๒๑. ต้นกำเนิดแห่งความไม่รู้จริง The Origin of Ignorance
By Nithee Siripat Siripat.com and Academiae Network. 2015 ความสำคัญของบทความ
ต้นกำเนิดของความไม่รู้จริงในอริยสัจจ์ ๔ กาลทั้ง ๓ และปฏิจจสมุปบาท ๑๒ นั้น นำมาซึ่งความหลงขาดสติในการพิจารณาธรรมอันเป็นความจริงในชีวิต นั่นคือ อวิชชาโมหะ ซึ่งหลายคนมองข้ามความสำคัญในประเด็นดังกล่าวนี้ไปด้วยความประมาท ทำให้มองไม่เห็น รากเหง้าแห่งอกุศล [อกุศลมูล ๓] ได้แก่ โลภะโทสะโมหะ ซึ่งเป็นที่มาของ อวิชชา หรือ อสัมปชัญญะ คือ ความไม่รู้ไม่เห็น มุฏฐสัจจะ คือ การอยู่อย่างขาดสติไม่มีสติระลึกตามไปไม่ได้ระลึกย้อนไปก็ไม่ได้นึกไม่ออกจำไม่ได้ฟั่นเฟือนหลงลืมหลงเลือนหลงใหลไปหลงพร้อม นั่นคือ สมฺโมหวิหาโร แปลว่า อยู่ด้วยความหลง [สัมโมหะหลงใหล ปโมหะความลุ่มหลง] จนถึงขั้น อสัมโพธะ [ไม่รู้ตามเป็นจริง] หรือ อัญญาณ [ความไม่รู้ = อโยนิโสมนสิการ] ในขั้นสุดท้าย คือ ความโง่เขลาเข้าครอบงำกลุ้มรุมจิตด้วย ปริยุฏฐานกิเลส คือ เหล่าบรรดานิวรณ์ทั้งหลายเข้าปิดกั้นปัญญาไม่ให้เข้าถึงอกุศลความดีทั้งหลาย คือ เห็นกุศลเป็นอกุศล ไม่ยอมรับสภาพที่เจริญในสุคติ หมกมุ่น เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน อยู่อย่างน่าสมเพช ในความเสื่อมทางจิตใจด้วยธรรมเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ก็เพราะความไร้รู้จริงนี้เอง ในการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายในขั้นสุดท้าย คือ การสงบระงับดับ อวิชชาแห่งกิเลสอาสวะ การจะเข้าถึงภาวะที่ปลอดภัยจากอกุศลธรรมนี้ได้ ต้องเจริญด้วยปัญญาแห่งญาณในภูมิแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน นั่นคือ การพิจารณาจนเป็นธรรมตามเป็นจริง (๑) อวิชชามีลักษณะ ๒๕ ประการ กับ (๒) ทุกข์ในอาการ ๔๐ เพราะ อวิชชา เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ที่เกิดขึ้นวงเวียนของปฏิจจสมุปบาทจักร [อนุโลมปฏิจจสมุปบาท = พิจารณาสาเหตุแห่งทุกข์] คือ อวิชชาตัณหาอุปาทาน ที่ส่งผลวิบากในอกุศลจิต คือ โสกะปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส [ความโศกความคร่ำครวญทุกข์โทมนัสและความคับแค้นใจ] เพราะความรู้ไม่เท่าทันในกิเลส ฉะนั้น ในการคิดสืบหาต้นเหง้าของสาเหตุแห่งทุกข์ คือ อวิชชา นั้น จึงเป็นกระบวนการคิดที่ถูกวิธีโดย โยนิโสมนสิการ เป็นความนึกคิดที่ครอบคลุมปัญหาตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนความ พิจารณาให้เห็นทุกแง่มุมในทุกมิติองศาของปัญหา ให้เห็นอุบายทางเลือกที่ประกอบอยู่ในภาวะที่เจริญและเสื่อม เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดที่จะทำได้ การมองข้ามความสำคัญในรายละเอียดของปัญหาเพียงเล็กน้อย อาจนำมาซึ่งความผิดพลาดในกระบวนการคิดแก้ไขปัญหา คือ ทุกข์ เพราะเกิดความประมาท ไม่ประกอบด้วยเหตุผลและปัญญาในการพิจารณาธรรมทั้งหลาย [อโยนิโสมนสิการ] นั่นคือ ความไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ ที่หมายถึง อินทรียสังวรสติสังวร เพราะฉะนั้น อวิชชา เป็นอกุศลธรรมที่เป็นเป้าหมายสำคัญยิ่งในการประพฤติปฏิบัติธรรมที่จะสงบระงับในขั้นสุดท้ายอันเป็น มิจฉาทิฏฐิ ให้กลับกลายเป็น สัมมาทิฏฐิ แห่งอริยมรรค.
