๙๖. ศรัทธาที่นำไปสู่ข้อสมมติฐานตลอด Belief throughout the Hypotheses
By Nithee Siripat Siripat.com and Academiae Network. 2015 ความสำคัญของบทความ
ความเป็นเลิศทางปัญญาหรือปัญญาแตกฉานทั้งหลายนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อหลบเหลี่ยมไหวพริบคนอื่น อันจะนำความวิบัติมาสู่ตนและคณะในภายหลัง เกลือเป็นหนอนสนิทในเนื้อ อันเป็นเหตุแห่งความแตกสามัคคีในการงานและหมู่คณะ ปัญญามีไว้เพื่อการแสวงหาสิ่งที่เจริญและการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพื่อการโอ้อวดเอาชนะผู้อื่นให้เกิดความอัปยศอดสูต่อหน้าที่ชุมนุมชนหรือธารกำนัล [ทา-ระ-กำ-นัน] ซึ่งเป็นการพอกพูนศัตรูให้งอกงามแบบไม่รู้ตัว คือ ปิสุณาวาจา วาจาส่อเสียดทำให้เจ็บซ้ำน้ำใจ = ปากหมา ประการสำคัญ คือ เป็นการทำลายปฏิภาณไหวพริบของผู้อื่น เตะถ่วงขัดจังหวะ กลัวเขาได้ดีกว่าตน [อรติ] เกิดอาการเสียอกเสียใจที่เห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ [ปราศจากมุทิตาธรรม] กาเริ่มต้นทำอะไรด้วยความถูกต้อง พอถึงตอนปลายทุกอย่างที่แสดงผลออกมา ก็ย่อมมีแต่ความถูกต้อง โอกาสผิดจะมีน้อยลง เช่น การเริ่มต้นนับถือในพระพุทธศาสนาในเบื้องต้น มาเกิดจากความศรัทธาที่ประกอบด้วยเหตุผล จนกลายเป็น ศรัทธาปสาทะความเลื่อมใส จนเป็น อธิโมกข์ ได้ ด้วยธรรมเป็นเครื่องเย็นจิตใจอย่างแท้จริง นั่นคือ ศรัทธาแรงกล้าที่ทำให้ใจผ่องใสอย่างยิ่ง ยิ่งฝึกอบจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์มากขึ้นเท่าไหร่ จิตก็ยิ่งผุดผ่อง สดใสร่าเริง ในการเจริญธรรมมากขึ้นเท่านั้น ที่เรียกว่า ธมฺมปีติ หมายถึง ผู้เอิบอิ่มในธรรม ผู้ดื่มธรรม ผู้ไม่ถึงความฟุ้งซ่าน มีจิตเป็นสมาธิปราศจากนิวรณ์ อวิชชา อรติ อกุศลธรรมทั้งปวง จึงจะเป็นผู้มีปัญญารอบรู้จริงๆ ได้ นั่นคือ (๑) ปัญญารู้เห็นในอดีตที่ส่งผลถึงปัจจุบัน [ละเว้นจากอุกศกรรมทั้งหลายทั้งที่เคยทำและไม่เคยทำที่จะทำใหม่ในปัจจุบัน] กับ (๒) ปัญญารู้เห็นส่วนในอนาคตอันจะจากเหตุในปัจจุบัน [การสร้างบุญกุศลเพื่อนิพพาน] ปัญญาทั้ง ๒ ส่วนนี้ [สติปัฏฐาน ๔] ทำให้เข้าถึง สัมมัปปธาน ๔ [เพียรระวังปิดกั้นความชั่วเพียรละกำจัดความชั่วเพียรเจริญก่อให้เกิดความดีเพียรรักษาความดี] ได้โดยปริยาย และตามด้วย อิทธิบาท ๔ [ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา] อันเป็นธรรมเครื่องบรรลุความสำเร็จตามความมุ่งหมายไว้ จน อินทรีย์ ๕ และ พละ ๕ แก่กล้า จนทำให้เกิด องค์แห่งความตรัสรู้ธรรมตามเป็นจริง [โพชฌงค์ ๗] ทั้งด้วย สมถพละ กับ วิปัสสนาพละ และประการสำคัญ ความบรรลุถึง จตุปฏิสัมภิทาญาณ ที่เป็นรู้เห็นปัจจุบันธรรมที่จะเกิดขึ้น อันเป็นเหตุปัจจัยในผลวิบากในอนาคตธรรม เพราะมีปรีชาในการกำหนดข้อสมมติฐานในกิจต่างๆ ที่จะทำให้เกิดขึ้นตามลำดับในปัจจุบันกาล ฉะนั้น ข้อสมมติฐาน คือ รายละเอียดความจริงที่คาดคะเนว่าจะเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต ตามที่คาดหวังหรือกำหนดไว้ในแผนและนโยบายที่วางเอาไว้ เพื่อพิสูจน์หรือยืนยันตาม ความศรัทธา ความเชื่อ ความคิดเห็น ค่านิยม อันพื้นฐานแห่งทฤษฎีหรือหลักการ [พระสัทธรรม] ที่กำหนดกรอบความคิดไว้ในทางปฏิบัติ ตามข้อจำกัดของ กลุ่มตัวอย่าง ๑ เวลา ๑ สถานที่ ๑ ที่จะศึกษาค้นคว้าวิจัยธรรม [ธัมมวิจยะ] โดยเฉพาะ การยืนยันด้วยผลแห่งการปฏิบัติ นั่นเอง.
