๑๑. การกำจัดมารอุปสรรคแห่งอริยมรรค How to Eradicate the Destroyers of the Noble Path
By Nithee Siripat Siripat.com and Academiae Network. 2015 ความสำคัญของบทความ
ข้อประพฤติปฏิบัติตามพุทธโอวาทนั้น เป็นหลักสำคัญที่นำมาใช้เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิตของชาวพุทธได้ ซึ่งหมายถึง จิตคือพุทธะ [ผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน] ซึ่งตรงตามแนวทาง มัชฌิมาปฏิทา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่สอดคล้องกับ กุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่ สุจริต ๓ คือ ความประพฤติดี ประพฤติชอบ ได้แก่ (๑) กายสุจริต ๓ ความประพฤติชอบด้วยกาย คือ งดเว้นและประพฤติตรงข้ามกับ ปาณาติบาตอทินนาทานกาเมสุมิจฉาจาร (๒) วจีสุจริต ๔ ความประพฤติชอบด้วยวาจา คือ งดเว้นและประพฤติตรงข้ามกับ มุสาวาทปิสุณาวาจาผรุสวาจาสัมผัปปลาปะ และ (๓) มโนสุจริต ๓ ความประพฤติชอบด้วยใจ คือ อนภิชฌาอพยาบาทสัมมาทิฏฐิ ในบรรดาธรรมทั้งหลายเหล่านี้ คือ เครื่องมือสำคัญที่ผู้ปฏิบัติธรรมหรือผู้บำเพ็ญเพียรภาวนาต้องใช้กำจัด มารอุปสรรแห่งอริยมรรค ที่ต้องใช้ ปัญญา คือ ความรู้คมชัด ประกอบด้วยความเพียร [วิริยะ] และความอดกลั้น [ขันติ] ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น ให้ลุล่วงตกไป ดังนั้น มารอุปสรรค จึงหมายถึง กรรมที่ประกอบด้วยเจตนาที่กระทำสะสมไว้ แสดงผลถึงวิบาในปัจจุบัน กรรมภพ กับ อุปัตติภพ ที่เป็น ฐานะ [ความเป็นไปได้] ของ สภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เราจะรู้เรื่องกรรมในอดีตได้ด้วยการเจริญภาวนา ให้บรรลุถึง (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ข้อ ๑ ในวิชชา ๓) คือ ปัญญากำหนดรู้ความระลึกชาติได้ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่จะบรรลุธรรมนี้ได้ และ (๒) จุตูปปาตญาณ (ข้อ ๒ ในวิชชา ๓) คือ ปัญญาหยั่งรู้และกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม ญาณในวิปัสสนาทั้ง ๒ นี้ คือ เป็นเพียงเครื่องมือในการหยั่งรู้ [ญาณ] เป็น ปัญญาญาณ ที่เกิดขึ้นเฉพาะตน เพื่อนำผลนั้นมาประยุกต์ดัดแปลงเป็นแนวทางในการแก้ไข อุปสรรคปัญหาของชีวิต ที่เรียกว่า ทุกข์ คนที่ไม่มีทุกข์คือคนที่ไม่มาเกิดใน มนุษยโลกเทวโลกพรหมโลก แต่อยู่ใน โลกุตตรภูมิ คือ ชั้นที่พ้นจากโลกหรือระดับจิตใจของพระอริยเจ้า ตัดกรรมหมดกรรม ได้อย่างแน่นอนตลอดไป เพราะเป็นสภาวะที่สิ้นแล้วแห่ง อาสวะ หรือ กิเลส ทั้งปวง ที่เรียกว่า พระนิพพาน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้พวกเราทั้งหลาย มองโลกในแง่ร้าย ที่นิยามว่า ชีวิตคือทุกข์ แต่ประการใด แต่ให้พวกเราทั้งหลายใช้ ปัญญา ในการพิจารณาด้วยเหตุผลในปัจจัยทั้งหลายที่ประกอบกันเป็น กองชีวิตแห่งขันธ์ ๕ คำว่า ทุกข์ คือ มารอุปสรรคแห่งชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกสงบระงับไปได้ด้วย (๑) อำนาจแห่งสมถสมาธิ ที่เรียกว่า รูปฌาน ๔ กับ (๒) อำนาจแห่งญาณในวิปัสสนา ที่เรียกว่า โสฬสญาณญาณ ๑๖ ซึ่งขั้นตอนการฝึกฝนอบรมจิตใจนั้น ต้องประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ และ สัมมสังกัปปะ ซึ่งเป็นความเห็นและความนึกคิดที่ถูกต้อง เป็นสภาวะหรือสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น.