บทความที่ ๒๑ ประจำปี ๒๕๕๘ ต้นกำเนิดแห่งความไม่รู้จริง
ในธรรมชาติของการค้นหาความจริงแห่งชีวิตนั้น ต้องประกอบด้วย (๑) ความสงสัย กับ (๒) ความอยากรู้อยากเห็น เพื่อหาคำตอบที่เหมาะสมที่สุดและดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในขณะนั้น คำว่า ความสงสัย นั้น ไม่ใช่นัยของความหมาย ความระแวงสงสัย ซึ่งเป็นเรื่องความไม่ไว้วางใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือความไม่เชื่อใจทำให้ระแวงสงสัยในพฤติกรรมนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมหรือการกระทำที่แสดงเจตนาที่แฝงมาด้วย เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่ในการถอดรหัสความหมายแฝงที่แนบมากับการกระทำ นั่นคือ ความเชื่อความนึกคิดความคิดเห็นทัศนคติเจตจำนง [ในทางธรรมหมายถึง พื้นจิตสันดาน คือ กิเลสที่หมักดองอยู่ในอุปนิสัยสันดาน] ที่แสดงนัยถึง วิสัยทัศน์โลกทัศน์มุมมองกระบวนทัศน์ ของบุคคลที่ส่งข่าวสารหรือสารสนเทศมาถึงบุคคลฝ่ายผู้รับสารนั้นๆ ที่เรียกว่า กระบวนการสื่อสารระหว่างบุคคล ฉะนั้น การที่จะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดในใจของผู้อื่นได้ดีนั้น บุคคลนั้นจะต้องเข้าใจจิตหรือพื้นจิตสันดานของตนได้เป็นอย่างดี คือ รู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมภายในตนเองดีก่อน ก่อนที่จะเข้าบุคคลอื่นหรือธรรมชาติแห่งสรรพสิ่งรอบข้างได้ดี ถ้าตัวเองยังไม่รู้ตัวเอง แล้วจะไปรู้คนอื่นได้ดีอย่างไร [อยากรู้อยากเห็นโลกภายนอกก่อนโดยไม่รู้สภาพร่างกายจิตใจตนเอง คือ กระบวนการรู้แบบโลกียธรรม เพื่อเอาชนะอำนาจธรรมชาติในเชิงลัทธิวัตถุนิยมกับลัทธิบริโภคนิยม] เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติธรรม จึงเป็นกระบวนการค้นคิดสืบหาความจริงภายในจิตสันดานของตนเองอย่างละเอียดลึกซึ้ง จนรู้เห็นเข้าใจธรรมชาติพลังทางจิตวิญญาณที่แท้จริงของตนเอง ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติได้เช่นกัน ที่เรียกว่า อุตตริมนุสสธรรม หมายถึง ธรรมวิเศษ คุณวิเศษ คุณพิเศษ ธรรมยวดยิ่งของมนุษย์ ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง ธรรมล้ำมนุษย์ ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาบัติ มรรค ผล หรือ อธิคมธรรม หมายถึง ธรรมขั้นบรรลุผลแห่งการปฏิบัติ เช่น ฌาน อภิญญา มรรค ผล นั่นเอง ในการปฏิบัติธรรมวิเศษดังกล่าวนี้ เป็นปฏิปทาที่ปฏิบัติได้ยาก และรู้ผลได้ยาก ที่เรียกว่า ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา คือ ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า จะไปเร่งให้ได้ดังใจนึกนั้น จึงเป็นเรื่องยาก และทำให้ผู้ปฏิบัติภาวนานั้น เกิดความท้อแท้ถดถอยในความตั้งมั่นในอริยมรรค แทนที่จะเกิดปฏิเวธรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลาย [กุศลธรรมอกุศลธรรมอัพยากตธรรม] กลับเสื่อมถอยพากันถอยหลังลงคลอง เกิดอาการวิปลาสทั้ง ๔ ได้แก่
วิปัลลาส ๔วิปลาส ๔ หมายถึง ความรู้เห็นคลาดเคลื่อน ความรู้เข้าใจผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง ซึ่งนับเป็นความผิดพลาดในทิฏฐิเป็นหลัก โดยวิปลาส มี ๓ ระดับ ดังนี้ (๑) สัญญาวิปลาส คือ วิปลาสด้วยอำนาจสำคัญผิด สัญญาคลาดเคลื่อน หมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง เช่น คนตกใจเห็นเชือกเป็นงู (๒) จิตตวิปลาส คือ วิปลาสด้วยอำนาจคิดผิด จิตคลาดเคลื่อน ความคิดผิดพลาดจากความเป็นจริง เช่น คนบ้าคิดเอาหญ้าเป็นอาหาร (๓) ทิฏฐิวิปลาส คือ วิปลาสด้วยอำนาจเห็นผิด ทิฏฐิคลาดเคลื่อน ความเห็นผิดพลาดจากความเป็นจริง โดยเฉพาะเชื่อถือไปตาม สัญญาวิปลาส หรือ จิตตวิปลาส นั้น เช่น มี สัญญาวิปลาส เห็นเชือกเป็นงู แล้วเกิด ทิฏฐิวิปลาส เชื่อหรือลงความเห็นว่าที่บริเวณนั้นมีงูชุม หรือมี จิตตวิปลาส ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีผู้สร้าง จึงเกิด ทิฏฐิวิปลาส คือ ลงความเห็นผิดว่า แผ่นดินไหวเพราะเทพเจ้าบันดาล