บทความที่ ๙๖ ประจำปี ๒๕๕๘ ศรัทธาที่นำไปสู่ข้อสมมติฐานตลอด
เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการคิดของมนุษย์นั้น จิตของมนุษย์จะเป็นแหล่งที่รวมองค์ความรู้ ที่เกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด แล้วเก็บบันทึกไว้ที่ สมองหน่วยความจำ [สัญญาโดยมีสติสัมปชัญญะควบคุมจัดการ] ดังนั้น สมอง [Brain] จึงเป็นสื่อกลางฝ่ายร่างกายสรีระ ที่เรียกว่า รูปธรรม [Concrete] และ จิต [Consciousness] จึงเป็นสื่อกลางฝ่ายจิตวิญญาณ ที่เรียกว่า อรูปธรรม [นามธรรม: Abstract] นอกจากนี้ สื่อกลาง [Medium] ทั้งสองฝ่ายนั้น จะต้องทำงานประสานกันอย่างเป็นเอกภาพเดียวกัน จึงจะทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างกาย [Body] กับใจ [Mind] ที่ลงตัว กลายเป็น หน่วยรวม สัมปยุตต์ด้วยกองทั้ง ๕ แห่ง รูปธรรม และ นามธรรม ที่ประกอบเข้าเป็นชีวิต ขันธ์ ๕เบญจขันธ์ โดยมี ใจ [Mind] เป็นประธานหลัก ที่ทำหน้าที่ควบคุม พฤติกรรม อันแสดงออกเป็นการกระทำต่างๆ ใน ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) กายกรรม (๒) วจีกรรม และ (๓) มโนกรรม ใจที่เป็น เจตนาสัญเจตนา จะทำหน้าที่ปรุงแต่งกรรมต่างๆ โดยถูกกลุ้มรุมหรือควบคุมความรู้สึกนึกคิดในใจด้วย กิเลส [นิวรณ์] ทั้งหลาย และกิเลสทั้งหลายนั้น จะถูกควบคุมด้วย จิตตสมาธิ [จิตประภัสสร] ที่พัฒนาขึ้นมาด้วยการเจริญสมถภาวนาแห่งรูปฌานสมาบัติ [ฌาน ๔] โดยมุ่งเอา จตุตถฌาน [อุเบกขาเอกัคคตา] ฉะนั้น จิตที่บริสุทธิ์จึงต้องมีพื้นฐานที่สหรคตด้วย ธรรมสมาธิ ๕ เพราะเกิดจากความดำรงมั่นแห่งสติ [สัมปชัญญะ] กับเจตนา [กุศลธรรมกับอาเนญชา] อันเป็นจิตตั้งมั่นคงในธรรมที่ปฏิบัติอยู่ อันเป็นจิตสัมปยุตต์ด้วยธรรม ๕ ประการ ได้แก่ ปราโมทย์ปีติปัสสัทธิสุขสมาธิ อันเป็นสมุฏฐานสำคัญที่ทำให้เกิด จิตตสมาธิ [เอกัคคตา] หรือ กุศลฌานจิต จนถึงขั้น โลกุตตรกุศลฌานจิต ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจในขั้นตอนกระบวนการเกิดปัญญาในเบื้องต้นนี้ได้ ก็จะเป็นบาทฐานสำคัญในการปฏิบัติธรรม คือ การเห็นภาพรวมของสภาวะการทางร่างกายและจิตวิญญาณได้ดีขึ้น เพราะธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นใน ๒ ฝ่าย นี้ เป็นธรรมชาติที่แท้จริง นั่นคือ สัจจธรรม [ปรมัตถ์] ที่จิตของมนุษย์ถูกครอบงำหรือกลุ้มรุมด้วยกิเลสทั้งหลาย จนติดเป็นนิสัยสันดานที่คุ้นเคย เพราะคิดไม่ทันกับ กิเลสอวิชชา คือ ความไม่รู้จริง ได้แก่ อริยสัจจ์ ๔ญาณแห่งกาลทั้ง ๓อิทัปปัจจยตา [ปฏิจจสมุปบาท ๑๒] ที่เรียกว่า อวิชชา ๔อวิชชา ๘ ส่วนคุณบทแห่งบุคคลผู้เขลาปัญญาแท้ เรียกว่า อัสสุตวาปุถุชน คือ ผู้ไร้การศึกษาพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลคนผู้มีวาสนาได้ศึกษาทางวิชาทางโลกถึงขั้นสูงๆ ในระดับบัณฑิตวิทยาลัย จะมีแตกฉานทางโลกอย่างไร พิสดารอย่างไร ก็ยังถือเป็น อันธปุถุชน คือ ผู้ไม่รู้จริงในพระธรรม รู้ได้เฉพาะปัญญาทางโลกียธรรม ที่เรียกว่า ดิรัจฉานวิชา หมายถึง วิชาความรู้ที่ไม่ได้ช่วยให้พ้นจาก ผู้มีโสกะปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส เป็นธรรมดา ความรู้ดังกล่าวนี้ คนส่วนใหญ่ใช้หลอกเขากิน เพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ต่างจากพวกโจรปล้นสะดมชาวบ้าน คือ พวกโจรไม่ถืออาวุธ เช่น พวกนักการเมือง นักวิชาการ จอมปลอมหลอกชาวบ้าน ชอบใช้ปากและมือเป็นอาวุธ พูดจนลิงหลับ เพื่อให้เหยื่อ [Victims] ผู้เคราะห์ร้าย ผู้ถูกโกง ตายใจสนิท คิดโง่ตามวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมในหลักสูตรโจรที่เรียนกันมา แล้วดูดเลือดเหยื่อกิน แต่ถ้านำมาใช้ประกอบอาชีพอย่างสุจริตมีความรู้จริงคู่คุณธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สร้างคุณูประการต่อสร้างคมยิ่งน้อยยิ่งใหญ่ อย่างนี้สัตบุรุษย่อมสรรเสริญกุศลของท่าน
อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาไม่ได้ชักนำสาธุชนให้เกลียดกัน รบราฆ่าฟันกัน ให้สังคมเดือดร้อน ที่มนุษย์ชอบฆ่ากันมาตั้งแต่โบราณแล้ว ตามค่าสมัยนิยมแต่ละยุค แต่สอนให้ใช้ เมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ต้องประกอบด้วยเหตุผลและปัญญา ไม่ให้เกิด อาการเสียธรรม [เสียผู้เสียคนอย่างคาดไม่ถึงเพราะไว้ใจด้วยไร้สติสัมปชัญญะ] ฉะนั้น คนจนจะโชคดีในสังคม ขณะพวกโจรทั้งหลายมันกินอิ่ม มันไม่หากินตามซอกซอยอีก เลื่อนฐานะไปตามสถานที่หรูๆ ไปดูดเลือดพวกคนรวยแทน เพราะพวกมันเหม็นสาบคนจนจนทนไม่ไหว พวกมันปวดหัวไม่อยากฟังเรื่องร้องทุกข์ต่างๆ นาๆ ปวดกระบาลโจร วิธีป้องกันตัวดีที่สุด คือ อ่านซ่ะ มงคล ๓๘ [อุดมมงคลแห่งชีวิต] ดีนักแล จะได้เสื่อมศรัทธาไปคบกับพวกโจร เพราะมีเยอะมากในสังคมทุกหมู่เหล่า พระเข้าไปเทศน์ไม่ถึง ไกลกลองเพล [ไกลปืนเที่ยง] ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้ส่งเสริมให้เลี้ยงโจรเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน เพราะมีแต่นำความวินาศมาสู่ตนไม่ช้าก็เร็ว ยิ่งคบพวกเรียนสูง ไร้คุณธรรม ยิ่งต้องระวังให้มาก เพราะมันกินเลือดได้สนิทเหมือนปลิงดูดเลือด ให้คบบัณฑิต ผู้มีคุณชาติเป็นปราชญ์อย่างแท้จริง จะได้เสริมอุดมงคลแห่งชีวิต หรือนมัสการพระอริยสงฆ์เป็นกัลยาณมิตร หรือบรรดากัลยาณปุถุชน ผู้ทรงศีล ผู้มีสัปปุริสธรรม [ธรรมของคนดี] ไว้เป็นมิตรแท้ดีกว่า คนดีช่วยเหลือ กับ โจรช่วยเหลือ มันแตกต่างกันราวฟ้ากับดินนะ ท่านผู้มีอายุ ท่านผู้เจริญแล้ว ก็อย่าไปสัทธาปสาทะในสิ่งที่ผิด ให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยไว้ ปลอดภัยจากโยคธรรมทั้งสิ้น สำหรับ คำว่า ศรัทธา [Belief] หมายถึง ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ไม่ประกอบด้วยความงงงาย หรือ ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและในการดีที่ทำ ได้แก่ (๑) กัมมสัทธา คือ เชื่อกรรม เชื่อการกระทำ เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า: เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความดีความชั่วมีขึ้นในตนเป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่า: ผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น (๒) วิปากสัทธา คือ เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่า กรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว (๓) กัมมัสสกตาสัทธา คือ เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน เชื่อว่า: แต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน (๔) ตถาคตโพธิสัทธา คือ เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง ๙ ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุดบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง
ฉะนั้น ความเชื่อ ความศรัทธาปสาทะ ความเลื่อมใส ที่เรียกว่า กัมมผลสัทธา [กัมมสัทธาวิปากสัทธา] นั้น นำไปสู่ภาวะเจริญงอกงามทางปัญญาที่สูงไพบูลย์ขึ้น นำไปสู่การสร้างความดี การทำบุญกุศล การบำเพ็ญทานบารมี ไปสู่การเจริญภาวนากรรมฐานต่อไป แต่ประการสำคัญ ทำให้รู้จัก วิธีการตั้งข้อสมมติฐาน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติธรรม นั่นเอง ข้อสมมติฐาน [Hypothesis] หมายถึง ความคิดเห็นเบื้องต้นที่นำมาเป็นแนวทางศึกษาวิจัยค้นคว้าความรู้ หรือ ธัมมวิจยะ ในการจำแนกแจกธรรมเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้ง ด้วยการพิสูจน์จาก หลักฐานข้อเท็จจริง ที่รวบรวมมาในชุดข้อมูลนั้นๆ หรือสภาวธรรมตามเป็นจริงที่ปรากฏในภูมิแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน ด้วยเหตุนี้ ข้อสมมติฐาน จึงเป็นกระบวนการคาดคะเน หรือ การพยากรณ์ถึง สิ่งที่เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการทำนายเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับ (๑) การทำลายอวิชชา ๔ คือ ความไม่รู้แจ้งใน อริยสัจจ์ ๔ กับ (๒) การทำลายอวิชชา ๘ คือ ความไม่รู้แจ้งใน อริยสัจจ์ ๔ญาณแห่งกาล ๓ อย่างอิทัปปัจจยการ ๑ โดยมีสมมติฐานว่า: อวิชชาเป็นให้เกิดอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น จิตมนุษย์จึงเศร้าหมองและขุ่นมัวอยู่ตลอดเวลาเพราะอุปกิเลส ไม่อยู่ในภาวะบริสุทธิ์ตามสภาพดั้งเดิม ดังพุทธพจน์ว่า:
จิตนี้ประภัสสร [ผุดผ่อง ผ่องใส บริสุทธิ์ = จิตประภัสสร] แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา มีความหมายว่า จิตนี้โดยธรรมชาติของมันเอง มิใช่เป็นสภาวะที่แปดเปื้อนสกปรก หรือมีสิ่งเศร้าหมองเจือปนอยู่ แต่สภาพเศร้าหมองนั้น เป็นของแปลกปลอมเข้ามา ฉะนั้น การชำระจิต [วิถีจิต] ให้สะอาดหมดจดจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ จิตที่ประภัสสรนี้ พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ ภวังคจิต นั่นเอง
ข้อพึงสังเกต คือ ข้อสมมติฐานในการปฏิบัติธรรมนั้น น่าจะเป็นความเชื่อในเรื่อง (๑) กฎแห่งกรรม คือ เจตนาโดยสัญเจตนาชักนำในการกระทำกรรมทั้ง ๓ อย่าง ได้แก่ กายกรรมวจีกรรมมโนกรรม นั่นคือ กรรมเป็นไปตามเจตนาของผู้กระทำ ไม่ใช่โชคบันดาล กับ (๒) กัมมัสสกตา คือ ทำอย่างไร ก็ได้ผลอย่างนั้น ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมต้องพิสูจน์ความเชื่อนี้ให้ได้ด้วยการกระทำจริง โดยทำลาย เจตนาแห่งสัญเจตนา ๖ จาก วัฏฏะ [กิเลสกรรมวิบาก] เป็น วิวัฏฏะ เท่านั้นเอง จงทำให้จงได้ เพราะ เจตนาทำให้สร้างโลกแห่งกรรมภพไม่สิ้นสุด ได้แก่ โลกแห่งดวงตาด้วยหลงรูป ๑ โลกแห่งหูด้วยหลงเสียง ๑ โลกแห่งจมูกด้วยหลงกลิ่น ๑ โลกแห่งลิ้นด้วยหลงรส ๑ โลกแห่งกายด้วยหลงโผฏฐัพพะ ๑ [ซึ่งเรียกว่า ปฏิฆสัญญา] โลกแห่งใจด้วยหลงธรรมารมณ์ ๑ [ซึ่งเรียกว่า นานัตตสัญญา] แต่อย่างไรก็ตาม ข้อสมมติฐาน ในทางธรรมนั้น คือ การพิสูจน์ในการดับอวิชชา ซึ่งต้องดับด้วย ฌาน ในสมาถกรรมฐาน กับ ญาณ ในวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่เหลือจากนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมต้องพิสูจน์ตนเองด้วยการเจริญภาวนากรรมฐานเอาเอง คือ พิสูจน์อิทธิปาฏิหาริย์แห่งสมถะและวิปัสสนา ว่าเป็นจริง ที่เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ หมายถึง คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริง เป็นอัศจรรย์