บทความที่ ๑๑ ประจำปี ๒๕๕๘ การกำจัดมารอุปสรรคแห่งอริยมรรค
ผู้บำเพ็ญเพียรเจริญภาวนาส่วนใหญ่นั้น ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคนาๆ ประการ ในชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยให้พิจารณาถึงสมุฏฐานแห่งการเกิดมาเป็นคนว่า มีความเป็นมาอย่างไร ถือมาอยู่ในภพภูมิปัจจุบันนี้ได้ พระอริยเจ้าผู้พรั่งพร้อมด้วย อภิญญา ๖ คือ ความรู้ยิ่งความรู้เจาะตรงยวดยิ่งความรู้ชั้นสูง ได้แก่ (๑) อิทธิวิธิ คือ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ (๒) ทิพพโสต คือ หูทิพย์ (๓) เจโตปริยญาณ คือ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้ (๔) ปุพเพนิวาสานุสติ คือ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ (๕) ทิพพจักขุ คือ ตาทิพย์ และ (๖) อาสวักขยญาณ คือ ญาณทำให้อาสวะสิ้นไป ในญาณ ๕ อย่างแรกนั้น เป็น โลกียอภิญญา ส่วน ข้อสุดท้ายนั้น เป็น โลกุตตรอภิญญา นั้น ท่านจะสามารถชี้ทางที่ถูกต้องในการแก้ไขหรือกำจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ ปัญหาใหญ่ก็อยู่ที่ว่า จะไปเสาะแสวงหาพระอริยเจ้านั้นได้ที่ไหน และยังมีอยู่จริงหรือเปล่า เพราะเห็นแต่สมณะส่งไลน์กันเป็นว่าเล่น แทนที่จะพากันไขกุญแจตู้พระไตรปิฎก และชักชวนกันชี้แนะให้ศึกษารายละเอียดในพระคัมภีร์นี้ เอาประเด็นที่เกื้อกูลการเจริญสมาธิเจริญวิปัสสนา มาพูดคุยกัน ฉะนั้น การบรรลุถึง อภิญญาธรรม [อธิคมสมณธรรม] นั้น ไม่ใช่เรื่องจะทำได้ง่ายๆ เพราะจัดเป็น ปัญญา หมายถึง ความรอบรู้รู้ทั่วเข้าใจรู้ซึ้งความรู้คมชัด ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา หมายถึง ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนา ที่ประกอบด้วย สมถภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา ซึ่งเป็นญาณอันเกิดขึ้นแก่ผู้อาศัย จินตามยปัญญา คือ การทำ โยนิโสมนสิการ ที่สืบเนื่องในตน หรือ ทั้ง (๑) สุตมยปัญญา คือ ปรโตโฆสะ ฟังธรรมจากเสียงผู้อื่นที่เป็นกัลยาณมิตร รวมทั้งการศึกษาศึกษาค้นคว้าความรู้เพิ่มเติม และ (๒) จินตามยปัญญา แล้วปรารภประกอบความเพียรอย่างขะมักเขม้น หมั่นมนสิการในสภาวธรรมทั้งหลาย โดยทำให้มาก อย่างสืบเนื่อง อยู่เนืองๆ เป็นนิตย์ อย่างน้อยน่าจะใช้เวลาประมาณ ๗ ปี ขึ้นไป ถ้าบุญมีวาสนาส่ง ก็ใช้เวลาที่น้อยกว่านี้ แต่บางคนอยู่ใกล้พระอริยสงฆ์ทั้งที ก็ยัง ตามืดบอด ไม่เกิด ดวงตาเห็นธรรม อยู่ด้วยความศรัทธา ปสาทะ เลื่อมใส แต่ไม่มีเหตุผล ไม่ทำตนให้เหมือนเช่นท่าน แถมกันคนอื่นไม่ให้เข้าถึงท่านอีกต่างหาก เข้าทำนอง พระกูของกู กลายเป็นอสรพิษสกัดกั้นคนไม่ให้เข้าถึงความดี เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่อง กรรมของสัตว์ ระหว่าทั้งคนเฝ้าพระและคนมาหาพระ อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์ มีคนเฝ้ากีดกัน โดยเฉพาะสมณะที่มีชื่อเสียง แต่ พระพุทธ กับ พระธรรม นั้น เป็นอิสระ ให้โอกาสเข้าถึงได้ตลอดเวลา เช่น เมื่อเจริญภาวนาขึ้น จนเกิด จิต ถึงพร้อมด้วย ศรัทธาปสาทะ คือ จิตปสาทะ ด้วยความเต็มอิ่มสมบูรณ์ หรือ รู้สึกเกิด ศรัทธาปสาทะปีติปราโมทย์และความสุข ตลอดจนตั้งมั่นเป็น สมาธิ รวมทั้งเตรียมจิตให้พร้อมที่จะก้าวสู่ ภูมิธรรม ที่สูงขึ้นไป คือ เป็น กุศลภาวนา เป็น จิตตภาวนา นั่นคือ การเข้าถึงพระพุทธเจ้าด้วย ตถาคตโพธิสัทธา คือ เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็น พระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง ๙ ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุดบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง
นอกจากนี้ ผู้บำเพ็ญเพียรภาวนายังสามารถเข้าถึง พระรัตนตรัย ได้ด้วย รตนัตตยสัทธา คือ เชื่อในพระรัตนตรัย ด้วยการปฏิบัติตนที่เรียกว่า ปฏิบัติบูชา หมายถึง ประการแรก ตั้งอยู่ในพระพุทธโอวาท คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีหลักใหญ่ ๓ ข้อ คือ (๑) สพฺพปาปสฺสอกรณํ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง (๒) กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำความดีให้เพียบพร้อม (๓) สจิตฺตปริโยทปนํ ทำใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ และประการหลัง บำเพ็ญปฏิบัติบูชา เพื่อบรรลุสมบัติทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ ฉะนั้น คำว่า ปสาทะ เป็นคำที่มีความหมายสำคัญมากในทางศาสนา เพราะเป็นการแสดงนัยถึง ความเลื่อมใส ๑ ความชื่นบานผ่องใส ๑ ความเชื่อถือมั่นใจ ๑ ความรู้สึกยอมรับนับถือ ๑ ความเปิดใจรับ ๑ หรือ อาการที่จิตเกิดความแจ่มใสโปร่งโล่งเบิกบาน ปราศจากความอึดอัดขัดข้องขุ่นมัว โดยเกิดความรู้สึกชื่นชมนิยมนับถือ ต่อบุคคลหรือสิ่งที่พบเห็นสดับฟังหรือระลึกถึง ในที่นี้ หมายถึง พระรัตนตรัย
