๖๐. การบรรลุอุตตริมนุสสธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตน The Ripening of Perfect Enlightenment as Private Achievement
By Nithee Siripat Siripat.com and Academiae Network. 2016
ความสำคัญของบทความ
ในการปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อบุคคลต้องการทราบว่าตนเองได้พัฒนาตนไปถึงระดับการบรรลุธรรมวิเศษขั้นใดนั้น ต้องสามารถตรงสอบวัดผลหรือประเมินผลความสำเร็จดังกล่าวนั้นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอการตัดสินจากบุคคลอื่น อันจะเป็นเหตุให้เกิดจิตวิปลาสฟุ้งซ่านไปใน ปปัญญจธรรม ๓: ตัณหาทิฏฐิมานะ เพราะในการบรรลุธรรมขั้นสูงนั้น เป็นการรู้เห็นได้เฉพาะตน คือ บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง ถ้าได้ประพฤติปฏิบัติมาอย่างถูกต้องตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกขั้นตอน ซึ่งแต่ละคนต้องอาศัยเวลาในการบรรลุผลสำเร็จนี้แตกต่างกันไป ข้อที่พึงระวังอย่างยิ่งนั้น อย่าใช้ผลสำเร็จแห่งอุตตริมนุสสธรรมไปในการประกอบอาชีพในทางไม่สุจริต เป็นการหลอกคนอื่นเลี้ยงชีพอย่างเด็ดขาด ด้วยจิตที่ฟุ้งซ่าน สำคัญตนผิดว่าได้บรรลุ โลกุตตรธรรม ๙ แล้ว จนถึงขั้นเป็นโรคประสาทโรคจิตไปแบบไม่รู้ตัวหรือเสียสติไปแล้ว ในการบรรลุพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น อยู่เหนือกาลเวลา ไม่จำกัดกาลเวลา ผู้รู้ทั้งหลายสามารถบรรลุได้โดยรู้ได้เฉพาะตน [ปัจจัตตัง] ถ้าบุคคลนั้นมีปรีชาสามารถประกอบด้วย ปัญญาญาณ แห่งสภาวธรรมใน ๒ อย่าง ได้แก่ (๑) โลกียสัมมาทิฏฐิ กับ (๒) โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ คือ การเป็นผู้รู้แจ้งโลกและชีวิตอันเป็นจริงตามกำหนดแห่งธรรมดา ที่เรียกว่า กฎธรรมชาติ [Natural Law] นั่นคือ ปัญญาหยั่งรู้และหยั่งเห็นธรรมทั้งปวงด้วยไตรลักษณ์ โดยเฉพาะข้อหลุดพ้นด้วย อนัตตานุปัสสนาสุญญตวิโมกข์ ที่สัมปยุตต์ด้วยกำลังแห่งสมถสมาธิหรือจิตตสมาธิอันปราศจากนิวรณ์ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็รู้ตนได้ว่าเป็นผู้รู้หรือพหูสูต [Omniscience] กล่าวโดยสรุป การบรรลุธรรมวิเศษแห่งพระธรรมวินัยนี้ ไม่สามารถหาบุคคลอื่นมาเป็นกรรมการตัดสินได้อย่างเหมาะสม ผู้ปฏิบัติธรรมหรือผู้ประกอบความเพียรในภาวนากรรมฐานนั้น ย่อมสามารถรู้ได้ด้วยตนเองเป็นอย่างดี โดยไม่ผ่าฝืนตามหลักธรรมวินัยหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี.
