๒. บทกวีแห่งพุทธธรรม ๒ The Poetry of Buddhism 2
By Nithee Siripat Siripat.com and Academiae Network. 2015
ความสำคัญของบทความ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นครูของมนุษย์และเทวดา เพื่อชี้แนะแนวทางในการเอาชนะกิเลส ที่กลุ้มรุมครอบงำภายในจิตใจของตนเอง พระองค์ทรงให้เอาชนะตัวเอง ด้วยตนเอง จึงเป็นภาวะพึ่งตนเอง ที่เรียกว่า อัตตนาถะ หรือ (๑) อัตตหิตสมบัติ หมายถึง ความถึงพร้อมแห่งประโยชน์ตน การบำเพ็ญประโยชน์ในส่วนของตนเองให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยพระคุณข้อนี้มุ่งเอา พระปัญญา เป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องให้สำเร็จ พุทธภาวะ คือ ความเป็นพระพุทธเจ้า และ ความเป็นอัตตนาถะ คือ พึ่งตนเองได้ หลังจากนั้น ก็จะเป็น (๒) ปรหิตปฏิบัติ หมายถึง การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญ พุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น พระคุณข้อนี้มุ่งเอา พระกรุณา เป็นหลัก เพราะเป็นคุณธรรมเครื่องให้สำเร็จ พุทธกิจ คือ หน้าที่ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นโลกนาถ คือ เป็นที่พึ่งของชาวโลกได้ ฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงไม่ใช่ พระปัจเจกพุทธเจ้า [ปัจเจกพุทธะ] คือ พระพุทธเจ้าประเภทหนึ่ง ซึ่งตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้สั่งสอนผู้อื่น ซึ่งเป็นผู้ค้นพบและเปิดเผยความจริงขึ้นนั้น ไม่ได้อาศัย ปรโตโฆสะ คือ การฟังจากผู้อื่น [เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก คือ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียน หาความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่นโดยเฉพาะการสดับสัทธรรมจากท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร = สุตมยปัญญา] แต่รู้จัก โยนิโสมนสิการ สืบเนื่องด้วยตนเอง [การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือ ทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย = จินตามยปัญญา] ก็สามารถจำแนกแจกธรรม เรียงต่อไล่ตามประสบการณ์ทั้งหลายอย่างถึงทันทั่วรอบทะลุตลอดหยั่งเห็นความจริงได้ เพราะฉะนั้น สาธุชนชาวพุทธผู้มีบุญวาสนาบารมีในชาตินี้ ได้เกิดมาพบกับพระธรรมของผู้มีพระภาคเจ้าเช่นนี้ จึงถือเป็นโอกาสทองแห่งชีวิต ที่จะได้น้อมนำพระธรรมขันธ์ทั้งหลาย มาถือปฏิบัติเป็น ธัมมานุธัมมปฏิทา อันยิ่ง [ปฏิบัติธรรมถูกต้องสมควรแก่ธรรม] เพราะเป็นประทีปแห่งชีวิตในการบรรลุอธิคมธรรมทั้งหลาย ตามคำสอนของพระศาสดา ด้วยความอัศจรรย์แห่ง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ อย่างแท้จริง ไม่ลุ่มหลงหรือหลงทางไปกับฤทธิ์ปาฏิหาริย์อย่างอื่น [ได้แก่ อิทธิปาฏิหาริย์ คือ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ กับ อาเทศนาปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์คือการทายใจ] ฉะนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าจึงเน้นการปล่อยวาง ความมักน้อยสันโดษ ความคลายกำหนัด ความหลุดพ้น ปัญญาอันยิ่ง ความตรัสรู้ เพื่อให้ลุล่วงถึง พระนิพพาน อันถือเป็นปรมัตถประโยชน์แห่งความเป็นพุทธะอย่างแท้จริง แต่ถึงแม้นว่าจะยังไม่ได้ลิ้ม รสแห่งวิมุตติสุข นี้ ก็ให้ผู้เจริญแล้วได้น้อมนำเอา อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นแนวทางดำเนินชีวิต เป็นสรณะที่พึ่งแห่งชีวิต ไม่มีสรณะอื่นใดอีกแล้ว ที่จะเป็นพระรัตนตรัยได้ดียิ่งกว่านี้เลย.