การมาเกิดในภพภูมิปัจจุบันนี้ ผู้เป็นเจ้าของชีวิตไม่รู้ตัวว่าต้องมาเกิดกับใคร ผู้ที่เป็นพ่อแม่ แสดงเจตนาไม่ได้ก่อนที่จะมาเกิด แม้ปัจจุบันนี้ก็ไม่มีนักวิทยาศาสตร์จะสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ ว่า เจ้าของวิญญาณ คือ ใครก่อนหน้านั้น ที่จะลงมาปฏิสนธิเป็นชีวิตใหม่ในโลกนี้ คนกับสัตว์จึงไม่แตกต่างกันในเรื่องนี้ ผู้เป็นพ่อแม่ก็ได้แค่อธิษฐานให้วิญญาณดีมาเกิดกับตน ทำได้แค่นี้ พระพุทธเจ้าทรงอธิบายเรื่องนี้ ด้วย (๑) กฎแห่งกรรม [กัมมผลสัทธา] คือ ความเชื่อการกระทำและผลของการกระทำ และ (๒) กฎแห่งกรรมของสัตว์ [กัมมัสสกตาสัทธา] คือ ความเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน โดยสรุป คือ ทุกชีวิตมีกรรมและผลวิบากเป็นปัจจัยกำหนดความเป็นไปของชีวิต นั่นคือ (๑) กรรมปัจจัย คือ ปัจจัยโดยเป็นกรรม ที่เรียกว่า เจตจำนง และ (๒) วิปากปัจจัย คือ ปัจจัยโดยเป็นวิบาก ฉะนั้น การกระทำในอดีตส่งผลวิบากถึงความเป็นไปในปัจจุบัน และการกระทำในปัจจุบันส่งผลวิบากถึงความเป็นไปในอนาคต เพราะฉะนั้น การเกิดกรรม จึงเป็นเรื่อง เจตนาสัญเจตนา ของผู้กระทำกรรมนั้นๆ ที่มีมูลฐานจากประสบการณ์หรือนิสัยใจคอที่สะสมมาจากอดีต ที่แสดงถึง (๑) กิเลสตัณหา คือ สภาพเศร้าหมองที่ใฝ่ทะยานอยาก (๒) กิเลสฉันทะ คือ สภาพเศร้าหมองที่พอใจ (๓) กิเลสราคะ คือ สภาพเศร้าหมองที่กำหนัดติดใจ โดยมี อกุศลมูล ๓ เป็นรากเหง้าแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย ได้แก่ (๑) โลภะ คือ ความอยากได้ (๒) โทสะ คือ ความคิดประทุษร้าย (๓) โมหะ คือ ความหลง ซึ่งหมายถึง อกุศลเจตนา [อกุศลธรรม] แต่ธรรมที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามก็มีเช่นกัน ที่เรียกว่า กุศลเจตนา [กุศลธรรม] ที่เรียกว่า กุศลมูล ๓ หมายถึง รากเหง้าของกุศล ต้นตอของความดี ได้แก่ (๑) อโลภะ คือ ความไม่โลภ ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับโลภะ ความคิดเผื่อแผ่ นั่นคือ จาคะ (๒) อโทสะ คือ ความไม่คิดประทุษร้าย ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับโทสะ นั่นคือ เมตตา และ (๓) อโมหะ คือ ความไม่หลง, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับความหลง นั่นคือ ปัญญา โดยปกติทั่วไป คนไม่ชอบคิดอะไรให้ลึกซึ้งละเอียด เพราะมีนิสัยชอบความเพลิดเพลินเจริญใจกับสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของตน ได้แก่ (๑) ด้านร่างกาย (๒) ด้านความปลอดภัย (๓) ด้านการยอมรับทางสังคม (๔) ด้านการยกย่อง และ (๕) ด้านความสำเร็จ ความนึกคิดจะมาพิจารณาตามแนวทาง มัชฌิมาปฏิทาอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่น เป็นทางเลือกสุดท้าย
ดังนั้น ตามข้อสมมตติฐานนี้ จิตของมนุษย์โดยพื้นฐานประกอบด้วย (๑) อกุศลจิต กับ (๒) กุศลจิต และ อกุศลจิต จะมีอำนาจสูงกว่า กุศลจิต เป็นธรรมดา โดยนับตั้งแต่จากในท้องแม่ จนเกิดมา และดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมทางสังคมและภูมิประเทศ หรือเรียกรวมๆ ว่า ธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นตัวหล่อหลอมและขัดเกลานิสัยใจคอ จนกลายเป็นบุคลิกภาพ อุปนิสัย ทัศนคติ ความเชื่อ และการแสดงออกทางพฤติกรรม กล่าวโดยสรุป นับแต่เกิดปฏิสนธิเป็นชีวิต [นามรูปแห่งขันธ์ ๕] สิ่งแวดล้อมแห่งธรรมชาติ ก็มีอิทธิพลต่อระบบชีวิตทันที นั่นหมายความว่า เมื่อมีชีวิตเกิดขึ้นก็มีปัญหาเกิดขึ้นตามหลังมาทันที นั่นคือ ปัญหาอุปสรรค ตามมาแยกออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ (๑) ความบริสุทธิ์ของจิตวิญญาณที่มาเกิด ซึ่งประกอบด้วย จิตวิญญาณของพ่อแม่ ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ที่มี กรรม ต่อกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ถ้าทุกคนเป็นผู้ทรงศีลทรงธรรมอันเป็นสมบัติ วิญญาณที่จะมาเกิด อยู่ในฐานะเป็นไปได้ในระดับเดียวกัน ย่อมจับ คู่แห่งกรรม กันได้ จึงมีเจตนาแจ้งเกิดและรับเกิดต่อกัน ไม่ว่าจะเป็น อกุศลวิบาก หรือ กุศลวิบาก ก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้กันและกัน (๒) สภาพแวดล้อมที่เป็นแดนเกิด ซึ่งประกอบด้วย