ฉะนั้น วิปลาส ๓ ระดับนี้ ที่เป็นพื้นฐาน เป็นไปใน ๔ ด้าน ดังนี้ (๑) วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง (๒) วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข (๓) วิปลาสในสิ่งที่ไม่เป็นตัวตน ว่าเป็นตัวตน (๔) วิปลาสในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม
ในอาการทางจิตใจที่เป็น ความวิปลาส นี้ ยังเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรื่อง อคติ ๔ เช่นกัน ดังนี้
อคติ ๔ หมายถึง ฐานะอันไม่พึงถึง ทางความประพฤติที่ผิด ความไม่เที่ยงธรรม ความลำเอียง ได้แก่ (๑) ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะชอบ (๒) โทสาคติ คือ ลำเอียงเพราะชัง (๓) โมหาคติ คือ ลำเอียงเพราะหลง พลาดผิดเพราะเขลา (๔) ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะกลัว
เพราะฉะนั้น ทั้ง วิปลาส ๔ กับ อคติ ๔ รวมกันทำให้เกิด อุปาทาน ๔ ดังนี้
อุปาทาน ๔ หมายถึง ความยึดมั่น ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส ความยึดติดอันเนื่องมาแต่ตัณหา ผูกพันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ได้แก่ (๑) กามุปาทาน คือ ความยึดมั่นในกาม นั่นคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าพอใจ (๒) ทิฏฐุปาทาน คือ ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี นั่นคือ ความเห็น ลัทธิ หรือ หลักคำสอนต่างๆ (๓) สีลัพพตุปาทาน คือ ความยึดมั่นในศีลและพรต นั่นคือ ถือว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิ พิธีต่างๆ ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยสักว่าทำสืบๆ กันมา หรือ ปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล (๔) อัตตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน นั่นคือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน ที่จะได้ จะเป็น จะมี จะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลาย หรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ได้ ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวง อันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วนๆ
เมื่อทำการวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นให้ละเอียดประณีตด้วยหลักปฏิจจสมุปบาท จะเห็นว่า อุปาทาน ๔ เกิดจากสาเหตุแห่ง ตัณหา ๓ คือ ความทะยายอยากด้วยความใคร่ความติดใจในกิเลสตัณหานั่นเอง ดังนี้
ตัณหา ๓ หมายถึง ความทะยานอยากอันเกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่ (๑) กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้กามคุณ คือสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้งห้า หรือ กามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส (๒) ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในภพ ความอยากในภาวะของตัวตนที่จะได้ จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากเป็น อยากคงอยู่ตลอดไป ความใคร่อยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ (๓) วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในวิภพ ความอยากในความพรากพ้นไปแห่งตัวตนจากความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ปรารถนา อยากทำลาย อยากให้ดับสูญ ความใคร่อยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ
เพราะฉะนั้น ตัณหา ๓ เกิดจากสาเหตุที่สืบเนื่องมาจาก อวิชชา ๔ กับ อวิชชา ๘ อันเกิดจากอดีต ดังนี้
อวิชชา ๔ หมายถึง ความไม่รู้แจ้ง ไม่รู้จริง นั่นคือ ไม่รู้ในอริยสัจจ์ ๔ ได้แก่ (๑) ทุกฺเข อญฺญาณํ ไม่รู้ในทุกข์ (๒) ทุกฺขสมุทเย อญฺญาณํ ไม่รู้ในทุกขสมุทัย (๓) ทุกฺขนิโรเธ อญฺญาณํ ไม่รู้ในทุกขนิโรธ (๔) ทุกฺขนิโรธคามินิยา ปฏิปทาย อญฺญาณํ ไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
