๒๙. ความไม่รู้จักประมาณตนและบุคคลทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ NonKnowing Oneself and the Different Individuals Causes False View
By Nithee Siripat Siripat.com and Academiae Network. 2016
ความสำคัญของบทความ
บุคคลผู้ยอมรับพระพุทธเจ้าไว้เป็นที่พึ่งสรณะแห่งชีวิตนั้น ย่อมเจริญตนเองด้วยการเจริญภาวนาใน กายศีลสมาธิปัญญา ตลอดเวลาอย่างพอดีเหมาะควรแก่ธรรม ไม่แสดงตนโอ้อวดฤทธิ์เดชต่อบุคคลอื่นอันไม่ควรแก่ฐานะที่เหมาะสมที่ควรจะเป็น ความนึกคิดว่าเหนือกว่าตน เสมอตน หรือดีกว่าตน ย่อมนำความขุ่นมัวแห่งจิตมาครอบงำความนึกคิดของตนไปในทางอันไม่ควรต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น การครอบอินทรีย์ทั้ง ๖ อย่าง ให้อยู่ในภาวะที่ถูกต้องโดย (๑) อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ (๒) หลักมัชฌิมาปฏิปทา (ไตรสิกขา) นั้น จึงเป็นเรื่องที่พึงทำให้จริงจังเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นสัจจธรรม (อริยสัจจ์ ๔: ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค หรือ แนวนึกคิดพิจารณาตามวิธีทางวิทยาศาสตร์The Scientific Methods) และเพื่อให้เกิดความไม่ประมาท (อัปปมาทะ) ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นกัน ไม่ใช่แค่คำพูดลมปากอันไม่สารประโยชน์ในทางธรรม เมื่อดำเนินตามทางแห่งอกุศลธรรมดังกล่าวนี้มากๆ แล้ว ย่อมเกิดเป็นพื้นจิตนิสัยสันดานประจำตนในทางที่ผิด คือ ทำผิดแล้วนึกคิดว่าตนไม่ผิดไม่มีหิริโอตตัปปะพรั่งพร้อมอยู่ในใจ (อลัชชี คือ ผู้ไม่มีความละอาย ผู้หน้าด้าน) นั่นคือ หิริ คือ ความละอายใจต่อการทำความชั่ว และ โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว คุณสมบัติดังกล่าวนี้ คือ คุณธรรมของความเป็นคนดี มีมนุษยธรรมประจำใจ ไม่คิดร้ายหรือเบียดเบียนชีวิตของตนและผู้อื่น.
บทความที่ ๒๙ ประจำปี ๒๕๕๙ ความไม่รู้จักประมาณตนและบุคคลทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ
ปุถุชนทั่วไปนั้น อาจดำเนินชีวิตด้วยความประมาทเลินเล่อหรือไม่ใส่ใจอย่างแท้จริงในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะความไม่รู้จริง ขาดสติ ไม่ประกอบด้วยปัญญาและเหตุผล ที่จะพิจารณาเห็นสภาวธรรมตามเป็นจริงหรือตาม กฎธรรมชาติ หรือ ธรรมฐิติแห่งไตรลักษณ์ (ธรรมนิยาม ๓) ที่ข้ามสาระสำคัญของ ปรมัตถสัจจะ หรือยึดมั่นตาม สมมติสัจจะ คือ ความนึกคิดแบบชาวโลกที่พอกพูนด้วยกิเลสทั้งหลาย ฉะนั้น ความนึกคิดทั้งหลายจึงสกปรกด้วยปฏิกูลแห่งกิเลสทั้งหลาย ไม่สะอาดบริสุทธิ์ดีพอ ที่จะคิดถึงสิ่งดีๆ เป็นสารประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นได้ ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างปัญหาความคิดร้อยแก่กัน (พยาบาท) อย่างไม่ตั้งใจ ไม่เกิดความราบรื่นสงบ ที่เป็นอานิสงส์สร้างสมบารมีอย่างแท้จริง เพราะความนึกคิดอย่างผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง คือ สัจจธรรมปรมัตถสัจจะ มิฉะนั้น ก็อาจจะเป็นเพราะปรารถนาที่จะโอ้อวดปัญญาของตน ยกตนข่มคุณของคนอื่น ความดื้อด้านกระด้างแห่งจิตขั้นต่ำ หรือความต้องการแข่งดีเอาชนะผู้อื่นที่ตนไม่อยู่ในฐานะ ผู้รู้ไม่จำเป็นต้องโต้ตอบคำถามทุกกรณี พฤติกรรมอันพอกพูนกิเลสนี้ ทำให้ตนและคณะตกอยู่ในภูมิแห่งความไม่เจริญ (อบายภูมิ ๔) ไม่เป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าต่างสรรเสริญ เพราะไม่พบกับความเจริญก้าวหน้าตามกระแสแห่งอริยมรรคแต่ประการใด ดูเหมือนกับว่าจะดี แต่ไม่เป็นเรื่องในธรรมของความเป็นผู้ดีผู้มีปัญญาพึงเป็นไป (สัปปุริสธรรม ๗: ธัมมัญญุตาความรู้จักธรรม ๑ อัตถัญญุตาความรู้จักอรรถ ๑ อัตตัญญุตาความรู้จักตน ๑ มัตตัญญุตาความรู้จักประมาณ ๑ กาลัญญุตาความรู้จักกาล ๑ ปริสัญญุตาความรู้จักบริษัทรู้จักชุมชน ๑ ปุคคลัญญุตาความรู้จักบุคค ๑ หรือ สัทธรรม ๗: ศรัทธาหิริโอตตัปปะพหูสูตวิริยารัมภะสติปัญญา) แต่เป็นเรื่องของเศษกรรม ที่ค่อยๆ สะสมขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดความประมาท เลินเล่อไม่ใช้ปัญญาและเหตุผลตามเป็นจริง เป็นคำพูดพล่อยๆ แห่งวจีทุจริตทั้ง ๔ (มุสาวาทปิสุณาวาจาผรุสวาจาสัมผัปปลาปะ) โดยไม่ตั้งใจ น่าจะได้ดีเลยไม่ได้ดี น่าจะก้าวหน้าเลยไม่ก้าวหน้าอย่างผู้มีปัญญาหรือผู้เจริญแล้ว (ภาวิตัตต์อัตตสัมปทา) ความเป็นไม้แก่ดัดยาก จะสอนก็สอนไม่ได้ ไม่เอาถ่านไม่เอาความ เป็นบุคคลไม่น่าวางใจได้ จิตยังประกอบด้วยกิเลสเครื่องเนิ่นช้า กิเลสที่เป็นตัวการทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร ทำให้เขวห่างออกไปจากความเป็นจริงที่ง่ายๆ เปิดเผย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริงหรือทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกทางตรงไปตรงมา ที่เรียกว่า ปปัญจธรรม ๓ (ตัณหาทิฏฐิมานะ) อยู่เป็นนิตย์หรือเป็นพักๆ ไม่คงที่มั่นคงสนิทด้วยจิตเป็นสมาธิ (ฌานจิต) คือ จิตมีความฟุ้งซ่าน ผีเข้าผีออกยังไม่อยู่ในฐานะที่จะไปชี้แนะสั่งสอนบุคคลอื่นได้ เพราะยังด้อยปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม กล่าววาจาทุจริตทั้งหลายออกไปโดยขาดสติ เพราะคิดเอาเองว่าถูกต้องสะใจของตน (อัตตวาทุปาทาน: ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน คือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน ที่จะได้ จะเป็น จะมี จะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลาย หรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ได้ ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวง อันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วนๆ) คิดว่าทำให้คนอื่นแก้ไขตนได้ แต่กลับไม่สร้างความสามัคคีธรรมในหมู่คณะ ไม่แสดงจริยาอาการงดงามน่านับถือดุจบรรดาอริยบุคคลทั้งหลายพึงน่าจะเป็น มีแต่สร้างความเป็นศัตรู (พยาบาทปฏิฆะโทสะ) ไม่น่าศรัทธา