๓๕. การระลึกชาติได้เป็นภาพนิมิตแห่งความทุกข์ Recalling a Previous Life as the Mental Signs of Suffering
By Nithee Siripat Siripat.com and Academiae Network. 2016
ความสำคัญของบทความ
การระลึกชาติได้นั้น เป็นอานิสงส์ที่ประเสริฐเยี่ยมอย่างหนึ่งในผลแห่งการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่การนำเอาผลแห่งการหยั่งรู้เห็นเรื่องราวในอดีตมาเป็นธรรมเครื่องชักนำชีวิตในปัจจุบันนั้น ย่อมเป็นเรื่องไม่เหมาะสมกับกุศลกรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต เพราะอาจเป็นเหตุให้จิตวิปลาสหรือเป็นอคติต่อความนึกคิดทั้งหลายที่ถูกต้อง ที่พิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาและเหตุผลตามเป็นจริงได้ แต่อย่างไรก็ตาม การระลึกชาติได้นั้น ความเอาความรู้ดังกล่าวนั้น มาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาหรือวิปัสสนากรรมฐาน ให้เกิดปัญญาเข้าถึงไตรลักษณ์ (ธรรมนิยาม ๓ธรรมฐิติ) ทำให้เกิดความศรัทธาปสาทะเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น สามารถนำมาพิสูจน์ตรวจสอบจนความจริงได้ ไม่ใช่เรื่องงมงายไม่มีเหตุผล เรื่องราวในอดีตทั้งหมดเป็นเรื่องความทุกข์ ที่ทำให้ตนเวียนว่ายตายเกิดจนดำเนินมาจนถึงชาติปัจจุบันนี้ เรียนรู้ให้เป็นตัวอย่างได้ แต่อย่าไปติดอยู่กับเรื่องนั้นๆ นำมาทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งประณีตในเรื่อง กฎแห่งกรรม และ กัมมัสสกตา (กฎแห่งกรรมของสัตว์) อย่าไปทำให้เป็นเรื่องการต้องตามหากันในชาตินี้ เพื่อมาสร้างมาประกอบทุกข์กันใหม่ให้เสียเวลาไปเปล่าๆ ยิ่งบาปหนักขึ้นไปอีก ถ้านำเรื่องตาทิพย์นี้มาใช้ในการหากินเอาเปรียบคนอื่น เช่น ทำตนเป็นหมอดูทำนายพยากรณ์ชีวิตคนอื่นอันไม่ควรแก่ฐานะ สร้างความงมงายหลงใหลให้เกิดขึ้นในตนเองและคนอื่น คือ ประกอบทุกข์ให้เกิดขึ้นด้วยความเบียดเบียนในที่สุด.
บทความที่ ๓๕ ประจำปี ๒๕๕๙ การระลึกชาติได้เป็นภาพนิมิตแห่งความทุกข์
เมื่อผู้บำเพ็ญเพียรภาวนากรรมฐานได้เจริญรูปฌานจนถึงที่สุด คือ จตุตถฌาน ซึ่งจิตประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ ได้แก่ (๑) อุเบกขา กับ (๒) เอกัคคตาแห่งสมาธิ โดยปกติแล้ว ย่อมเกิดอานิสงส์แห่งการปฏิบัติที่ถูกต้อง นั่นคือ การบรรลุถึงความรู้แจ้งแห่งวิชชา ที่เรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ หมายถึง ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้ หรือระลึกชาติได้ ซึ่งเป็นกระบวนการคิดที่ จิตแห่งสติสัมปชัญญะ (จิตตัวผู้วิปัสสนา) ได้ประมวลผลเป็นภาพนิมิตย้อนหลังกลับไปสู่ห้วงเวลาในอดีต และกำหนดรู้ภาพนิมิตนั้นเป็นขันธ์ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ที่เวียนว่ายตายเกิดในกระแสแห่งสังสารจักร ซึ่งเป็นสภาพแห่งทุกข์ นั่นเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ที่เกิดขึ้นแล้วดับไปในอดีต การระลึกชาติจะย้อนกลับไปได้ไกลแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับพลังจิตของบุคคลนั้นๆ พึงกระได้มากน้อยแตกต่างกันไป ภาพนิมิตที่เห็นในอดีตเกิดจากความบริสุทธิ์ของ สัญญา