เพราะฉะนั้น กฎแห่งกรรม กับ กฎกัมมัสสกตา [ทฤษฎีข้อสมมติฐาน] คือ พระสัตถุสาสน์ของพระศาสดา เป็นขั้นการใช้เหตุผลในการวิจัยธรรม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมพิสูจน์สัจจธรรมในคำสอน [ที่ตั้งเป็นข้อสมมติฐานใหม่ เพื่อพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ก่อนยอมรับเป็นทฤษฎีอีกครั้ง] ทั้ง ๒ ประการ ดังกล่าวนี้ ขั้นตอนในตอนนี้ ก็คือ การทบทวนทฤษฎีหรือหลักการ [ปฏิปัตติสัทธรรม] พร้อมด้วยวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น [ชาดกพุทธวจนะ = ปริยัติสัทธรรม] เพื่อตรวจสอบค้นหาว่าเป็นจริงหรือไม่ อันเป็นผลลัพธ์แห่งการปฏิบัติธรรมจริงๆ [ปฏิเวธสัทธรรม: มรรคผลนิพพาน] ในการยอมรับ [Accepting a Hypothesis] หรือ การปฏิเสธข้อสมมติฐาน [Rejecting a Hypothesis] นั้น ตั้งตรวจสอบด้วยการนั่งสมาธิบนพื้นฐานแห่งความถูกต้องจริงๆ คือ สัมมัตตะ ๑๐ อันเป็นภาวะที่ถูกต้อง ฝ่ายกุศลธรรม ได้แก่ สัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปปะสัมมาวาจาสัมมากัมมันตะสัมมาวายามะสัมมาสติสัมมาสมาธิสัมมาญาณสัมมาวิมุตติ มิฉะนั้น ก็กลายเป็นความไม่ถูกต้อง คือ มิจฉัตตะ ๑๐ อันเป็นภาวะที่ผิด ซึ่งอยู่ในฝ่ายอกุศลธรรม ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิมิจฉาสังกัปปะมิจฉาวาจามิจฉากัมมันตะมิจฉาวายามะมิจฉาสติมิจฉาสมาธิมิจฉาญาณมิจฉาวิมุตติ ฉะนั้น หลักธรรมทั้ง ๒ ประการ นั้น ผู้ปฏิบัติธรรมต้องนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบความเที่ยงตรง ความถูกต้อง ความแม่นยำ ความเชื่อมั่น อันเป็นผลแห่งการปฏิบัติธรรมจริง ไม่ใช่ไปตั้งเกณฑ์ที่นึกคิดเอาเองตามประสาคนไร้การศึกษาพระธรรมมาอย่างถูกวิธีเท่านั้น ถ้าศึกษาพระธรรมไม่รู้เรื่อง มีความลำเอียงอคติเกิดขึ้น ที่ไม่น่าเชื่อถือ อันสหรคตด้วยอกุศลธรรม อคติ ๔ ดังนี้ (๑) ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะชอบ เนื่องด้วย ราคะราคจริต คือ ประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม ด้วยความกำหนัดด้วยใคร่ ความอยากได้ด้วยพอใจติดใจ (๒) โทสาคติ คือ ลำเอียงเพราะชัง เนื่องด้วย โทสะโทสจริต คือ ประพฤติหนักไปทางใจร้อนหงุดหงิด หรือ ปฏิฆะ คือ ความขัดใจ ความหงุดหงิดขัดเคือง (๓) โมหาคติ คือ ลำเอียงเพราะหลง พลาดผิดเพราะเขลา เนื่องด้วย โมหะโมหจริต คือ ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึม เงื่องงง งมงาย (๔) ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะกลัว เนื่องด้วย อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง
ดังนั้น เกณฑ์ที่ใช้วัดมาตรฐานก็ผิดไป เพราะประกอบด้วยความวิปลาสวิปริต ไม่เกิดความถึง โยนิโสมนสิการสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยวิธีคิดที่ถูกต้องด้วย (๑) อริยสัจจ์ ๔ (๒) ญาณในกาล ๓ อย่าง (๓) อิทัปปัจจยตา ๑ จึงเรียกภาวะนี้ว่า อโยนิโสมนสิการ ...นิ! คือ ภาวะที่ประกอบด้วยการใช้เหตุผลและปัญญาอย่างถูกวิธี อันมีพื้นฐานจิตมาจาก ตัณหาทิฏฐิมานะ เพราะท่านสำคัญตนเองผิดๆ เชื่อความเห็นของตนเองว่าเป็นจริงเสมอ ใครจะมาแย้งไม่ได้เด็ดขาด ประการสำคัญมักสำคัญตนเองผิดว่า ใหญ่โตกว่าคนอื่น ถึงขั้นครองโลก [บ้าๆ] อยู่เพียงคนเดียวด้วยสวัสดี ดังนี้
อโยนิโสมนสิการ คือ การไม่ใช้ความคิดถูกวิธีความไม่รู้จักคิดความคิดไม่เป็น นั่นคือ ไม่ทำในใจโดยแยบคาย ไม่มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา ไม่รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย [ปฏิจจสมุปบาท ๑๒] หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ความทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย [วิปลาสข้อที่ ๔ = สัญญาวิปลาสจิตตวิปลาสทิฏฐิวิปลาส] หมายถึง (๑) ความทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ในสิ่งที่ไม่เทียง ว่าเที่ยง คือ ยังยึดมั่นถือมั่นใน นิจจสัญญา แทนที่จะเป็น อนิจจสัญญา ด้วยการทำ โยนิโสมนสิการ (๒) ความทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข คือ ยังยึดมั่นถือมั่นใน สุขสัญญา แทนที่จะเป็น ทุกขสัญญา ด้วยการทำ โยนิโสมนสิการ (๓) ความทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ในสิ่งที่ไม่ใช่อัตตาตัวตน ว่าเป็นอัตตาตัวตน คือ ยังยึดมั่นถือมั่นใน อัตตสัญญา แทนที่จะเป็น อนัตตสัญญา ด้วยการทำ โยนิโสมนสิการ (๔) ความทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม คือ ยังยึดมั่นถือมั่นใน สุภสัญญา แทนที่จะเป็น อสุภสัญญา ด้วยการทำ โยนิโสมนสิการ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ความไม่นึก ความไม่นึกเนืองๆ ความไม่คิดความไม่พิจารณา ความไม่ทำไว้ในใจแห่งจิต โดยวิปริตผิดไปจากความจริง = ไม่มีสัมปชัญญะอวิชชา