เพราะมีภพภูมิต่ำทั้งปัญญาและชีวิต แต่ยังเข้าใจผิดคิดว่าตนสูงกว่าบุคคลอื่น จนกระทั่งรุกรามล่วงล้ำเข้าไประรานพระสงฆ์องคเจ้าได้เช่นกัน นั่นคือ ไม่รู้จักประมาณตน ไม่รู้จักประมาณบุคคล ไม่รู้จักประมาณกาลเทศะ ไม่มีธรรมของผู้ดี ที่ทำให้น่านับถือ เกรงใจด้วยความเคารพ แม้ตนเองจะทำประโยชน์ให้แก่บุคคลอื่นได้จริง แต่อย่าใช้ข้อประโยชน์นั้น เป็นข้อส่อเสียดแทงใจบุคคลอื่นให้กลายเป็นศัตรูในอนาคต เพราะในยามตกต่ำนั้น ย่อมไม่ได้รับความเมตตาและความกรุณาจากบุคคลใดๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนเลวก็ตาม คือ มีความซวยทั้งขึ้นและทั้งร่อง จะหนีเข้าวัดหรือสถานปฏิบัติธรรมมากแค่ไหนก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย เกิดความคับแค้นใจ (อุปายาส) เพราะความกระด้างของจิตใจ ที่ขัดเกลากิเลสให้เบาบางได้ยาก แต่ที่น่ากลัวกว่านั้น คือ เกิดความฟุ้งซ่านสำคัญผิดในธรรมที่กำลังปฏิบัติอยู่ ว่าตนได้บรรลุธรรม คือ มรรคผลนิพพาน ได้บ้างแล้ว ยิ่งสร้างภัยอันตรายให้แก่ตนเอง โดยการโอ้อวดธรรมวิเศษเหล่านั้น อันไม่ควรพึงแสดงตนดังกล่าว (เจโตปริยญาณ คือ ญาณที่ให้กำหนดใจคนอื่นได้) เพราะไม่สร้างความน่าศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริง (หวังประโยชน์จากคนอื่น) ยังไม่มีคุณสมบัติของความเป็นพระพุทธเจ้าครบถ้วน พระธรรมครบถ้วน แม้แต่พระสงฆ์อริยสาวกครับถ้วน การโอ้อวดแสดงฤทธิ์ใน อตตริมานุสสธรรม (อธิคมธรรม) ต่อผู้อื่นนั้น จึงเป็น เรื่องบาปกรรมแห่งอบายภูมิ เพราะไม่สงบและงดงามทั้งพฤติกรรมและปัญญาทั้งปวง ยังมีข้อบกพร่องน่าตำหนิไม่สะอาดเพียงพอจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ปัญญาหางอึ่ง นั้น ย่อมนำความเสียหายมาสู่ตนอย่างไม่รู้ตัว สร้างศัตรู นำภัยพิบัติต่างๆ มาสู่ตน จะได้ดีก็ไม่ได้ดีอย่างเต็มที่ อยู่อย่างดิบๆ สุกๆ เหมือนผีดิบ การหาข้อสรุป (Generalizations) ที่ถูกใจตนเอง แต่ไม่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น จึงเป็นบาปทุจริตทั้งปวง จึงเท่ากับการหาข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวเพื่อเข้าข้างตนเองอยู่ร่ำไปหรือพร่ำเพื่อไป กล่าวโดยย่อ คือ การเป็นบุคคลผู้ไม่สามารถดึ่งตนเองได้จริงด้วยปัญญาตามแนวทางของพระพุทธเจ้า (มัชฌิมาปฏิปทาอริยมรรคมีองค์ ๘) แต่ยังกลับไปแสดงกรุณาคุณกับผู้อื่นโดยหวังผลตอบแทนในอนาคตอย่างไม่ควรฐานะที่ควรจะเป็นเช่นนั้นอีก นั่นคือ เอาดีได้ยากที่จะเห็นความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีอัตราความเสี่ยงต่อความฉิบหายตลอดเวลา ไม่เกิดกุศลกรรมและกุศลวิบากอย่างแท้จริง มีแต่ความลำบาก ความอัตคัด ความขัดสน ความขาดแคลน ความฝืดเคือง และความยากจน รุกรานเข้าครอบงำวิถีชีวิตตลอดเวลา เพราะมีปัญญาที่ไม่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง ยังอ่อนข้อต่อพวกกิเลสทั้งหลาย ที่เข้ามาขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมแห่งอริยมรรค