อวิชชา ๘ หมายถึง ความไม่รู้แจ้ง ไม่รู้จริง นั่นคือ ไม่รู้ในอริยสัจจ์ ๔ กาลทั้ง ๓ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ได้แก่ (๑) ไม่รู้ในทุกข์ (๒) ไม่รู้ในทุกขสมุทัย (๓) ไม่รู้ในทุกขนิโรธ (๔) ไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (๕) ไม่รู้ในส่วนอดีต (๖) ไม่รู้ในส่วนอนาคต (๗) ไม่รู้ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต (๘) ไม่รู้ในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันจึงเกิดมีขึ้นตามหลักปฏิจจสมุปบาท
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า มูลเหตุใหญ่แห่งทุกข์ [วิปลาส ๔ อคติ ๔ และ อุปาทาน ๔] เกิดจาก ตัณหา ๓ คือ ความทะยานอยาก กับ อวิชชา ๔อวิชชา ๘ คือ ความไม่รู้จริง เป็นสำคัญ แต่ รากเหง้าแห่งทุกข์ นั้น มากจาก อกุศลมูล ๓รากเหง้าแห่งอกุศล คือ โลภะโทสะโมหะ นั่นคือ โลภ [ราคะ]โกรธหลง [อวิชชา] ซึ่งเป็นองค์ประกอบใน กิเลส ๑๐นิวรณ์ ๕อุปกิเลส ๑๖อนุสัย ๗สังโยชน์ ๑๐ ดังนี้
กิเลส ๑๐ หมายถึง สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง หรือ กิเลสวัตถุ คือ สิ่งก่อความเศร้าหมอง ได้แก่ (๑) โลภะ คือ ความอยากได้ (๒) โทสะ คือ ความคิดประทุษร้าย (๓) โมหะ คือ ความหลง ความไม่รู้ ความเขลา (๔) มานะ คือ ความถือตัว (๕) ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด (๖) วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ความเคลือบแคลง (๗) ถีนะ คือ ความหดหู่ ความท้อแท้ถดถอย (๘) อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน (๙) อหิริกะ คือ ความไม่ละอายต่อความชั่ว (๑๐) อโนตตัปปะ คือ ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว
นิวรณ์ ๕ หมายถึง สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี อกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมองและทำปัญญาให้อ่อนกำลัง ได้แก่ (๑) กามฉันทะ [ราคะ] คือ ความพอใจในกาม ความต้องการกามคุณ (๒) พยาบาท คือ ความคิดร้าย ความขัดเคืองแค้นใจ (๓) ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่และเซื่องซึม (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ ความกระวนกระวายกลุ้มกังวล (๕) วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย [หมายเหตุ: เข้าตรวจสอบภาวะจิตนี้ได้ที่เว็บไซต์ Siripat.Com]
อุปกิเลส ๑๖ หมายถึง โทษเครื่องเศร้าหมอง สิ่งที่ทำจิตต์ใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก เรียกอีกอย่างว่า จิตตอุปกิเลส ได้แก่ (๑) อภิชฌาวิสมโลภะ คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร (๒) พยาบาท คิดร้ายเขา (๓) โกธะ ความโกรธ (๔) อุปนาหะ ความผูกโกรธ (๕) มักขะ ความหลู่ความดีของผู้อื่น (๖) ปลาสะ ความตีเสมอ (๗) อิสสา ความริษยา (๘) มัจฉริยะ ความตระหนี่ (๙) มายา มารยา (๑๐) สาเถยยะ ความโอ้อวดหลอกเขา (๑๑) ถัมภะ ความหัวดื้อกระด้าง (๑๒) สารัมภะ ความแข่งดีไม่ยอมลดละ (๑๓) มานะ ความถือตัวทะนงตน (๑๔) อติมานะ ดูหมิ่นเขา (๑๕) มทะ ความมัวเมา (๑๖) ปมาทะ ความประมาทละเลยเลินเล่อ [หมายเหตุ: เข้าตรวจสอบภาวะจิตนี้ได้ที่เว็บไซต์ Siripat.Com]
อนุสัย ๗ หมายถึง กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ได้แก่ (๑) กามราคะ คือ ความกำหนัดในกาม ความอยากได้ติดใจในกาม (๒) ปฏิฆะ คือ ความขัดใจ ความหงุดหงิดขัดเคือง คือ โทสะ (๓) ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด การยึดถือความเห็น เอาความคิดเห็นเป็นความจริง (๔) วิจิกิจฉา คือ ความลังเล ความสงสัย (๕) มานะ คือ ความถือตัว (๖) ภวราคะ คือ ความกำหนัดในภพ ความอยากเป็น อยากยิ่งใหญ่ อยากยั่งยืน (๗) อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง คือ โมหะ