ครอบครัว ชุมชน สังคม การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ซึ่งทั้งหมดจะมีอิทธิพลต่อการเลี้ยงดู ให้ จิตวิญญาณ เป็นฝ่าย อกุศลธรรม หรือ กุศลธรรม ให้เป็นไปตาม กฎแห่งกรรม ในชาติปัจจุบัน ที่แสดง ผลวิบาก ทันทีในอนาคตของชาตินี้ นั่นคือ การสร้างกรรมใหม่ โดยนับตั้งแต่เกิดจากผู้เป็นแม่ แต่ระหว่างอยู่ในท้องนั้น ยังสร้างกรรมไม่ได้ เพราะที่จำกัด แต่ ขันธ์ ๕ เริ่มเจริญเติบโตตามลำดับ จิต เริ่มรับรู้จากแม่โดยตรง จะบริสุทธิ์หรือขุ่นมัว จิตของแม่ มีอิทธิพลต่อการพัฒนา จิตของเด็ก ในท้องโดยตรง เช่น แม่ชอบเล่นไพ่ ลูกก็จะได้ยินแต่เรื่องในวงไพ่ คำพูดหยาบคาย ภาษาพวกเล่นไพ่ ที่จะฝังอยู่ในความทรงจำของเด็กเรื่อยๆ ไป แต่ถ้าเป็นแม่ที่ใฝ่ในธรรม ทำบุญทำทานเป็นประจำ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี จิตใจแม่เบิกบาน ลูกก็ยอมได้รับอานิสงส์นี้ด้วย จะดีจะชั่วต่อไปนั้น ภูมิรู้ภูมิธรรมภูมิปัญญา ของเด็กที่สะสมมา [สัญญา] จะเป็นตัวกำหนดให้เลือกทำที่ผสมผสานกับผลวิบากกรรมที่ตามมาอีกส่วนหนึ่ง แต่ การสร้างกรรม ในปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลุดพ้นจากกรรมในอดีตได้ คือ ผ่อนหนักให้เป็นเบาในชาตินี้ โดยเฉพาะ การปฏิบัติธรรม ย่อมได้ผลดีนักแล เช่น ถ้าชาตินี้ปฏิบัติภาวนาจนบรรลุถึงอรหันต์ ผลวิบากกรรมจากอดีต ย่อมตามไม่ทัน หมดสิ้นกันในชาตินี้ ตั้งแต่บรรลุมรรคผลแห่งอริมรรคนี้ ที่เหลือต่อไปในอนาคตไม่มี กิเลสกรรมวิบาก เกิดขึ้น คือ มีแต่ กิริยาจิต แห่งอารมณ์พระอรหันต์เท่านั้น ไม่ส่งผลกรรมใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงกิริยาไม่มีเจตนาประกอบในการกระทำ
ในขั้นนี้พอสรุปได้ว่า การมาเกิดใหม่ในแต่ละชาติ ย่อมมี อกุศลธรรม กับ กุศลธรรม ตามมาด้วย เป็นเรื่องของ สังสารทุกข์ ที่เกิดขึ้นใน ภวจักรสังสารจักรสังสารวัฏปัจจยาการจักรปฏิจจสมุปบาทจักร คือ ความทุกข์และสุขที่เกิดสลับกันตาม อาการหมุนวนต่อเนื่องไปแห่งภาวะของชีวิต ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ในหลักปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้น วงจรจะหมุนเวียนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอาการหมุนวน หรือวงกลมอันหมุนวน ยากมากที่จะมีคนหลุดออกจากวงจรนี้ได้ ยกเว้น จะสงบระงับได้ด้วย การเจริญปฏิบัติภาวนาธรรม ซึ่งเป็นภาวะจิตที่เกิดใน อัพยากตธรรม นำด้วย อุเบกขาจิต กับ เอกัคคตาแห่งจิต ซึ่งเป็นจิตที่สะอาด ผ่องใส ปรีดาปราโมทย์ เบิกบาน มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ และบริสุทธิ์ จากรากเหง้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เรียกว่า ปราศจากนิวรณ์ นั่นคือ จิตประภัสสร แต่อย่างไรก็ตาม ในชาติปัจจุบันนี้ ทุกคนต้องเผชิญกับ มารอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ ด้วยกันทุกคน ที่เรียกว่า มาร ๕ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรระลึกเป็นนิตย์ บ่อยๆ เป็นเครื่องเตือนสติได้เป็นอย่างดี เป็นศัตรูโดยตรงต่ออริยมรรค ดังนี้
มาร ๕ หมายถึง สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากคุณความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ สิ่งที่ล้างผลาญคุณความดี ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางบุคคลมิให้บรรลุผลสำเร็จอันดีงาม ได้แก่ (๑) กิเลสมาร มารคือกิเลส กิเลสเป็นมารเพราะเป็นตัวกำจัดและขัดขวางความดี ทำให้สัตว์ประสบความพินาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต นั่นคือ อวิชชาตัณหาอุปาทาน ที่เกิดไม่สิ้นสุดในหลักปฏิจจสมุปบาท ที่ให้ผลแห่งอกุศลกรรม คือ โสกะปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส มีอาการเวียนว่ายตายเกิดไม่สิ้นสุดใน โลกธรรม ๘ คือ มีทั้ง ทุกข์และสุข สลับกัน (๒) ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ นั่นคือ ขันธ์ ๕ เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้งกันเองอยู่ภายใน ไม่มั่นคงทนนาน เป็นภาระในการบริหาร ทั้งแปรปรวนเสื่อมโทรมไปเพราะ ชรา พยาธิ เป็นต้น ล้วนรอนโอกาสมิให้บุคคลทำกิจหน้าที่ หรือบำเพ็ญคุณความดีได้เต็มปรารถนาอย่างแรง อาจถึงกับพรากโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง (๓) อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร อภิสังขารเป็นมาร เพราะเป็น ตัวปรุงแต่งกรรม นำให้เกิด ชาติ ชรา เป็นต้น ขัดขวางมิให้หลุดพ้นไปจาก