เพราะฉะนั้น สัมมาอาชีวะ ในทางโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย สัมมาวาจา ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และ สัมมากัมมันตะ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้ เริ่มจากศีลอันบริสุทธิ์ อันส่งอานิสงส์ให้เกิดความสุขสงบในชีวิต (อุปสมะ) ทำให้เกิดโภคทรัพย์ จนขั้นสูงสุด คือ ทำให้เข้าถึง พระนิพพาน ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจุดเริ่มต้นก้าวย่างได้ไม่ดีพออย่างถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก้าวย่างต่อไปย่อมไม่ถูกต้องและสมบูรณ์ตามมา ทำให้หมดโอกาสที่จะเห็น โลกุตตรธรรม ได้ เพราะความฟุ้งซ่าน ไม่มีสติ ความหลงใหลงมงาย ในธรรมอย่างผิดๆ เพราะความประมาทเลินเล่อในปัญญาทั้งปวงอย่างเน่าเสียดาย ความสมมาตรลงตัวกันระหว่างปัญญาทางโลกกับทางธรรมนั้น ย่อมเป็นภาวะที่สมบูรณ์และไพบูลย์ซึ่งกันและกัน ดังเช่น อำนาจพลังที่เสมอกันพร้อมกันระหว่างสมถพละกับวิปัสสนาพละที่จะทำให้บรรลุความตรัสรู้ธรรมได้ (สัมโพธิญาณ) คือ มีทั้ง สติความระลึกได้ กับ สัมปชัญญะความรู้รอบทั่วถ้วนตน ที่เรียกว่า สติสัมปชัญญะ หมายถึง ระลึกได้และรู้ตัวอยู่เสมอ คือ ฝึกตนให้เป็นคนรู้จักยั้งคิด (สติปัฏฐาน ๔สัมมาสติ คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมัน) รู้สึกตัวเสมอว่า สิ่งใดควรทำ และไม่ควรทำ ระวังมิให้เป็นคนมัวเมาประมาท ไม่ให้กิเลสทั้งหลายเข้ามาครอบงำอินทรีย์ทั้ง ๖ (อินทรียสังวร คือ สำรวมอินทรีย์ มีสติระวังรักษาใจ มิให้กิเลสคือความยินดียินร้ายเข้าครอบงำ เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ โดยมี เห็นรูปด้วยตา ๑ ได้ยินเสียงด้วยหู ๑ ได้กลิ่นด้วยลิ้น ๑ ได้สัมผัสกายด้วยกาย ๑ ได้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ๑) ฉะนั้น การฝึกอบรมจิตใจให้รู้จักระงับกิเลสทั้งหลาย (ราคะโทสะโมหะ) ได้นั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสามัญต่อปุถุชนทั่วไป การรู้ให้เท่าทันอำนาจครอบงำแห่งกิเลสทั้งหลายนั้น จึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิตจริง ไม่ใช่พูดเพียงลมปากไม่รับผิดชอบในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ก็เท่ากับรู้ไม่ทันกิเลสทั้งหลาย นั่นเอง ในประการสุดท้ายนั้น จึงกล่าวได้ว่า จิตที่สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสอย่างแท้จริง ที่เรียกว่า กิริยาจิตแห่งพระอรหันต์ (อยู่เหนือวัฏฏะ ๓: กิเลสกรรมวิบาก) นั้น จึงเป็นสภาวะแห่งจิตที่พึงปรารถนาของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงมีพึงได้จากการปฏิบัติธรรม สิ่งนี้คือมหาอานิสงส์สูงสุดตามจุดมุ่งหมายแห่งการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะเป็นพุทธบริษัทอย่างแท้จริงในการสืบทอดพระธรรมคำสอนของพระตถาคตเจ้าอย่างแท้จริงเช่นเดียวกัน.
|