สังโยชน์ ๑๐ หมายถึง กิเลสอันผูกใจสัตว์ ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล ได้แก่ ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สังโยชน์เบื้องต่ำ เป็นอย่างหยาบ เป็นไปในภพอันต่ำ (๑) สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นตน เป็นต้น (๒) วิจิกิจฉา คือ ความสงสัย ความลังเล ไม่แน่ใจ (๓) สีลัพพตปรามาส คือ ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงายเห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร (๔) กามราคะ คือ ความกำหนัดในกาม ความติดใจในกามคุณ (๕) ปฏิฆะ คือ ความกระทบกระทั่งในใจ ความหงุดหงิดขัดเคือง ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สังโยชน์เบื้องสูง เป็นอย่างละเอียด เป็นไปแม้ในภพอันสูง (๖) รูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต ความปรารถนาในรูปภพ (๗) อรูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม ความปรารถนาในอรูปภพ (๘) มานะ คือ ความสำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (๙) อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน (๑๐) อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง ความหลง
โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า โลภะราคะ ๑ โทสะพยาบาทปฏิฆะ ๑ อวิชชาโมหะ ๑ จะปรากฏอยู่ในอกุศลธรรมทั้งหมด การกำจัดระงับ อกุศลมูล ๓ นี้ รวมทั้งสัมปยุตตธรรมที่เหลือทั้งหมดนั้น จึงเป็นประเด็นภาระสำคัญในการปฏิบัติธรรม นั่นคือ ไตรสิกขา ได้แก่ อธิปัญญาสิกขาอธิสีลสิกขาอธิจิตตสิกขา อันหมายถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ [สัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปปะสัมมาวาจาสัมมากัมมันตะสัมมาอาชีวะสัมมาวายามะสัมมาสติสัมมาสมาธิ] ที่ต้องถือปฏิบัติใน อริยมรรค ๔มัคคญาณ กับ อริยผล ๔ผลญาณ อย่างจริงจังในภูมิแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งเรียกว่า โลกุตตรปัญญาโลกุตตรธรรม โดยเฉพาะอย่าง อกุศลธรรมสำคัญ คือ อวิชชาโมหะ อันเป็นปฏิปักษ์ธรรมกับ ปัญญาความรู้คมชัด หรือ อสัมโมหะความไม่หลง โดยให้พิจารณาตามหลัก อนุโลมปฏิจจสมุปบาท [อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ = โสกะปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส] ในอันดับถัดไปให้พิจารณาถึงอาการลักษณะของความไม่รู้จริงจำนวน ๒๕ ประการ ดังนี้
อวิชชามีลักษณะ ๒๕ ประการ [องค์แห่งอวิชชา] ได้แก่ (๑) อัญญาณ ความไม่หยั่งรู้ด้วยญาณ [ญาณปรีชาหยั่งรู้] (๒) อทัสสนะ ความไม่เห็นด้วยญาณทัสสนะ [ทัสสนะความเห็น] (๓) อนภิสมัย ความไม่ตรัสรู้ [อภิสมัยความตรัสรู้] (๔) อนนุโพธะ ความไม่ตรัสรู้ตาม [อนุโพธะความตรัสรู้ตาม] (๕) อสัมโพธะ ความไม่ตรัสรู้พร้อม [สัมโพธะความตรัสรู้พร้อม] (๖) อัปปฏิเวธะ การไม่แทงตลอด [ปฏิเวธะการแทงตลอด] (๗) อสังคาหณา ความไม่ถือเอาให้ถูกต้อง [สังคาหณาความถือเอาถูกต้อง] (๘) อปริโยคาหณา ความไม่หยั่งโดยรอบคอบ [ปริโยคาหณาความหยั่งโดยรอบคอบ] (๙) อสมเปกขนา ความไม่พินิจ [สมเปกขนาความพินิจ] (๑๐) อปัจจเวกขณา ความไม่พิจารณา [ปัจจเวกขณาความพิจารณาทบทวน] (๑๑) อัปปัจจักขกรรม ความไม่รู้ในกรรมของตน [กัมมผลสัทธากฎแห่งกรรม] (๑๒) ทุมมิชฌะ ความทรามปัญญา [สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ อธิปัญญาปัญญาอันยิ่ง] (๑๓) พาลยะ ความโง่เขลา [วิสารทะฉลาดชำนาญ ปฏิภาณความคิดทันการ] (๑๔) อสัมปชัญญะ ความไม่รู้ทั่วพร้อม [สัมปชัญญะความรู้ทั่วพร้อม] (๑๕) โมหะ ความหลง [ปัญญา ความรอบรู้ความรู้ชัด] (๑๖) ปโมหะ ความลุ่มหลง [อวิกเขปะความไม่ฟุ้งซ่าน เอกัคคตาจิตตสมาธิ] (๑๗) สัมโมหะ ความหลงใหล [อสัมโมหสัมปชัญญะรู้ชัดว่าไม่หลง] (๑๘) อวิชชา