สังสารทุกข์ ซึ่งเป็นผลมาจาก กิเลสมาร ที่ประกอบด้วย อกุศลมูล ๓ [โลภะโทสะโมหะ] และ มูล ๒ คือ อวิชชาตัณหา ที่ทำให้เกิด อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ (๔) เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร เทพยิ่งใหญ่ระดับสูงสุดแห่งชั้นกามาวจรตนหนึ่งชื่อว่า วสวัตดีมาร ซึ่งครองแดนหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูงสุดแห่งระดับกามาวจร คือ ปรนิมมิตวสวัตดี เพราะเป็นนิมิตแห่งความขัดข้อง คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนอำนาจครอบงำของตน โดยชักให้ห่วงพะวงใน กามสุข ไม่หาญเสียสละออกไปบำเพ็ญคุณความดีที่ยิ่งใหญ่ได้ การอยู่ใต้อำนาจแห่งมารนี้ คือ คนที่มีจิตที่เป็นอกุศลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ย่อมเป็นเหยื่อได้เป็นอย่างดี เพราะมีแนวโน้มจะใฝ่ทางชั่วอยู่แล้ว ส่วนผู้มีกุศลจิต จะเสียท่าก็เพราะมีนิสัยชอบสุขสบาย คิดว่าทำดีเมื่อไหร่ก็ได้ พวกที่จิตใจอ่อนแอ ไม่จริงจังกับชีวิต (๕) มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายเป็นมาร เพราะเป็นตัวการตัดโอกาสที่จะก้าวหน้าต่อไปในคุณความดีทั้งหลาย การหลีกเลี่ยงความตายได้ต้องใช้ ปัญญาปฏิภาณไหวพริบ แยกแยะคุณและโทษเป็น คือ มี สติสัมปชัญญะ เช่น การเลือกกินเลือกอยู่เป็น เพราะความไม่ตายต้องการอาหารเข้าไปค้ำชู ขันธ์ ๕ ให้แข็งแรงบริบูรณ์ อาหารมีทั้งคำข้าวสำหรับร่างกาย คือ อาหารกาย ๑ ได้แก่ กวฬิงการาหาร คือ อาหารคือคำข้าว และ อาหารใจ ๓ คือ อาหารหล่อเลี้ยง นามขันธ์ ได้แก่ (๑) ผัสสาหาร คือ การบรรจบแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา พร้อมทั้งเจตสิกทั้งหลายที่จะเกิดตามมา (๒) มโนสัญเจตนาหาร คือ ความจงใจ เป็นปัจจัยแห่งการทำ พูด คิด ซึ่งเรียกว่า กรรม เป็นตัวชักนำมาซึ่งภพ คือ ให้เกิดปฏิสนธิในภพทั้งหลาย (๓) วิญญาณาหาร คือ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ฉะนั้น อาหาร หมายถึง สภาพที่นำมาซึ่งผลโดยความเป็นปัจจัยค้ำจุนรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย เครื่องค้ำจุนชีวิต สิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดกำลังเจริญเติบโตและวิวัฒน์ได้ แต่สิ่งที่ผลาญชีวิตที่คาดการณ์ได้ยาก คือ อุบัติเหตุภัยพิบัติ ซึ่งมากจากการกระทำและการตัดสินใจ ส่วนใหญ่เพราะความประมาท และ โรคพยาธิ ซึ่งหมายถึง ความเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ ที่ไม่รู้ตัวและรู้ตัว
ในทางธรรมให้ฝึกปฏิบัติตนในเรื่อง อินทรียสังวร เพื่อสู้กับ มาร ทั้ง ๔ จำพวก นั่นคือ สำรวมอินทรีย์ มี สติ ระวังรักษาใจ มิให้ กิเลส คือ ความยินดียินร้ายเข้าครอบงำ เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ [ตาหูจมูกลิ้นกายใจ] นั่นคือ (๑) มีเห็นรูปด้วยตา (๒) มีได้ยินด้วยหู (๓) มีได้กลิ่นด้วยจมูก (๔) มีได้รสด้วยลิ้น (๕) มีกายสัมผัสด้วยกาย และ (๖) มีรู้แจ้งในธรรมารมณ์ด้วยใจ อย่างไรก็ตาม กิเลส ในด่านแรกของการเจริญภาวนาที่นอกเหนือจากการทุศีลนั้น คือ นิวรณ์ หมายถึง (๑) นิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทะความพอใจในกาม ๑ พยาบาทความคิดร้ายขัดเคืองแค้นใจ ๑ ถีนมิทธะความหดหู่และเซื่องซึม ๑ อุทธัจจกุกกุจจะความฟุ้งซ่านและกลุ้มกังวล ๑ วิจิกิจฉาความลังเลสงสัย และ (๒) อกุศลธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะ ทุจริต ๓ หรือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ บรรดากิเลสทั้งหลายเหล่านี้ เป็นตัวทำลาย สมาธิ และ อุเบกขา คือ ไม่สามารถเข้าถึง จตุตถฌานฌานที่ ๔ ได้อย่างสนิท ฉะนั้น จิตจะวกวนอยู่กับแต่เรื่อง อกุศลกรรม จนเกิดความรู้สึกนึกคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนก็เป็นเช่นกัน บั้นทอนความเลื่อมใส ศรัทธาปสาทะ ในพระรัตนตรัย และเกิด อาการไม่ละอายเกรงกลัวต่อบาป [อหิริกะอโนตตัปปะ] นั่นคือ จิตประกอบด้วย กิเลส ๑๐ หมายถึง สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ได้แก่ โลภะความอยากได้ ๑ โทสะความคิดประทุษร้าย ๑ โมหะความหลงความไม่รู้ความเขลา ๑ มานะความถือตัว ๑ ทิฏฐิความเห็นผิด ๑ วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยความเคลือบแคลง ๑ ถีนะความหดหู่ความท้อแท้ถดถอย ๑ อุทธัจจะความฟุ้งซ่าน ๑ อหิริกะความไม่ละอายต่อความชั่ว ๑ อโนตตัปปะความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว ๑