บทความที่ ๒ ประจำปี ๒๕๕๙ บทกวีแห่งพุทธธรรม ๒
ในธรรมชาติที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์นั้น มนุษย์สามัญทั่วไป มีทางเลือกดำเนินชีวิตที่เป็นฐานะเป็นไปได้ ๓ ทาง ได้แก่ (๑) กุศลกรรมแห่งปุญญาภิสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร (๒) อกุศลกรรมแห่งอปุญญาภิสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย และ (๓) โวทานธรรมแห่งอาเนญชาภิสังขาร คือ สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคงไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศลเจตนาอันหมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วย สมาธิแห่งจตุตถฌาน [อุเบกขาเอกัคคตาแห่งสมาธิจิต] และ กุศลเจตนาที่เป็น อรูปาวจร ๔ ดังนี้ (๑) อากาสานัญจายตนภูมิ ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีอากาศไม่มีที่สุด (๒) วิญญาณัญจายตนภูมิ ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีวิญญาณไม่มีที่สุด (๓) อากิญจัญญายตนภูมิ ชั้นที่เข้าถึงภาวะไม่มีอะไร (๔) เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
ดังนั้น โวทานธรรม ทั้งหลายนั้น ย่อมเป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสทั้งหลายได้ [รูปฌาน ๔อรูปฌาน ๔นิโรธสมาบัติ] โดยเริ่มจากไตรสิกขาตามลำดับ นั่นคือ (๑) ศีลอันบริสุทธิ์ ด้วยการเจริญ สัมมาวาจาสัมมากัมมันตะสัมมาอาชีวะ (๒) สมาธิอันบริสุทธิ์ ด้วยการเจริญ สัมมาวายามะสัมมาสติสัมมาสมาธิ และ (๓) ปัญญาอันบริสุทธิ์ ด้วยการเจริญ สัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปปะ ที่เรียกว่า อนุปุพพสิกขา ๓ แห่งวิสุทธิ ๗ ในพระธรรมวินินัยนี้ ดังรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไปนี้
มรรคมีองค์ ๘ หมายถึง ทางมีองค์แปดประการ อันประเสริฐ เปรียบเทียบกับ จริยา ๘ คือ ความประพฤติ ได้แก่ (๑) สัมมาทิฏฐิ คือ เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ ๔ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือ เห็นปฏิจจสมุปบาท = ทัสสนจริยา การเห็นแจ้ง (๒)สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์ =อภิโรปนจริยา มีกระบวนทัศน์ (๓) สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔= ปริคคหจริยา สำรวมวาจา (๔) สัมมากัมมันตะ คือ กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓ = สมุฏฐานจริยา สร้างสรรค์ (๕) สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ ประกอบสัมมาชีพ = โวทานจริยา ความบริสุทธิ์ (๖) สัมมาวายามะ คือ พยายามชอบ ได้แก่ สัมมัปปธาน ๔ = ปัคคหจริยา หมั่นพากเพียร (๗) สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ = อุปัฏฐานจริยา สติชัดแก่กล้า (๘) สัมมาสมาธิ คือ ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔ = อวิกเขปจริยา จิตสงบตั้งมั่นสนิท
วิสุทธิ ๗ หมายถึง ความหมดจด ความบริสุทธิ์ที่สูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ ธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ ยังไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดหมายคือนิพพาน ได้แก่ (๑) สีลวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งศีล นั่นคือ รักษาศีลตามภูมิขั้นของตนให้บริสุทธิ์ และให้เป็นไปเพื่อสมาธิ วิสุทธิมัคค์ว่าได้แก่ ปาริสุทธิศีล ๔ (๒)จิตตวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งจิต นั่นคือ ฝึกอบรมจิตจนบังเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา วิสุทธิมัคค์ว่า ได้แก่ สมาบัติ ๘ พร้อมทั้งอุปจาร (๓) ทิฏฐิวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ นั่นคือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริงเป็นเหตุข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด ข้อนี้จัดเป็นขั้นกำหนดทุกขสัจจ์ [อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์] (๔) กังขาวิตรณวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ นั่นคือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้แล้วจึงสิ้นสงสัยในกาลทั้ง ๓ [ปฏิจจสมุปบาท ๑๒] ข้อนี้ตรงกับ ธรรมฐิติญาณยถาภูตญาณสัมมาทัสสนะ และจัดเป็นขั้นกำหนดสมุทัยสัจจ์ (๕) มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง นั่นคือ เริ่มเจริญวิปัสสนาต่อไปด้วยพิจารณากลาป จนมองเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย [ไตรลักษณ์สามัญลักษณะ ได้แก่ อนิจจังทุกขัง อนัตตา] อันเรียกว่า อุทยัพพยานุปัสสนา เป็นตรุณวิปัสสนา คือวิปัสสนาญาณอ่อนๆ แล้วมี วิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้น กำหนดได้ว่าอุปกิเลสทั้ง ๑๐ แห่งวิปัสสนานั้นมิใช่ทาง ส่วนวิปัสสนาที่เริ่มดำเนินเข้าสู่วิถีนั่นแลเป็นทางถูกต้อง เตรียมที่จะประคองจิตไว้ในวิถีคือ วิปัสสนาญาณ นั้นต่อไป ข้อนี้จัดเป็นขั้นกำหนดมัคคสัจจ์ (๖) ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน นั่นคือ ประกอบความเพียรในวิปัสสนาญาณทั้งหลายเริ่มแต่ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ที่พ้นจากอุปกิเลสดำเนินเข้าสู่วิถีทางแล้วนั้น เป็นต้นไป จนถึง สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ อันเป็นที่สุดแห่งวิปัสสนา ต่อแต่นี้ก็จะเกิด โคตรภูญาณ คั่นระหว่างวิสุทธิข้อนี้กับข้อสุดท้าย เป็นหัวต่อแห่ง ความเป็นปุถุชน กับ ความเป็นอริยบุคคล โดยสรุป วิสุทธิข้อนี้ ก็คือ วิปัสสนาญาณ ๙ [กระบวนการทุบขันธ์ ๕] (๗) ญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ นั่นคือ ความรู้ใน อริยมรรค ๔มรรคญาณ [ปัญญาอริยะโลกุตตรปัญญา] อันเกิดถัดจาก โคตรภูญาณ เป็นต้นไป เมื่อมรรคเกิดแล้วผลจิตแต่ละอย่างย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปจาก มรรคญาณ นั้นๆ ความเป็นอริยบุคคล ย่อมเกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันบรรลุผลที่หมายสูงสุดแห่งวิสุทธิ หรือไตรสิกขา หรือ ขั้นตอนการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
ในอันดับต่อไปนี้ ให้ท่านทั้งหลายได้อ่านบทประพันธ์ร้อยกรองเกี่ยวกับ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประพันธ์โดย คุณมานิต สุวรรณคำ เพื่อเป็นธรรมวิทยาทานในการสืบทอดข้อประพฤติปฏิบัติอีกแนวทางหนึ่ง คุณมานิต สุวรรณคำ เป็นบุคคลที่มีโอกาสอันเยี่ยมที่ได้ปฏิบัติรับใช้พระอริยสงฆ์หลายรูป เป็นผู้ได้รับ อนุตตริยะ ๖ ด้วยกุศลบุญวาสนาที่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และรวมทั้ง พระอริยสาวกของพระองค์ทั้งหลาย ดังรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไปนี้
อนุตตริยะ ๖ หมายถึง ภาวะอันยอดเยี่ยม สิ่งที่ยอดเยี่ยม ได้แก่ (๑) ทัสสนานุตตริยะ คือ การเห็นอันเยี่ยม ได้แก่ การเห็นพระตถาคต และตถาคตสาวก รวมถึงสิ่งทั้งหลายที่จะให้เกิดความเจริญงอกงามแห่งจิตใจ (๒) สวนานุตตริยะ คือ การฟังอันเยี่ยม ได้แก่ การสดับธรรมของพระตถาคต และตถาคตสาวก (๓) ลาภานุตตริยะ คือ การได้อันเยี่ยม ได้แก่ การได้ศรัทธาในพระตถาคตและตถาคตสาวก หรือการได้ อริยทรัพย์ ทั้ง ๗ นั่นคือ ศรัทธาศีลหิริโอตตัปปะพาหุสัจจะจาคะปัญญา (๔) สิกขานุตตริยะ คือ การศึกษาอันเยี่ยม ได้แก่ การฝึกอบรมใน อธิศีลอธิจิตต์และอธิปัญญา (๕) ปาริจริยานุตตริยะ คือ การบำเรออันเยี่ยม ได้แก่ การบำรุงรับใช้พระตถาคต และตถาคตสาวก (๖) อนุสสตานุตตริยะ คือ การระลึกอันเยี่ยม ได้แก่ การระลึกถึงพระตถาคต และตถาคตสาวก
โดยสรุป คือ การเห็นการฟังการได้การศึกษาการช่วยรับใช้และการรำลึก ที่จะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ ล่วงพ้นโสกะปริเทวะ ดับสูญทุกข์โทมนัส หรือสังกิเลสทั้งหลาย เพื่อการบรรลุ ญายธรรม อันเป็นสิ่งที่สมเหตุผล ทางที่ถูก วิธีการที่ถูกต้อง ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง หมายถึง อริยอัฏฐังคิกมรรค อริยมรรคมีองค์ ๘ ภาวะอันจะลุถึงได้ด้วยข้อปฏิบัติที่ถูกต้องและทำให้แจ้งซึ่ง นิพพาน |
|