รู้สิ่งที่ไม่ควรรู้ [วิชชาความรู้แจ้ง อภิญญาความรู้ยิ่งยวด] (๑๙) อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชาให้จมลงในวัฏฏะ [วิวฏะความพ้นจากวัฏฏะ] (๒๐) อวิชชาโยคะ โยคะคืออวิชชาให้ประกอบไว้ในวัฏฏะ [วิราคะความไม่ติดพันเป็นอิสระ] (๒๑) อวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชาด้วยอำนาจการละยังไม่ได้ [นิโรธความดับกิเลสและทุกข์] (๒๒) อวิชชาปริยุฏฐาน การกลุ้มรุมจิตคืออวิชชา [อุปสมะความสงบ สมถะการสงบระงับจิต] (๒๓) อวิชชาลังคี กลอนเหล็กหรือลิ่มคืออวิชชา [วิสังโยคความหมดเครื่องผูกรัด] (๒๔) โทสะ ความคิดประทุษร้าย [อพยาบาทความไม่ขัดเคืองมีเมตตา] (๒๕) โลภะ ความอยากได้ [อปจยะความไม่พอกพูนกิเลส]
ฉะนั้น องค์แห่งอวิชชา ๒๕ ประการ ดังกล่าวนี้ เป็นมูลเหตุแห่งความทุกข์ คือ ทุกขตา ที่เรียกเต็มว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ [ทุกขอริยสัจจ์] ซึ่งสามารถน้อมพิจารณาในกรรมฐานด้วย ทุกขานุปัสสนา การพิจารณาเห็นสังขารเป็นทุกข์ เห็นสภาพแห่งทุกข์ ทุกขตาทุกขลักษณะ ซึ่งมีกำลังแห่งวิปัสสนาพละ เพราะอาศัยสมาธินทรีย์ ย่อมชำแรก ย่อมทำลาย ปณิธิแห่งขันธ์ ๕ ความละสุขสัญญา ย่อมสำเร็จได้ด้วย ทุกขานุปัสสนา ในขณะเดียวกัน การเจริญวิปัสสนาจนบรรลุถึง ทุกขานุปัสสนายถาภูตญาณ ย่อมทำให้พ้นจากความหลงโดยความเป็นสุข จากความไม่รู้ เพราะเหตุนั้น จึงเป็น ญาณวิโมกข์ เพราะฉะนั้น ทุกขานุปัสสนา ย่อมยัง นิพเพธิกปัญญา [ปัญญาทำลายกิเลส] ให้บริบูรณ์ นั่นคือ อนุโลมขันติ ซึ่งเป็นการนับได้ว่าเป็นเรื่องความอดทนในสภาพแห่งทุกข์ด้วย อาการ ๔๐ ดังนี้
พิจารณาเห็นเบญจขันธ์ โดยความว่า : (๑) เป็นของไม่เที่ยง (๒) เป็นทุกข์ (๓) เป็นโรค (๔) เป็นดังหัวฝี (๕) เป็นดังลูกศร (๖) เป็นความลำบาก (๗) เป็นอาพาธ (๘) เป็นอย่างอื่น (๙) เป็นของชำรุด (๑๐) เป็นเสนียด (๑๑) เป็นอุบาทว์ (๑๒) เป็นภัย (๑๓) เป็นอุปสรรค (๑๔) เป็นความหวั่นไหว (๑๕) เป็นของผุพัง (๑๖) เป็นของไม่ยั่งยืน (๑๗) เป็นของไม่มีอะไรต้านทาน (๑๘) เป็นของไม่มีอะไรป้องกัน (๑๙) เป็นของไม่เป็นที่พึ่ง (๒๐) เป็นของว่าง (๒๑) เป็นของเปล่า (๒๒) เป็นของสูญ (๒๓) เป็นอนัตตา (๒๔) เป็นโทษ (๒๕) เป็นของมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา (๒๖) เป็นของหาสาระมิได้ (๒๗) เป็นมูลแห่งความลำบาก (๒๘) เป็นดังเพชฌฆาต (๒๙) เป็นความเสื่อมไป (๓๐) เป็นของมีอาสวะ (๓๑) เป็นของอันปัจจัยปรุงแต่ง (๓๒) เป็นเหยื่อแห่งมาร (๓๓) เป็นของมีความเกิดเป็นธรรมดา (๓๔) เป็นของมีความแก่เป็นธรรมดา (๓๕) เป็นของมีความป่วยไข้เป็นธรรมดา (๓๖) เป็นของมีความตายเป็นธรรมดา (๓๗) เป็นของมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา (๓๘) เป็นของมีความร่ำไรเป็นธรรมดา (๓๙) เป็นของมีความคับแค้นใจเป็นธรรมดา (๔๐) เป็นของมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา
อย่างไรก็ตาม ให้พิจารณาสภาวธรรมแห่ง อวิชชา ให้ละเอียดลึกซึ้ง ว่าเป็นต้นเหตุของ ทุกข์ ทั้ง ๔๐ ประการ ซึ่งหมายถึง สภาวะของเบญจขันธ์ [ขันธ์ ๕] ในการเจริญภาวนาก็มีวัตถุประสงค์เพื่อทำตนให้หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ ประการ นั่นเอง โดยการทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ ที่จะ ทุบขันธ์ ๕ หรือ ระเบิดขันธ์ ๕ [ขันธวินิมุติวิวัฏฏะ] ที่เรียกว่า วุฏฐานคามินาปฏิปทา [วิปัสสนาญาณ ๙] หมายถึง ข้อประพฤติปฏิบัติในการออกจากความยึดมั่นในสังขารนิมิตทั้งภายในและภายนอกทั้งหลาย เพื่อให้เข้าถึงอริยมรรคให้ได้ เพราะฉะนั้น การบรรลุถึง อรหัตตมรรค คือ การทำลายหักล้าง สังโยชน์ ๑๐ ลงในคราวเดียวกัน เป็น โลกุตตรมรรค และทำให้สามารถบรรลุถึง อรหัตตผล อันเป็นผลแห่งมรรค คือ โลกุตตรผล หมายถึง สัมมาญาณ เมื่อเจริญปัจจเวกขณญาณจนถึง ญาณทัสสนะอันมีปริวัฏฏ์ ๓ [ญาณ ๓ = สัจจญาณหยั่งรู้สัจจะ ๑ กิจจญาณหยั่งรู้กิจ ๑ กตญาณหยั่งรู้การอันทำแล้ว ๑ ในกิจในอริยสัจจ ๔] จึงเป็นการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแห่งพระตถาคตพระองค์นั้น อันเป็น สัมมาวิมุตติ คือ อรหัตตผลวิมุมตติ หรือ พระนิพพาน แล้วจึงเกิด อาสวักขยญาณ ในญาณอันดับสุดท้ายในปัจฉินยามแห่งราตรีคืนตรัสรู้ของพระองค์ สิ่งนี้คือ สัจจภาวะแห่งพระนิพพาน ที่เกิดขึ้นจริงของพระศาสดาจอมมหาบุรุษเอกในโลก
