุทานในที่ไหนๆ ว่า สุขหนอๆ ดังนี้ เช่นเทพเหล่าอาภัสสรา โดยเปรียบเทียบ ชั้นอาภัสสราเป็นของพวกดาบส นั่นคือ มีจิตประกอบด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปิติสุขเอกัคคตาแห่งสมาธิ อย่างไรก็ตาม เพื่อขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการเจริญฌานสมาบัติ รูปฌาน ๔ ดังเช่น ความว่า: พรหมเทพเทวดา ชื่อว่า อาภัสสรา (พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 108 FILE 37) ดังนี้
ความว่า: พรหมเทพเทวดา ชื่อว่า อาภัสสรา เพราะพรหมเหล่านี้มีรัศมีซ่านออก คือ แผ่ออกไปจากสรีระดุจขาดตกลงเหมือนเปลวไฟแห่งคบไฟ หรือคบเพลิงมีด้าม ฉะนั้น บรรดาอาภัสสรพรหมเหล่านั้น พรหมผู้เจริญทุติยฌานและตติยฌานทั้ง ๒ อย่างอ่อน ในปัญจกนัยเกิดขึ้น ชื่อว่า ปริตรตาภาพรหม และ ปริตตาภาพรหมเหล่านั้น มีอายุประมาณ ๒ กัป [อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี] ที่เจริญทุติยฌาน ตติยฌานอย่างกลางเกิดขึ้น ชื่อว่า อัปปมาณาภาพรหม และ อัปปมาณาภาพรหมเหล่านั้น มีอายุประมาณ ๔ กัป ที่เจริญทุติยฌาน ตติยฌานอย่างประณีตเกิดขึ้น ชื่อว่า อาภัสสราพรหม และ อาภัสสราพรหมเหล่านั้น มีอายุประมาณ ๘ กัป ในที่นี้ทรงถือเอาพรหมเหล่านั้นทั้งหมด โดยการกำหนดอย่างอุกฤษฏ์ ความจริง พรหมเหล่านั้นทั้งหมดมีกายกว้างเป็นอันเดียวกัน ส่วนสัญญาต่างๆ กัน ไม่มีวิตกเพียงมีวิจารบ้าง ไม่มีวิตกวิจารบ้าง
การกลับไปสู่ชั้นอาภัสสราพรหมเดิม (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 410 FILE 22)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก คือ ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธาศีลสุตะจาคะปัญญา เธอได้ฟังว่า เทวดาชั้นอาภัสสรา มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึง ความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นอาภัสสรา เถิด เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้มรรค นี้ปฏิปทา เป็นไป เพื่อความสำเร็จใน ความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นอาภัสสรา
ดังนั้น ในการพัฒนาจิตใจที่เริ่มต้นด้วยการเจริญรูปฌานทั้ง ๔ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยต้องเริ่มจากการรักษาศีลให้บริสุทธิ์เป็นพื้นฐานแห่งกุศลจิตไว้ก่อน ก็พยายามขึ้นให้ถึงฌานที่ ๒ ให้ได้ อย่างน้อยก็เสมอทุนเดิม คือ ได้อยู่ในชั้น อาภัสสราพรหม หรือ เทวดาชั้นอาภัสสรา มิฉะนั้น ก็พัฒนาจิตใจให้ขึ้นไปสูงกว่านั้นได้ยิ่งดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปฌานในชั้น จตุตถฌาน อันจะเป็นฐานสำคัญ ให้ก้าวไปสู่ อริยมรรค ๔ ซึ่งหมายถึง การก้าวไปสู่ความเป็นอริยบุคคลได้ ก็อย่าลดละเว้นการปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ เมื่อเข้าใจด้านหลักการหรือทฤษฎีดีแล้ว ก็คงเหลืออย่างเดียว คือ การลงมือปฏิบัติจริง สร้างสมกุศลบุญบารมีของตนไว้ทุกวัน และหลีกไกลจากปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เกื้อกูลกับการเจริญสมาธิ และมนสิการกรรมฐานให้เกิดการพอกพูนทางปัญญาไหวพริบ ความสำเร็จแห่งอริยมรรค ก็ไม่น่าจะอยู่ไกลเกินถึงในชาตินี้.
|