ด้วยเหตุนี้ ในการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น เมื่อพิจารณาถึง การตั้งข้อสมมติฐาน นั้น จึงเป็นเรื่องการพยากรณ์เกี่ยวกับ (๑) ข้อคิดเห็นนั้น มีความเป็นไปได้ (๒) ข้อคิดเห็นนั้น มีความเป็นไปไม่ได้ หรือ (๓) ข้อคิดเห็นนั้น มีความไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ มีสภาพที่เสถียรใน อมตธรรมพระนิพพาน [สุญญตา] อันเป็นสภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ ภาวะที่เป็นสุขสูงสุด เพราะไร้กิเลสไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น การพิสูจน์ข้อคิดเห็นแห่งสมมติฐานในพระธรรมหรือคำสอนของพระศาสดานั้น จึงเป็นเรื่องที่ใช้เวลาในการปฏิบัติแตกต่างกันไป อาจหมายถึงกาลเวลาทั้งชีวิตในชาตินี้ ก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับระดับ ภูมิรู้ภูมิธรรมภูมิปัญญา [โยนิโสมนสิการ หรือว่า อโยนิโสมนสิการ = จตุปฏิสัมภิทาญาณ คือ มีญาณคือปฏิสัมภิทา ๔] ของท่านผู้เจริญแล้วท่านนั้นๆ เมื่อบุคคลนั้น มี โยนิโสมนสิการสัมปทา แล้ว ย่อมเกิดความฉลาดเชี่ยวชาญ [Proficiency] ในการคิดเพราะมีปัญญาแตกฉานเป็นพื้นฐาน ดังนี้
โกศล ๓ หมายถึง ความฉลาดความเชี่ยวชาญ = ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ได้แก่ (๑) อายโกศล คือ ความฉลาดในความเจริญ รอบรู้ทางเจริญและเหตุของความเจริญ (๒) อปายโกศล คือ ความฉลาดในความเสื่อม รอบรู้ทางเสื่อมและเหตุของความเสื่อม (๓) อุปายโกศล คือ ความฉลาดในอุบาย รอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์และวิธีที่จะทำให้สำเร็จ
อนึ่ง ให้พิจารณาถึงประเด็นใน ภูมิรู้ภูมิธรรมภูมิปัญญา โดยภาพรวม ที่มนุษย์สามารถสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ให้เกิดขึ้นภายในตนเองและสังคมส่วนรวม ที่เรียกว่า ต้นทุนทางปัญญา [Intellectual Capital] ดังนี้
ฉะนั้น ในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติธรรมนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมอยู่ในขั้นการพัฒนาการทางจิตวิญญาณตามข้อประพฤติปฏิบัติของพระพุทธศาสนา ชื่อว่า ภาวนา ๔ ได้แก่ กายภาวนาสีลภาวนาจิตตภาวนาปัญญาภาวนา เพื่อก้าวสู่ระดับจิตใน ภูมิ ๔ หมายถึง ชั้นแห่งจิต ระดับจิตใจ ระดับชีวิต ได้แก่ กามาวจรภูมิรูปาวจรภูมิอรูปาวจรภูมิโลกุตตรภูมิ ตามลำดับ โดยหมายเอา โลกุตตรภูมิ [โสดาบันสกทาคามีอนาคามีอรหันต์] เป็นหลัก ในขั้นสูงสุด คือ พระอรหันตขีณาสพเจ้า เท่านั้น ดังนี้
ดังนั้น ความฉลาดเชี่ยวชาญ ความมีปัญญาแตกฉาน ความคิดที่ถูกวิธีด้วยอุบายที่แยบคาย [โยนิโสมนสิการ] นั้น ย่อมทำให้เกิดปัญญาเห็นแนวทางในการตั้งข้อสมมติฐานขึ้นได้ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติธรรม ซึ่งประกอบด้วย (๑) ทฤษฎี (๒) ข้อสมมติฐาน (๓) ข้อปฏิบัติปฏิปทา (๔) เกณฑ์ตรวจสอบ (๕) การปฏิบัติทดลอง (๖) สรุปผล (๗) อภิปรายถึงสภาวธรรมที่ค้นพบ [พิสูจน์ข้อสมมติฐานเพื่อยืนยันหรือหักล้างทฤษฎี ข้อสมมติฐานที่ผ่านการพิสูจน์ และยอมรับแล้ว ถือเป็นทฤษฎีใหม่ต่อไปที่รอการพิสูจนได้อีกในครั้งใหม่] (๘) ข้อเสนอแนะ [ประยุกต์ดัดแปลงประโยชน์] กระบวนการพิสูจน์ข้อสมมติฐานนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ไม่นำมาเสนอเป็นรูปแบบเอกสารตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ เพราะเป็นเรื่อง ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ หมายถึง อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตน ต่างคนต่างความคิด จะไปนำเอาค่าสถิติมาเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพ เพื่อกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 หรือ ระดับ 0.01 นั้น คงเป็นเรื่องยากมาก เพราะการไปวุ่นวายกับพระอริยเจ้านั้น เป็นเรื่องไม่ควร เพราะการหาไม้บรรทัด อุปกรณ์วัดตรวจสอบ ไปวัดระดับจิตของผู้เจริญภาวนา คงเป็นไปได้ยาก แม้นักวิทยาศาสตร์ทางจิต พยายามจะสร้างเครื่องมือวัดภาวะจิตต่างๆ ออกมาหลายอย่างก็ตาม อนึ่ง การปฏิบัติธรรม ถ้าไปอวดอ้างสำคัญตนผิดว่า: ได้บรรลุอธิคมธรรมแล้ว ถ้าเป็นสมณะถือว่าต้องอาบัติปาราชิก อันเป็นบทลงโทษอย่างหนัก เป็นเรื่องที่อ่อนไหวสูงเป็นพิเศษ เพราะผู้อวดอ้าง ก็ไม่ต่างไปจาก คนบ้าเสียสติ ฟุ้งซ่านอย่างแรง ถ้าเป็นเรื่องเท็จไม่จริงสมคำอ้าง บาปกินหัวด้วยต่างหาก อย่างไรก็ตาม วิธีวัดความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมนั้น อย่าไปประกาศอะไรให้ใครรู้เลย รู้เราเองคนเดียวดีที่สุด เอาเป็นว่า ให้จิตเป็นสมาธิให้มากที่สุด มีความเบิกบานใจ มันก็เกินพอ ไม่ต้องไปแข่งขันที่ฤทธิ์เดชอะไรดีกว่า มีแต่ความเสื่อมสถานเดียว เอาฤทธิ์เดชนั้นมาใช้เป็นเครื่องดับทุกข์ดีกว่า