ฉะนั้น คำว่า ความตรัสรู้ [สัมโพธะอาสวักขยญาณ] ในความเป็นจริง คือ การรู้แจ้งเห็นจริงในต้นกำเนิดแห่งความไม่รู้จริง คือ อวิชชา อันถือเป็นองค์ธรรมหนึ่งในอกุศลธรรม อาสวะ ๔ หมายถึง สภาวะอันหมักดองสันดาน สิ่งที่มอมพื้นจิต หรือ กิเลสที่ไหลซึมซ่านไปย้อมใจเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ได้แก่ (๑) กามาสวะ อาสวะคือกาม ความอยากได้ กามคุณ คือ ส่วนที่น่าปรารถนาน่าใคร่มี ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะ [สัมผัสทางกาย] ที่น่าใคร่น่าพอใจ หรือ กามสุข คือ สุขในทางกาม สุขที่เกิดจากกามารมณ์ เป็นธรรมที่สะท้อนให้เกิดนิวรณ์ในข้อ กามฉันทะ [ราคะ] คือ ความพอใจในกาม ความต้องการกามคุณ และ พยาบาท คือ ความคิดร้าย ความขัดเคืองแค้นใจ (๒) ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความอยากในภาวะของตัวตนที่จะได้ จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากเป็นอยากคงอยู่ตลอดไป คือ ภวตัณหา เป็นธรรมที่สะท้อนให้เกิดนิวรณ์ในข้อ ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่และเซื่องซึม (๓) ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ ความยึดถือตามความเห็น ความถือมั่นที่จะให้เป็นไปตามความเชื่อถือหรือความเห็นของตน การถือยุติเอาความเห็นเป็นความจริง ความเห็นผิด ความยึดติดทฤษฎี เป็นธรรมที่สะท้อนให้เกิดนิวรณ์ในข้อ อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ ความกระวนกระวายกลุ้มกังวล (๔) อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ความไม่รู้จริง ความหลงลืมสติ โมหะ ทำให้ปิดกั้นปัญญาเข้าไม่ถึง อริยสัจจ์ ๔ ความไม่รู้เหตุผลในกาลทั้ง ๓ และไม่รู้จริงใน ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เป็นธรรมที่สะท้อนให้เกิดนิวรณ์ในข้อ วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า อวิชชามีลักษณะ ๒๕ ประการ กับ ทุกข์ในอาการ ๔๐ นั้น ทำให้เห็นความจริงที่เป็นภาพรวมแห่งสัจจธรรมระหว่างสภาวธรรมที่เกิดขึ้นในทั้ง ๒ ฝ่าย อวิชชา ๔อวิชชา ๘ มีแหล่งกำเนิดจาก รากเหง้าแห่งอกุศลมูล ๓ [โลภะโทสะโมหะ] ซึ่งเป็นกิเลสที่หมักดองอยู่ในพื้นจิตสันดานที่ฝังอยู่ในส่วนลึกใน จิตไร้สำนึก ซึ่งเป็น จิตใต้ก้นบึ้ง ที่ไม่แสดงตนออกมาง่ายๆ จนกว่าจะมีอารมณ์ที่เหมาะสมมากระตุ้น จึงจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมแน่ชัดให้ปรากฏให้เห็น ที่เป็น อุปนิสัยที่แท้จริง [ใจคอ] ของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น การกำจัดทำลาย อาสวะ ๔ พร้อมกิเลสอกุศลทั้งหลาย จึงเป็นเรื่องของฝ่าย ปัญญาวิปัสสนา โดยตรง โดยมี จิตตัววิปัสสนา [สมาธิในวิปัสสนาจตุตถฌานจิตสมาธิ] ที่บรรลุถึงฐานะที่เป็นไปได้จริงแห่ง ญาณทัสสนะ [มัคคญาณ] ที่สมบูรณ์หมดจดด้วย วิสุทธิ ๗ ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ อย่าลืมว่า อกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกิเลสอย่างละเอียด อนุสยกิเลส จะฝังตัวลึกอยู่ในพื้นจิตสันดาน ที่อยู่ลึกกว่า นิวรณูปกิเลสนิวรณธรรม [ปริยุฏฐานกิเลส] ที่คอยเข้ามาครอบงำหรือกลุ้มรุมจิตในแต่ละขณะ แต่ อนุสยกิเลส นั้น ฝังตัวแฝงลึกอยู่ใน จิตตสันดาน ข้ามภพข้ามชาติมานับไม่ถ้วน เป็นตัวบ่งการในการสร้างอกุศลกรรมให้เกิดผลวิบากในทุคติแห่ง โยคธรรม ทั้งหลาย หมายถึง