อย่างไรก็ตาม เมื่อหวนพิจารณาถึง มารอุปสรรค ซึ่งเริ่มต้นแต่เกิดจนเติบโตขึ้นมานั้น คำว่า มาเกิด ย่อมหมายถึง ผู้ผูกจิตชีวิตไว้กับ กิเลสกรรมวิบาก ถ้าหมดสิ้น กิเลส ทั้งหมดแล้ว ย่อมไม่มาเกิดในชาติต่อไป นั่นคือ พระอรหันต์ ฉะนั้น คำว่า มาเกิด จึงให้ความหมายถึงในทางติดลบ คือ อกุศลธรรม มากกว่า เพราะจุดมุ่งหมายของการมาเกิดใหม่ คือ การแสวงหาโอกาสบรรลุคุณอันใหญ่ นั่นคือ โลกุตตระ แต่ถ้ายังมีความคิด [เจตนา] ที่สนทางกับ การบรรลุโลกุตตรธรรม แล้ว ย่อมมีชีวิตสืบเนื่อง ชีวิตสันตติ อยู่ในกระแสโลก คือ ภวจักรสังสารจักร ไม่สิ้นสุด ชาติแล้วชาติเหล่า แม้ชีวิตในชาติจะเสวยสุขล้นเหลือเกินมนุษย์ทั่วไปก็ตาม ก็ต้องมีจังหวะมาเกิดใหม่ เพื่อสร้างกรรมทั้งหลาย ที่อาจผสมปนเปกันระหว่าง กรรมดี และ กรรมชั่ว ความแตกต่างในการมาเกิดใหม่นั้น บางคนมาเกิดในภพภูมิที่สูง ย่อมเกิดจาก กุศลกรรม ที่ทำไว้มาก จึงอยู่ในภูมิที่สุคติอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่มีจิตใน อกุศลกรรม ก็ย่อมมาเกิดในภูมิอันมิควร เป็นภูมิแห่งความทุกข์ยาก ทุกข์ทรมาน โดยไม่จำเป็น และไม่น่าจะเกิดขึ้น หาความสงบในชีวิตได้ยาก ทำอะไรก็มีแต่ปัญหาไม่สิ้นสุด วิธีหาทางแก้ไข คือ (๑) มีความเพียรอดทน (๒) มีสติที่บริสุทธิ์ประกอบด้วยสามัญสำนึกและเหตุผลที่ถูกต้อง (๓) มีสัมปชัญญะที่รอบรู้วางเฉยเป็นกลางในอารมณ์ไม่คล้อยตามอย่างไรเหตุผล (๔) มีสมาธิที่บริสุทธิ์ที่มีใจตั้งมั่นในอารมณ์เดียวไม่หลงไม่ลืมอย่างขาดสติ นั่นคือ อธิจิตต์ [จิตตภาวนาอธิจิตตสิกขา] ได้แก่ (๑) สัมมาวายามะมีความตั้งใจเลื่อมใสศรัทธาในการเจริญธรรมแห่ง สัมมัปปธาน ๔ นั่นคือ วิริยารัมภะ คือ ความปรารภประกอบความเพียร (๒) สัมมาสติ มีความตั้งใจเลื่อมใสศรัทธาในการเจริญธรรมแห่ง สติปัฏฐาน ๔ นั่นคือ สติสังวร คือ ความสำรวมระวังด้วยสติ (๓) สัมมาสมาธิ มีความตั้งใจเลื่อมใสศรัทธาในการเจริญธรรมแห่ง รูปฌาน ๔ นั่นคือ จิตตสมาธิ คือ ความตั้งมั่นใน ธรรมสมาธิ ๕ [ปราโมทย์ปีติปัสสัทธิสุขสมาธิ] ที่กล่าวถึงนี้ หมายถึง การกลับมาเกิดใหม่ในชาตินี้ จิตที่พร้อมด้วย กุศลกรรม [สุคติบุญวาสนาความดีความเจริญ] และ อกุศลกรรม [ทุคติบาปความชั่วความเสื่อม] จะมากน้อยแตกต่างกัน ย่อมหมายถึง สังสารทุกข์ เพราะยังอยู่ในกระแสแห่งโลก ที่เรียกว่า โลกธรรม ๘ ที่ประกอบด้วย (๑) สิ่งที่ใคร่ปรารถนา อิฏฐารมณ์ ได้แก่ ลาภได้ลาภ ยสได้ยศ ปสังสาสรรเสริญ สุขความสุข กับ (๒) สิ่งที่ไม่ใคร่ปรารถนา อนิฏฐารมณ์ ได้แก่ อลาภเสื่อมลาภ อยสเสื่อมยศ นินทาติเตียน ทุกข์ความทุกข์ เมื่อมีชีวิตใหม่ในโลกใหม่นี้ ก็ให้ใฝ่ในทางทำดี ไม่ใช่ใฝ่ชั่ว ให้ศึกษาประวัติพระอริยเจ้าสายกัมมัฏฐาน ส่วนใหญ่จะเป็นพระอนาคามี ที่กลับมาเกิดใหม่เป็นชาติสุดท้าย เพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนาให้บรรลุถึง ความตรัสรู้สัมโพธิญาณ ซึ่งมักเกิดในครอบครัวที่เป็นกลางๆ ไม่ชั่วไม่ดีจนเกินไป เช่น ครอบครัวชาวนา ที่ดำเนินชีวิตตามปกติ พระอรหันต์ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากตระกูลมหาเศรษฐี นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ เจ้าของสถานเริงรมณ์ หรือ เจ้าของโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งจะไม่ปล่อยให้ลูกหลานหนีออกมาบวชได้ง่ายๆ เพราะคนเหล่านี้ กิเลส หนากว่าคนสามัญทั่วไป ซึ่งปกติจะร่ำรวยจากการเบียดเบียน หรือ ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นอยู่แล้ว น้อยคนมากที่จะมีจิตใจเมตตา ไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่น หรือ มี สัมมาทิฏฐิ รู้แจ้งในอริยสัจจ์ ๕ เข้าใจในหลักปฏิจจสมุปบาท เห็นเหตุและผลในกาลทั้ง ๓ และเจริญธรรมในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นคือ เป็นสัตบุรุษ ผู้มี สัปปุริสธรรม ดังนี้
สัปปุริสธรรม ๘ หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี ได้แก่ (๑) สทฺธมฺมสมนฺนาคโต ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการ หรือ สัปปุริสธรรม ๗ นั่นคือ ก. สัทธา คือ มีศรัทธา ข. หิริ คือ มีความละอายในการทำชั่ว ค. โอตตัปปะ คือ มีเกรงกลัวในการทำชั่ว ง. พหูสูต คือ เป็นผู้คงแก่เรียน จ. วิริยารัมภะ คือ มีความเพียรอันปรารภแล้ว ฉ. สติ คือ มีสติมั่นคง ช. ปัญญา คือ มีความรอบรู้ (๒) สปฺปุริสภตฺตี ภักดีสัตบุรษ คือ คบหาสมณพราหมณ์ ท่านผู้ประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการข้างต้น เป็นมิตรสหาย (๓) สปฺปุริสจินฺตี คิดอย่างสัตบุรุษ คือ จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น (๔) สปฺปุริสมนฺตี ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ คือ จะปรึกษาการใด ก็ไม่ปรึกษาเพื่อเบียดเบียนตนและ ผู้อื่น (๕) สปฺปุริสวาโจ พูดอย่างสัตบุรุษ คือ พูดแต่คำที่ถูกต้องตาม วจีสุจริต ๔ (๖) สปฺปุริสกมฺมนฺโต ทำอย่างสัตบุรุษ คือ ทำการที่ถูกต้องตาม กายสุจริต ๓ (๗) สปฺปุริสทิฏฺฐี มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ มีสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น (๘) สปฺปุริสทานํ เทติ ให้ทานอย่างสัตบุรุษ คือ ให้ตามหลักสัปปุริสทาน เช่นให้โดยเอื้อเฟื้อทั้งแก่ของที่ตัวให้ ทั้งแก่ผู้รับทาน ให้ของบริสุทธิ์ ให้โดยเข้าใจถึงผลที่จะมีตามมา เป็นต้น
สัปปุริสธรรม ๗ หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี ธรรมของผู้ดี ได้แก่ (๑) ธัมมัญญุตา ความรู้ รู้หลักความจริง (๒) อัตถัญญุตา ความรู้ความมุ่งหมาย (๓) อัตตัญญุตา ความรู้จักตนประพฤติให้เหมาะสม (๔) มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ (๕) กาลัญญุตา ความรู้จักกาลเทศะ (๖) ปริสัญญุตา ความรู้จักกิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ (๗) ปุคคลัญญุตา [ปุคคลปโรปรัญญุตา] ความรู้จักความแตกต่างแห่งบุคคล
ฉะนั้น คำว่า ผู้ดี ก็เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน ซึ่งต้องอยู่ประกอบกับ ความรู้จริงรู้แจ้งวิชชา ซึ่งนัยความหมายนี้ ก็ขึ้นกับเรื่อง กฎแห่งกรรม เช่นเดียวกัน การกระทำในปัจจุบัน คือ สิ่งกำหนดภพภูมิในกาลข้างหน้า พระพุทธเจ้าทรงชี้แนะไม่ให้รอคอยพวก บุญวาสนา หรือ เทพดลบันดาล อะไรทั้งนั้น ให้ พึ่งตนเองสร้างเอาเอง โดยมีความเข้าใจด้วยปัญญายิ่ง [อธิปัญญา] ในหลัก สัมมาทิฏฐิ รู้ลึกซึ้งรอบล้อมตามความเป็นจริง ได้แก่ รู้ในอริยสัจจ์ ๔ รู้เหตุผลในกาลทั้ง ๓ รู้ในหลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นฐานทำให้เกิด สัมมาสังกัปปะ ความนึกคิดระลึกหมายรู้ใน (๑) ความสงัดสงบจากกาม (๒) ความไม่คิดประทุษร้ายใคร (๓) ความไม่เบียดเบียนผู้อื่น ฉะนั้น การกระทำในพฤติกรรมย่อมเป็น กุศลกรรม เพราะมีปัญญาดี ไม่ใช่มีทรามปัญญาเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญใน อธิศีล เพราะมีปัญญาที่ถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะ เห็นคุณและโทษว่าควรหรือไม่สมควรกระทำ คือ เห็นควรใน สัมมาวาจาสัมมากัมมันตะสัมมาอาชีวะ [กุศลกรรมบถ ๑๐ = กายสุจริต ๓วจีสุจริต ๔มโนสุจริต ๓] แล้วต่อยอดเป็น อธิจิตต์ เพราะมีปัญญาแจ้งในธรรม เลื่อมใส ศรัทธาปสาทะ ในพระพุทธโอวาท ไม่ทำชั่วทั้งปวง หมั่นทำความดีทั้งหลาย ทำจิตใจให้บริสุทธิ ผ่องใส เบิกบาน นั่นคือ สัมมาวายามะสัมมาสติสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้น ข้อประพฤติปฏิบัติ [ปฏิปทา] ที่ยากลำบาก และรู้ผลได้ช้า นั่นคือ ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า [ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา] และการเริ่มต้นในการปฏิบัติธรรมนั้น เริ่มด้วยเจตนาที่เป็นกุศลก่อน [กุศลกรรมบถ ๑๐ = กายภาวนาสีลภาวนา] แล้วก้าวมาสู่ จิตตภาวนาสมถภาวนา แล้วค่อยก้าวสู่ ปัญญาภาวนาวิปัสสนาภาวนา ตามลำดับ ถ้าใจไม่มั่นคงถาวรดีพอ ก็ทำได้ไม่ถึงดีที่สุด เกิดอาการธรรมตีกลับ [มารลง] ที่เรียกว่า อรติ คือ ความไม่ยินดี ไม่ใยดี ริษยา [ตรงข้ามกับ มุทิตา] หรือ อนภิรติ คือ ความไม่ยินดี เบื่อหน่าย ถ้าอาการหนักหน่อย คือ เกิดความเบื่อหน่ายที่จะบำเพ็ญเพียรภาวนา หรือหมั่นไส้ผู้บำเพ็ญเพียรภาวนา จนถึงกับลงมือกลั่นแกล้ง เช่น เอาไม้ไปแหย่คนนั่งสมาธิบ้าง เอามดไปปล่อยให้กัดบ้าง สุ่มไฟให้มีควันรบกวนบ้าง หรือ พูดเสียดสีเยาะเย้ยต่างๆ นาๆ ให้เจ็บใจซ้ำใจไปเสียอย่างนั้น [นิยมมากในหมู่นักปฏิบัติธรรม] ในข้อนี้ ผู้กระทำชั่วย่อมได้รับผลชั่วนั้นอย่างแน่นอน [กฎแห่งกรรม] โดยเฉพาะการกระทำไม่เหมาะสมกับ ผู้ทรงศีลทรงธรรม หรือ นักบวชนักพรต เพราะบุคคลเหล่านี้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ [ถ้ารู้ว่าผิดให้ขออโหสิกรรมไว้ปลอดภัยกว่า ไม่เป็นวาทกรรมแห่งเศษกรรม ที่ต้องมาแก้ไขกันในภายหลัง เพราะทำให้ขันธ์ ๕ ไม่หมดจดบริสุทธิ์ ในตอนต้น ท่ามกลาง และตอนปลาย] วิธีแก้คือให้แสดงความยินดีต่อสัตว์ผู้ได้สุข คือ มุทิตาจิต แทนดีกว่ากันเยอะเลย ไม่เจ็บตัวด้วย หรือเจริญธรรมใน ปัตตานุโมทนามัย (ข้อ ๗ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ ที่ตั้งแห่งการทำบุญ ทางทำความดี) คือ ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าภพภูมิหลังของผู้ปฏิบัติธรรมหรือผู้บำเพ็ญเพียรภาวนาจะมาจากภพภูมิใดก็ตาม ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความศรัทธาปสาทะ ในคำสอนพระศาสดาใน กฎแห่งกรรม นั้น ย่อมนำมาใช้ในการแก้กรรมที่ฝ่ายอกุศลได้ โดยเริ่มทำ กุศลกรรม ให้มากยิ่งขึ้น และเจริญภาวนาทั้งใน สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ทำให้มากๆ ทำให้ถึงที่สุดแห่งชีวิต อย่ามาทำเล่นๆ ด้วย ประมาทในพระธรรม หรือ ประมาทในพระรัตนตรัย เป็น กรรม เสียเปล่าๆ ทำแล้วไม่ได้ดีอะไร อย่าไปทำ มีคนชั่วบางคนพูดจาจาบจ้วงพระศาสดา ว่ามีปัญญาประมาณใด เพราะพวกนี้คิดว่า ตนฉลาดมาก ก็ให้อยู่ในสังสารจักรต่อไป ไม่ได้เดือดร้อนต่อพุทธบริษัททั้งหลายแต่ประการใด เพราะพวกชนเหล่านี้ไม่รู้จริง พระพุทธองค์ทรงให้พิจารณาถึง กรรมของสัตว์ [กัมมัสสกตา] เกินที่จะแก้ไขได้ ให้ปล่อยไปตามกรรม มิฉะนั้น ฝ่ายเราจะเป็นฝ่าย เสียเวลาเสียธรรม เสียเอง
ประการสุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนานั้น ต้องต่อสู้กับ มารอุปสรรค อย่างต่อเนื่องในกาลทั้ง ๓ กรรมในอดีตยังส่งผลมาถึงปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันอย่าสร้าง กรรมชั่ว ให้เกิดขึ้นเพิ่มเติม ให้สร้างแต่ กรรมดี ทดแทน ส่วนเวลาที่เหลือ คือ การเจริญสมาธิวิปัสสนา ให้เต็มที่ ให้จิตปราศจากนิวรณ์และประกอบด้วยปัญญา อย่างมีสติสัมปชัญญะ และ หมั่นประกอบด้วยความเพียร การต่อสู้กับ มารอุปสรรค ถ้าไม่เข้าใจถึงธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิต ขันธ์ ๕ คือ กองทุกข์แห่งชีวิต ย่อมทำให้สับสนในการดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้องตามแนวทาง มัชฌิมาปฏิทาอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยเฉพาะการเกิดอาการเบื่อหน่ายในการทำความดี เนื่องจากคาดหมายเอาผลให้เกิดทันตา [กิเลสตัณหา] เพื่อแก้ไขปัญญาชีวิต เมื่อไม่ได้ดังใจ ก็เกิดความฟุ้งซ่าน ขาดสติสัมปชัญญะ ทำให้ประมาทในพระรัตนตรัย อย่างไม่มีเหตุผลได้เหมือนกัน ให้พึงสำรวมระวังในเรื่องนี้ ความเมตตาจากอริยบุคคลนั้น มีได้ในบางโอกาสเท่านั้น ไม่ใช่เรื่อยเปื่อยไม่สิ้นสุด ไม่รู้จักประมาณตน ว่าสมควรเหมาะสมมากแค่ไหน จนขาดสัมมาคารวะ [ความเคารพในพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ไตรสิกขาอัปปมาทะปฏิสันถาร (การรับรองต้อนรับ)] ในฐานะที่ควรจะเป็น คือ กลายเป็นขี้กากลุกลาม เลยเถิดออกไปอยู่นอกเขต สัปปุริสธรรม ฉะนั้น กระบวนการนี้ ก็เป็นการสร้างกรรมแห่งอกุศลธรรมเช่นกัน กรรมใหม่ ทั้งหลายนั้น อุบัติขึ้นตลอดเวลา คือ กายกรรม ๓วจีกรรม ๔มโนกรรม ๓ [กุศลกรรมบถ ๑๐ และ อกุศลกรรมบถ ๑๐] ขึ้นกับว่า มีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันกิเลสทั้งหลายหรือไม่ [อินทรียสังวรสติสังวร] มีช่วงที่พักผ่อน คือ การนอน เท่านั้น คล้ายอยู่ใน ฌานสมาธิ ที่จิตอยู่ใน ภวังค์ คือ จิตยังไม่แสดงเจตนาในการสร้างกรรม จิตที่เป็นพื้นอยู่ระหว่างปฏิสนธิและจุติ จิตที่เป็นองค์แห่งภพ [รอเกิดใหม่เป็นวิถีจิต จิตในกระแสวิถีที่เกิดตามเจตนาเป็นกรรมต่างๆ] ซึ่งเป็นได้ทั้งใน จิตขณะนอนหลับ กับ จิตในขณะตื่น ที่เกิดสลับกับ วิถีจิต กับ ตกภวังค์ ซึ่งเทียบเคียงกับ จิตประภัสสร อันเกิดจากจตุตถฌานสืบเนื่องจากการปฏิบัติ นั่นคือ ยังไม่เกิดกรรมจริงๆ แต่ จิต ยังสามารถแสดงอาการได้เป็น ความฝัน ที่เป็นไปตาม สัญญาเดิม [ความจำได้หมายรู้] หรือ สัญญา ที่ก่อตัวต่อยอดขึ้นใหม่ จนมีสภาพใกล้เคียงกับ ญาณทัสสนะ [ฝันแม่น] แต่อย่าลืมว่า ผู้ปฏิบัติธรรมจนจิตปราศจากนิวรณ์ดีแล้ว ย่อม ไม่ฝัน เพราะความฝันเป็นอาการฟุ้งซ่านของจิต เป็นเหตุปัจจัยร่วมกันระหว่าง นามรูป [อุปาทานขันธ์ ๕] ที่เกิดขึ้นภายใน อินทรีย์ ๖ [อายตนะภายใน] ที่ยังไม่เชื่อมโยงโดยตรงกับ อารมณ์ ๖ [อายตนะภายนอก] เพราะจิตยังอยู่ใน ภวังค์ ขณะนอนหลับ ไม่ใช่ จินตนาการ ที่เกิดจากการใช้เหตุผลปัญญาความรู้ ที่เกิดขึ้นจริงในกระบวนการคิดนอกความฝันที่อยู่ในอาการนอนหลับ เพราะฉะนั้น คำว่า ผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน [จิตแห่งพุทธะ] จึงเป็นกระบวนการคิดที่สามารถกำจัดระงับบรรดา มารอุปสรรคแห่งอริยมรรค ทั้งหลายได้จริง ซึ่งหมายถึงการเจริญธรรมใน อริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยประการฉะนี้.
|