เมื่อพิจารณาถึงขั้นตอนในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มีขั้นตอนที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ว่าทำกันเองไม่มีแบบแผนเป็นมาตรฐานแต่ประการใดเลย เพราะหลักธรรมอริยสัจจ์ ๔ ก็คือ ขั้นตอนต้นแบบของ ระเบียบการวิจัย [Research Methodology] ในศาสตร์สมัยใหม่แทบทุกสาขา นี้เอง เพียงแต่ว่า รูปแบบการเจริญภาวนานั้น เป็น การวิจัยเชิงทดลอง โดยใช้ประสบการณ์ตรง ในการเข้ารวมภาคสนามจริง และเป็น การวิจัยเชิงคุณภาพ [Qualitative Research] ฉะนั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเป็น พระบิดาแห่งวิจัยคนแรกในโลก เพียงพวกนักวิชาการโลกตะวันตกไม่ได้สนใจมาก เพราะบุญน้อย ไม่มีโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนพวกนี้ยังคิดว่าคนอินเดียสมัยโบราณป่าเถื่อน เป็นสังคมแบบเกษตรกรรมโบราณ ไม่มียุคประวัติอุตสาหกรรมเหมือนยุโรปสมัยกลาง การยกตัวขึ้นเหนือคนอื่น ทั้งที่ไม่รู้ความจริง จึงเป็นความเลาเบาปัญญาของคนตะวันตก เพราะพวกนี้ยึดมั่นในค่านิยมวัตถุนิยมและบริโภคนิยมเป็นวิถีชีวิต ในสมัยปัจจุบันจะเป็นโรคจิตหวาดระแวงกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะหาความสุขที่แท้จริงในชีวิตไม่ได้ สังคมไทยก็พยายามตามจะไปเป็นเหมือนพวกนี้ จากสังคมเมืองยิ้ม ก็กลายเป็นสังคมหน้ามืด บอกบุญไม่รับ เพราะไม่หลงทิศทางว่า จะรวยไปทำไม งงชีวิตตนเอง ความจริง อวิชชา มันครอบงำสมอง จากสังคมมีอารยธรรมไทย กลายเป็นสังคมมัวๆ ไม่รู้จักตัวเอง พวกคนที่สะสมบุญเก่าความดีมาเยอะ ก็ถือว่าโชคดี ที่หันหน้า พาครอบครัว เพื่อนฝูง มาศึกษาพระธรรม และลงมือปฏิบัติธรรม พยายามเข้าหาพระอริยสงฆ์ ไม่ใช่พระปลอม เพื่อต่อยอด ภูมิรู้ภูมิธรรมภูมิปัญญา ของตนและคณะ ให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น เป็นสังคมมีอนาคต รู้จักหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบ มีระเบียบในการดำเนินชีวิต ใช้เวลาอย่างมีค่าที่ผ่านไปทุกเสี้ยวนาที มีสติสัมปชัญญะ และเดินทางตามหลัก มัชฌิมาปฏิปทา อันมีปทัฏฐานข้อประพฤติปฏิบัติด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ มีศรัทธาที่ถูกต้องที่นำไปสู่ข้อสมมติฐานชีวิตที่ถูกต้อง ไม่ผิดทางอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม เทคนิคการใช้ วิธีตั้งข้อสมมติฐาน [Hypothesis = A supposition or proposed explanation made on the basis of limited evidence as a starting point for further investigation.] จึงเป็นข้อคิดที่คาดคะเนจะเป็นจริงใหม่ตามข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่ในขณะนั้น และทำการตรวจสอบค้นหาความจริงหลังจากนั้น เพื่อหาหลักฐานมายืนยันว่าเป็นจริงตามนั้น อีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้น การตั้งข้อสมมติฐานจึงเป็นทักษะสำคัญที่เป็นวิธีวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้ประกอบในกระบวนการคิด และในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพราะเป็นการศึกษาค้นคว้า องค์ความรู้พื้นฐานอันเป็นความรู้พื้นฐาน [Assumptions] ไว้ก่อนที่จะลงมือศึกษาจริง การคิดอะไรไว้ล่วงหน้า จึงไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เป็นการไม่ประมาทในการคิด โดยมีเรื่องราวประวัติย่ออันเป็นภูมิหลังไว้ประกอบการตัดสินใจของตน เปรียบเสมือนว่า การจะคุยกับคนที่เรารู้จักดี กับไม่รู้จัก การอธิบายถึงภาพลักษณ์อันบุคลิกภาพส่วนบุคคลระหว่าง ๒ คน นี้ ย่อมแตกต่างกัน และการค้นหาหัวข้อสนทนา ก็แตกต่างกันไปตามลักษณะของบุคคล การเข้าใจคนก่อนล่วงหน้าว่า จะแสดงมนุษยสัมพันธ์ที่ดีอย่างไรไว้ก่อน จึงเรื่องที่ ไม่ประมาทอัปปมาทะ เพราะประกอบด้วยกระบวนการคิดที่ถูกต้องถูกวิธี และที่สำคัญประกอบด้วยเหตุผลและปัญญาตามหลักปฏิจจสมุปบาท ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการสัมปทา การทำการบ้านมาก่อนล่วงหน้าอย่างดี ก็คือ การวางแผนที่ดีที่สุด เช่นเดียวกัน คือ การเตรียมการอย่างรอบคอบในทุกเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้นกับตนในการดำเนินชีวิต ไม่ใช่นึกคิดแบบคนไม่มีเป้าหมายในชีวิต อยู่ไปวันๆ อยู่อย่างสิ้นคิด เป็นทุกข์เพื่อรอวันตาย ด้วยเป็นงงกับชีวิต ฉะนั้น อัปปมาทะโยนิโสมนสิการสัมปทาปฏิสัมภิทา ๔ รวมกัน ย่อมทำให้เกิดภาวะอันยอดเยี่ยมภายในตนได้ ในทางธรรมเปรียบได้กับหลักธรรม อนุตตริยะ ๓ [Excellence] หรือไปเสมอกับหลักธรรม โกศล ๓ [Proficiency] ดังนี้
อนุตตริยะ ๓ หมายถึง ภาวะอันยอดเยี่ยมสิ่งที่ยอดเยี่ยม เมื่อผู้ปฏิบัติรอบรู้ปฏิปัตติสัทธรรม ได้แก่ (๑) ทัสสนานุตตริยะ คือ การเห็นอันเยี่ยม ได้แก่ ปัญญาอันเห็นธรรม หรืออย่างสูงสุดคือเห็นนิพพาน ในทางโลก คือ ปัญญารอบรู้สถานการณ์โลกล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี (๒) ปฏิปทานุตตริยะ คือ การปฏิบัติอันเยี่ยม ได้แก่ การปฏิบัติธรรมที่เห็นแล้ว กล่าวให้ง่ายหมายเอามรรคมีองค์ ๘ ในทางโลก คือ ความรอบรู้อุบายวิธีหรือกุสโลบายในการดำเนินงานเหมาะสม ตรงกับวัตถุประสงค์การทำงาน (๓) วิมุตตานุตตริยะ คือ การพ้นอันเยี่ยม ได้แก่ ความหลุดพ้นอันเป็นผลแห่งการปฏิบัตินั้น คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง หรือนิพพาน ในทางโลก คือ ประโยชน์อันเป็นความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นด้วยปรีดาปราโมทย์และปีติยิ่งดี เป็นสุขสันต์สวัสดี
โกศล ๓ หมายถึง ความฉลาดความเชี่ยวชาญความรอบรู้พิเศษ [Expertise] เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมได้ฌาน ๔ โดยเฉพาะจตุตถฌาน ได้แก่ (๑) อายโกศล คือ ความฉลาดในความเจริญ ความรอบรู้ทางเจริญและเหตุของความเจริญ (๒) อปายโกศล คือ ความฉลาดในความเสื่อม ความรอบรู้ทางเสื่อมและเหตุของความเสื่อม (๓) อุปายโกศล คือ ความฉลาดในอุบาย ความรอบรู้วิธีแก้ไขเหตุการณ์และวิธีที่จะทำให้สำเร็จ
ในภาวะที่ถูกต้องดังกล่าวเช่นนี้ ปุถุชนผู้ไม่ได้ศึกษาพระธรรมอย่างจริงจัง จนเกิดปฏิภาณไหวพริบได้ ก็ย่อมเสียโอกาสที่จะประยุกต์ดัดแปลงนำข้อธรรมหรือหลักธรรมดีๆ มาใช้ในชีวิตจริง เรียนรู้ความได้ทั้งคติโลกและคติธรรม แต่ดัดแปลก ต่อเติมสร้างสรรค์ และริเริมความคิดใหม่ๆ ไม่ได้ เข้าทำนองที่ว่า: ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด [เรียนมากจนโง่เพราะคิดเองไม่เป็น = รู้ดีจนไม่ได้ดี] ไม่สามารถเข้าถึงการเอาตัวรอดที่ว่า: รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง [ตายน้ำตื้น เพราะชอบคิดอะไรตื้นๆ] ไม่ใช่นักวางแผนยุทธศาสตร์ที่ดี คิดแคบ คิดสั้น สิ้นคิด สุดท้ายย่อมนำความเดือดร้อนมาสู่ตนและคณะในที่สุด ไม่ใช่ความสวัสดี แต่เป็นงูสวัดติดกันทั้งคณะ ปวดแสบ ปวดร้อน ไม่เป็นทุกข์ นั่นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเน้นการดับความไม่รู้ จริง คือ อวิชชา ๔อวิชชา ๘ ด้วยหลักธรรม ๓ ประการ ได้แก่ (๑) อริยสัจจ์ ๔ (๒) ญาณในกาลทั้ง ๓ อย่าง และ (๓) อิทัปปัจจยตา ๑๒ เพื่อให้เกิด ปัญญาเห็นธรรม = ดวงตาเห็นธรรมธรรมจักษุ [The Eye of Truths] คือ ปัญญาเห็นไตรลักษณ์แห่งนามรูป ด้วยปัญญาเห็นตามเป็นจริงว่า: สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหลายย่อมดับไปเป็นธรรมดา คำว่า ธรรมดา หมายถึง ความเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามความจริงที่ปรากฏตาม กฎธรรมชาติ เช่น ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ไตรลักษณ์ ธรรมนิยาม ๓ อริยสัจจ์ ๔ ธรรม ๒ ธรรม ๓ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ต้องมี ปฏิสัมภิทา ๔ เกิดขึ้นในกระบวนการคิด ได้แก่ (๑) ปัญญาฉานในธรรม [เห็นเหตุ] (๒) ปัญญาฉานในความหมาย [เห็นผล] (๓) ปัญญาฉานในภาษา [นิยามศัพท์ได้] และ (๔) ปัญญาฉานในปฏิภาณ [คิดเป็นอย่างถูกวิธี] อันมีบาทฐานมาจาก ญาณ ๓ [กาล ๓] ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญใน การกำหนดข้อสมมติฐาน ได้รัดกุมรอบคอบดีและสมบูรณ์ ดังนี้
ญาณ ๓ หมายถึง ความหยั่งรู้ปรีชาหยั่งรู้ เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมได้ฌาน ๔ โดยเฉพาะจตุตถฌาน ได้แก่ (๑) อตีตังสญาณ คือ ญาณหยั่งรู้ส่วนอดีต รู้อดีตและสาวหาเหตุปัจจัยอันต่อเนื่องมาได้ (๒) อนาคตังสญาณ คือ ญาณหยั่งรู้ส่วนอนาคต รู้อนาคต หยั่งผลที่จะเกิดสืบต่อไปได้ (๓) ปัจจุปปันนังสญาณ คือ ญาณหยั่งรู้ส่วนปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน กำหนดได้ถึงองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของเรื่องที่เป็นไปอยู่
เพราะฉะนั้น เป้าหมายสำคัญในชีวิต คือ ความสำเร็จปฏิเวธ = รู้แจ้งแทงตลอด โดยที่ผู้ปฏิบัติธรรมต้องตั้ง ข้อสมมติฐาน ไว้อย่างน้อย ๒ ประการ ในทางคติโลก (๑) อดเพื่อความสำเร็จ กับ (๒) กินเพื่อความสำเร็จ เมื่อเปรียบเทียบกับคติธรรม ได้แก่ ปฏิปทา ๔ หมายถึง การปฏิบัติแบบที่เป็นทางดำเนินให้ถึงจุดหมายคือความหลุดพ้นหรือความสิ้นอาสวะ ซึ่งจะเป็น ข้อ ๑ กับ ข้อ ๓ ดังนี้
อดเพื่อความสำเร็จ คือ ขาดแคลนปัจจัยสนับสนุนในการประกอบอาชีพอย่างหนัก (๑) ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา [ปฏิปทาทราม] คือ ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า เช่น ผู้ปฏิบัติที่มี ราคะโทสะโมหะ แรงกล้า ต้องเสวย ทุกข์โทมนัส เนื่องจาก ราคะโทสะโมหะ นั้นอยู่เนืองๆ หรือ เจริญกรรมฐานที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นใจ เช่น อสุภะ เป็นต้น อีกทั้งอินทรีย์ก็อ่อน จึงบรรลุ โลกุตตรมรรค ล่าช้า พระจักขุบาลอาจเป็นตัวอย่างในข้อนี้ได้