ธรรมคือกิเลสเครื่องประกอบ สัตว์ไว้ในภพ [กรรมภพ] หรือผูกสัตว์ดุจเทียมไว้กับแอก ได้แก่ กามภพทิฏฐิอวิชชา หรือ โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำคือสงสาร ห้วงน้ำคือการเวียนว่ายตายเกิด [ภวจักรสังสารจักรวัฏฏะสังสารวัฏสงสารทุกข์] กิเลสอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์ ได้แก่ กามภพทิฏฐิอวิชชา สำหรับ คำว่า สงสารทุกข์ หมายถึง ทุกข์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ทุกข์ที่ประสบในภาวะแห่งการว่ายวนอยู่ในกระแสแห่งกิเลส กรรม และ วิบาก และคำว่า สังสารวัฏ หมายถึง วังวนแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกหรือในภพต่างๆ, โดยใจความ ก็ได้แก่ สังสาระ นั่นเอง คำว่า สังสาระสงสาร หมายถึง การเที่ยวเร่ร่อนไปในภพ คือภาวะแห่งชีวิต ที่ถูกพัดพาให้ประสบสุขทุกข์ ขึ้นลง เป็นไปต่างๆ ตามกระแสแห่ง (๑) อวิชชา (๒) ตัณหา และ (๓) อุปาทาน [ให้พิจารณาตามหลักอนุโลมปฏิจจสมุปบาท คือ การพิจารณาสาเหตุแห่งทุกข์] การว่ายวนอยู่ในกระแสแห่ง (๑) กิเลส (๒) กรรม และ (๓) วิบาก [การพิจารณาตามหลักไตรวัฏฏ์หรือวัฏฏะ ๓ ซึ่งถือเป็นธรรมอันเกิดขึ้น อุปปันนธรรม ด้วยเหตุชนิดเดียวกัน ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม] การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกหรือในภพต่างๆ ว่าโดยสภาวะ ก็คือ ความสืบทอดต่อเนื่องไปแห่งขันธ์ทั้งหลายนั่นเอง [อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์] และ คำว่า สังสารจักรภวจักร หมายถึง วงล้อแห่งสังสาระ วงล้อแห่งการเที่ยวเร่ร่อนเวียนว่ายตายเกิด อาการหมุนวนต่อเนื่องไปแห่งภาวะของชีวิตที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ในหลักปฏิจจสมุปบาท อย่างไรก็ตาม สังสารจักร เป็นคำใน ชั้นอรรถกถาลงมา เช่นเดียวกับ คำว่า ภวจักรปัจจยาการจักร ตลอดจน ปฏิจจสมุปบาทจักร ซึ่งเป็นคำที่เลือกสรรมาใช้ในการอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น อาการหมุนวนของ สังสารจักร หรือ ภวจักร นี้ เป็นคำที่ใช้อธิบายตามหลักไตรวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น อวิชชา เป็นกิเลสธรรมที่มีความหมายลึกซึ่งในการเจริญ โยนิโสมนสิการ ที่คล้อยตามหลักปฏิจจสมุปบาท หมายถึง การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย แยกแยะออกพิเคราะห์ ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธี ให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ด้วยการใช้เหตุผลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือที่เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ (ข้อ ๒ ในโสฬสญาณญาณ ๑๖) คือ ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป หรือ จุตูปปาตญาณทิพพจักขุญาณ (ข้อ ๒ ในวิชชา ๓ คือ ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม ฉะนั้น ในการพัฒนาปัญญาเพื่อให้เห็นสัจจธรรมแห่งปรมัตถ์ได้นั้น จึงประกอบด้วย พาหุสัจจะ หมายถึง ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก หรือคงแก่เรียนมีองค์ ๕ ได้แก่ (๑) พหุสฺสุตา ได้ยินได้ฟังมาก (๒) ธตา ทรงจำไว้ได้ (๓) วจสา ปริจิตา คล่องปาก (๔) มนสานุเปกฺขิตา เจนใจ และ (๕) ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา ขบได้ด้วยทฤษฎี เพื่อให้เกิดปัญญาแตกฉานแห่ง ปฏิสัมภิทา ๔ หมายถึง ความแตกฉาน ความรู้แตกฉาน ปัญญาแตกฉาน ได้แก่ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ (๒) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม (๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในทางภาษา (๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ แต่ถ้ายังเป็นผู้ไม่รู้แจ้งเห็นจริงแห่งอวิชชา คือ อโยนิโสมนสิการ หมายถึง ไม่ประกอบด้วยปัญญา.
|