อันเป็นความทรงจำที่เก็บไว้ในปัจจุบัน ความแม่นยำและความถูกต้องจึงขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของ ญาณทัสสนะ คือ ปัญญาหยั่งรู้เห็นจริง แต่ถ้าเกิดจากจิตที่ไม่บริสุทธิ์ด้วยนิวรณ์ โดยมีกิเลสเข้าครอบงำเจตนา (สัญเจตนา) แล้วปรุงแต่งภาพนิมิตไปตามอำเภอใจนั้น เรียกว่า จิตฟุ้งซ่าน หรือเรียกอีกอย่างว่า ธัมมุทธัจจะธรรมุธัจจ์ คือ ความฟุ้งซ่านด้วยสำคัญผิดในธรรม คือ ความฟุ้งซ่านเนื่องจากเกิด วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ได้แก่ ๑. โอภาสแสงสว่าง ๒. ปีติความอิ่มใจปลาบปลื้มเต็มไปทั้งตัว ๓. ญาณความรู้ที่คมชัด ๔. ปัสสัทธิความสงบเย็นกายใจ ๕. สุขความสุขฉ่ำชื่นทั่วทั้งตัวที่ประณีตอย่างยิ่ง ๖. อธิโมกข์ศรัทธาแรงกล้าที่ทำให้ใจผ่องใสอย่างยิ่ง ๗. ปัคคาหะความเพียรที่พอดี ๘. อุปัฏฐานสติชัด ๙. อุเบกขาความวางจิตเป็นกลางที่ลงตัวสนิท ๑๐. นิกันติความติดใจพอใจ อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น แล้วสำคัญผิดว่าตนบรรลุธรรม คือ มรรคผลนิพพาน จิตก็เลยคลาดเขวออกไปเพราะความฟุ้งซ่านนั้น ไม่เกิดปัญญาที่จะเห็นไตรลักษณ์ได้จริง นั่นคือ จิตคิดไปเอง สะกดจิตตัวเองไปในอาการต่างๆ นาๆ ที่เรียกว่า เสียสติ ไม่ประกอบด้วย สติสัมปชัญญะ (สติปัญญา) ซึ่งก็ไม่แตกต่างจาก คนบ้า นั่นเอง ในการกำหนดรู้เรื่องราวในอดีตได้ แล้วไม่เข้าไปยึดมั่นเป็นผลในปัจจุบันได้ จึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เพียงแต่เข้าใจถูกต้องถึงสภาพแห่งทุกข์ (ทุกขตา) ไม่ไปหลงภพภูมิครั้งอดีตนั้นๆ แล้วมาตามหาพรรคพวกในชาติปัจจุบัน สร้างความเดือดร้อนและความวุ่นวายขึ้นอีก ทำให้ขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิบัติเจริญภาวนาเปล่าๆ เพราะจิตยังเรียกร้องถึงอดีตอีก ทั้งที่ทุกอย่างมันผ่านไปแล้ว ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอ่อนไหวต่ออนาคตของการเจริญภาวนากรรมฐาน ที่สำคัญทำให้เสียภาพพจน์ต่อผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกันเปล่าๆ ประการสำคัญ อาจถูกกล่าวขานว่าเป็นพวกลิเกหลงโรง ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ ตามสถานปฏิบัติธรรม ทำให้เสียผู้เสียคนมามากมายเช่นกัน เรื่องนี้จึงควรตัดขาดให้ได้ ไม่ไปใฝ่หาเรื่องให้เกิดขึ้นอีก ปล่อยวางแล้วอยู่กับปัจจุบันดีกว่า ก็ให้ ทำพูดคิด แต่ในสิ่งดีๆ เป็นบุญกุศลดีกว่า ล้วนแต่เป็นกรรมดีหรือกุศลกรรม เพื่อเป็นฐานสำคัญให้เข้าถึง โลกุตตรธรรม ให้ได้ในชาตินี้ โดยพิจารณาเนืองๆ ว่า ไม่เพลิดเพลินกับโลกทั้งปวง และไม่ปรารถนากับสังขารทั้งหลาย ซึ่งประกอบด้วย ภพชาติชราพยาธิมรณะโสกะ และ สังกิเลสทั้งหลายเป็นธรรมดา คือ ไม่ติดใจอยู่กับเรื่องราวในอดีต จนทำให้จิตเศร้าหมอง แล้วมี อวิชชาตัณหาอุปาทาน เข้ามาปิดกั้นปัญญาจนคลาดเคลื่อนจากเป็นจริง บุคคลผู้ประมาทในธรรม ไม่ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ ย่อมหลงทางในภพภูมิของการเจริญภาวนากรรมฐานได้ เพราะพิจารณาสภาวธรรมปราศจาก สติสัมปชัญญะ นั่นคือ กลับกลายเป็น อโยนิโสมนสิการ แทนที่จะเป็น โยนิโสมนสิการ (ทิพพจักขุญาณธรรมฐิติญาณ) ด้วยการถือปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า กลับออกนอกลู่นอกทางเข้าป่าไปอย่างไม่รู้ทิศทาง แล้วยังถือทิฏฐิว่าตนเองได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วเสียอีก การเริ่มต้นที่ถูกต้องจึงเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญในการก้าวเดินไปสู่กระแสแห่งอริยมรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าไปเอาวาระแห่งกรรมฝ่ายอกุศลธรรมของผู้อื่นมาเป็นข้อสนับสนุนแห่งมิจฉาทิฏฐิของตน ว่าไม่เชื่อคำพูดของตนจึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น การหาข้อสนับสนุนเช่นนั้น แล้วนำมายืนยันทัศนคติของตนอย่างผิดๆ ยิ่งทำให้เกิดแนวคิดการแลกผลประโยชน์กับการปฏิบัติธรรมขึ้นได้ เช่น เพื่อความโชคดี หรือความมั่งมีร่ำรวย เป็นต้น อาการดังกล่าวนี้ ย่อมไม่ใช่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอันขัดแย้งกับพวก ลัทธิเสี่ยงโชค ลัทธิกรรมเก่า หรือแม้แต่ ลัทธิพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น การยึดมั่นในวาทกรรมของตนเป็นใหญ่ว่าถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่ผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ผู้ปฏิบัติธรรมพึงระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้หลงทางออกจากอริยมรรคได้ ไม่ดำเนินชีวิตตาม หลักมัชฌิมาปฏิปทาอริยมรรคมีองค์ ๘และอริยสัจจ์ ๔ รวมทั้ง มัคคญาณ ๔ อันเป็นแนวทางปฏิบัติอันประเสริฐ ฉะนั้น การเห็นความสัมพันธ์ในกาลทั้ง ๓ อย่าง ได้แก่ อดีตอนาคตปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องสำคัญระหว่างเหตุกับผล ไม่ใช่โชคลาภความสุขความร่ำรวยอะไรทั้งสิ้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ (ทุคติ) และเป็นสรณะที่พึ่งไม่ได้ดังเช่นพระรัตนตรัย ลองคิดพิจารณาทบทวนถึงข้อประพฤติปฏิบัติธรรมของตนว่าดำเนินมาถูกต้องดีหรือไม่ กากรไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย อาจนำมาสู่ความเดือดร้อนหรือวิปฏิสารแก่ตนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ทำพูดคิด ก็ตาม (กรรม ๓) การไม่รู้จักทบทวนกระบวนการคิดของตนว่าถูกต้องตามกระแสแห่งอริยมรรคนั้น อาจเป็นต้นเหตุนำไปสู่ความฉิบหายวิบัติใดๆ จนถึงความวิปลาสหรือความลำเอียงก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไปสบประมาทผู้อื่นว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพราะขัดเคืองใจ (อรติไม่ยินดีด้วยกับคนอื่น กลัวเขาได้ดีกว่า) ยิ่งแสดงว่าตนเองยังไม่สามรถชำระนิวรณ์ออกจากจิตใจได้จริง เพราะขาด มุทิตาธรรม (ความยินดีที่เห็นเขาพ้นทุกข์เป็นสุข) นั่นเอง แล้วจะบอกว่าจิตเป็นอุเบกขาและเอกัคคตาแห่งสมาธินั้น ย่อมผิดพลาดอย่างแน่นอน ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเล็กๆ น้อยๆ นี้ เกิดขึ้นเสมอกับผู้ปฏิบัติธรรมที่ประมาทไม่สำรวจระวังอินทรีย์ทั้งหลาย คือ จิตยังสหรคตด้วย ตัณหาทิฏฐิมานะ อยู่โดยไม่รู้ตัวอย่างขาดสติ หรือระลึกรู้ตัวบ้างระลึกไม่ได้บ้างเป็นไปตามอารมณ์ ไม่ประกอบด้วยปัญญาและเหตุผล เพื่อการบรรลุธรรมวิเศษอย่างแท้จริง นั่นเอง.
|