กินเพื่อความสำเร็จ คือ มีความถึงพร้อมด้วยปัจจัยสนับสนุนในการประกอบอาชีพอย่างบริบูรณ์ (๓) สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา [ปฏิปทาทราม] คือ ปฏิบัติสบาย แต่รู้ได้ช้า เช่น ผู้ปฏิบัติที่มี ราคะโทสะโมหะ ไม่แรงกล้า ไม่ต้องเสวย ทุกข์โทมนัส เนื่องจาก ราคะโทสะโมหะ นั้นเนืองนิตย์ หรือ เจริญสมาธิได้ ฌาน ๔ อันเป็นสุขประณีต แต่มีอินทรีย์อ่อน จึงบรรลุ โลกุตตรมรรค ล่าช้า
กล่าวโดยสรุป ในกระบวนการตั้งข้อสมมติฐานพอประมวลได้ ๖ ประการ ดังนี้ (๑) ความคิดเบื้อต้นAssumptions คือ ขอบเขตภูมิหลังของประเด็น (๒) ศรัทธาBelief คือ ความเชื่อประกอบด้วยเหตุผล (๓) ข้อคาดคะเนPresupposition คือ ความเป็นไปได้ (๔) ข้อสมมติฐานHypothesis คือ ทางเลือกเชิงปฏิบัติ (๕) ข้อยืนยันAssertion คือ การค้นคว้าสืบหา (๖) ภาวะที่ถูกต้องRighteousness คือ ข้อสรุปสุดท้าย
กล่าวโดยสรุป การตั้งสมมติฐานในการประกอบกิจทุกอย่างมีความจำเป็นอย่างยิ่งในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นกิจเล็กกิจน้อยก็ตาม ไม่ควรดำเนินชีวิตที่ไร้จุดหมาย คือ ไม่มีการวางแผนชีวิต ยอมปล่อยชีวิตไปตามสายลมกับแสงแดด ซึ่งไม่ตรงกับ คุณบทของผู้เป็นพุทธะ ได้แก่ (๑) ผู้รู้ (๒) ผู้ตื่น (๓) ผู้เบิกบาน นั่นคือ ความมุ่งมั่นเพื่อความตรัสรู้ สัมโพธะ โดยให้เข้าถึง กระแสแห่งนิพพาน ให้ได้โดยปรมัตถ์ หรือเรียกว่า ปรมัตถะ คือ ประโยชน์สูงสุด จุดหมายสูงสุด ให้เห็นถึงประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ขั้นต้น ที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ และประโยชน์ในอนาคต ประโยชน์เบื้องหน้า ประโยชน์ในภพหน้า ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป ที่เรียกว่า สัมปรายิกัตถะ ฉะนั้น ความสามารถในการกำหนดหรือตั้งข้อสมมติฐานได้ ก็แสดงว่าบุคคลนั้น มีขั้นตอนในการวางแผนชีวิตที่รอบคอบ มีกิจที่เป็นประโยชน์ทำต่อเนื่องกันไป ไม่เสียเวลากับสิ่งไร้สาระ ไม่เป็นแก่สารในชีวิต ที่เรียกว่า โลกธรรม ๘ หมายถึง ความเป็นไปตามคติธรรมดาซึ่งหมุนเวียนมาหาสัตวโลก และเหล่าสัตวโลกก็หมุนเวียนตามมันไปไม่สิ้นสุด คือ มีทั้ง สุคติอิฏฐารมณ์ คือ ส่วนที่น่าปรารถนา และ ทุคติอนิฏฐารมณ์ คือ ส่วนที่ไม่น่าปรารถนา ซึ่งเกิดดับสลับกันไป ที่เรียกว่า สังสารทุกข์แห่งภวจักร ได้แก่ (๑) ลาภ คือ ได้ลาภ (๒) อลาภ คือ เสื่อมลาภ (๓) ยส คือ ได้ยศ (๔) อยส คือ เสื่อมยศ (๕) นินทา คือ ติเตียน (๖) ปสังสา คือ สรรเสริญ (๗) สุข คือ ความสุข (๘) ทุกข์ คือ ความทุกข์ นั่นคือ ไม่เป็น ปุถุชนผู้มี โสกะปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส เป็นธรรมดา [โดยพิจารณาตามหลัก ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ คือ การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน ได้แก่ อวิชชาตัณหาอุปาทานสังขาร (กรรมภพ) วิญญาณนามรูปสฬายตนะผัสสะเวทนาภพ (อุปปัตติภพ) ชาติชรามรณะ ผลวิบากที่ตามมา ได้แก่ โสกะปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส] แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วย่อมเป็น อริยบุคคลผู้ปราศจาก โสกะปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส เป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้ บุคคลผู้มีปัญญาเห็นธรรมตามเป็นจริงได้นั้น ย่อมถึงด้วย ญาณแห่งปฏิสัมภิทา ๔ [ปฏิสัมภิทัปปัตตะ] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิภาณปฏิสัมภิทา คือ การรู้เห็นอย่างเท่าทันการ ที่ประกอบด้วยปัญญา ๓ อย่าง ได้แก่ (๑) ความคิดริเริ่มInitiativeness (๒) ความรู้สร้างสรรค์Creativeness และ (๓) ความรู้ประยุกต์ดัดแปลงApplicability นั่นคือ คิดได้คิดออก จึงมีความสามารถตั้ง ข้อสมมติฐานของกิจต่างๆ ที่จะทำในแต่ละวันและในอนาคต ถ้าเป็นกิจทางคติโลก คือ การวางแผน การกำหนดนโยบาย การทำแผนธุรกิจ [การโฆษณาการตลาดการผลิตการขยายธุรกิจ เป็นต้น = โลกียธรรม] โครงการต่างๆ หรือ แผนยุทธศาสตร์ ถ้าบุคคลนั้น คิดกำหนดข้อสมมติฐานไม่ได้ ย่อมเป็นคนที่ไม่มีความนึกคิดจะทำการใดในอนาคตได้เช่นกัน เพราะการทำสิ่งในปัจจุบันให้ดีที่สุด ย่อมนำผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือวางแผนและนโยบายไว้ เพราะฉะนั้น พระธรรมในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงประเด็นความสำเร็จในชีวิตไว้อย่างดี ทั้งทางคติโลกและทางคติธรรม อยู่ที่ใครจะผู้นึกคิดประยุกต์ดัดแปลงนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความริเริ่มและความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ก็ตาม ด้วยประการฉะนี้.
|