บทความที่ ๖๐ ประจำปี ๒๕๕๙ การบรรลุอุตตริมนุสสธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตน
พุทธศาสนิกในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังชื่นชอบหลงใหลกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ เพื่อนำไปใช้แสวงหาประโยชน์ต่างๆ เช่น การค้าขายหรือทำธุรกิจ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นไปทางพยาบาทและวิหิงสา คือ การคิดประทุษร้ายกัน และการเบียดเบียนกัน ไม่เป็นไปทางเมตตาธรรม หรือการมีไมตรีจิตต่อกัน พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ถือมั่นด้วยศรัทธาและฉันทะในเรื่องการกระทำที่ให้เห็นเป็นอัศจรรย์ ที่เรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ หมายถึง คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริง เป็นอัศจรรย์ ไม่ส่งเสริมใน อิทธิปาฏิหาริย์ คือ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ หรือ อาเทศนาปาฏิหาริย์ คือ การทายใจ สภาพจิต ความคิด อุปนิสัย ได้ถูกต้องเป็นอัศจรรย์ แต่ส่วนใหญ่ชอบทำตนเป็นหมอดูโหราจารย์เลี้ยงชีพ ไม่ได้หมายเอานิพพานเป็นผลแห่งการปฏิบัติธรรม และมักอ้างตนเป็นผู้ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ เพื่อรับรองวิทยฐานะการเป็นหมอดู สมาธิเกี่ยวข้องกับหมอดูอย่างไรนั้น พออธิบายได้เช่นกัน นั่นคือ ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนนั้น ถ้าฝึกอบรมจิตใจมาดีด้วยการบำเพ็ญสมถภาวนา ย่อมไดรับอานิสงส์เป็นผู้มีพลังจิตได้อย่างแน่นอน ที่เรียกว่า รูปฌาน ๔ ได้แก่ ปฐมฌานทุตยฌานตติยฌานจตุตถฌาน ระดับฌานสมาบัติที่ดีที่สุดในขั้นนี้ คือ จตุตถฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขาเอกัคคตาแห่งสมาธิ อันจิตตสมาธิปราศจากนิวรณ์ ที่เรียกว่า จิตประภัสสร การบรรลุผลแห่งฌานสมาบัตินั้น ย่อมทำให้เข้าถึง อุตตริมนุสสธรรม หรือ คุณวิเศษธรรมวิเศษ เช่น วิชชา ๓วิชชา ๘อภิญญา ๖ จนรวมถึง วิปัสสนาญาณ หรือ ปัญญาญาณต่างๆ เป็นต้น ตามเกณฑ์บรรทัดฐานนี้ ย่อมได้วิชชาใน (๑) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้อดีตชาติได้ หรือระลึกชาติได้ทั้งของตนและผู้อื่น และ (๒) จุตูปปาตญาณทิพพจักขุญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้สาเหตุของปัญหาชีวิตในทุกขตาหรือสังสารทุกข์ เข้าใจเรื่อง กฎแห่งกรรมกฎแห่งผลวิบากของกรรมกฎแห่งกรรมของสัตว์ จึงเป็นเหตุให้สามารถพยากรณ์เรื่องราว [สภาวธรรม] ในกาลทั้ง ๓ ได้ กลายเป็น หมอดูเทวดา อะไรทำนองนี้ ถ้าเป็นหมอดูระดับปฐมฌาน ก็มีพลังพยากรณ์อ่อนมาก ทำนายผิดๆ ถูกๆ หลอกเอาเงินลูกค้า ชักนำไปในเรื่องสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา เอาแต่จะคิดหากลลวงกลอุบายได้ ดังนี้เป็นต้น วิชาหมอดูดก็เทียบเคียงได้กับ ทิพพจักขุทิพพจักขุญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้เหตุและผลในกาลทั้ง ๓ อย่าง อันเป็นไปตามปัจจัยธรรม [ปัจจยาการอิทัปปัจจยการ] นั่นเอง การไปหลงเชื่ออำนาจพลังจิตของผู้อื่นมากๆ มักกลายเป็น ตัวโง่ ในที่สุด กลายเป็นสาวกในลัทธินอกพระพุทธศาสนา ได้แก่ (๑) ลัทธิกรรมเก่า (๒) ลัทธิพระเป็นเจ้า (๓) ลัทธิเสี่ยงโชค แล้วยังไม่พออีกกลายเป็นพวกเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอโชคลาภ ไม่ย่อมพึ่งตนเองเพื่อประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นพุทธศาสนิกที่ดี อย่าลืมว่า การเซ่นไหว้บูชาให้ผลจริง ๑ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มีจริง ๑ ผู้ปฏิบัติธรรมผู้ประพฤติธรรมขั้นสูง ย่อมเข้าใจดีในเรื่องเหล่านี้ จึงไม่พยายามไปร่วมรับผลกรรมของคนอื่น แต่พยายามตัดกรรมหรือเทกรรมของตนให้หมดไปด้วยการเจริญสมาธิภาวนา ให้จิตใจไม่เศร้าหมองขุ่นมัวตามอำนาจของกิเลสทั้งหลาย จิตปราศจากนิวรณ์แล้ว จึงเป็นจิตที่สามารถตัดกรรมได้จริง ไม่ใช่การไปนอนในโลงศพหรือบังสุกุลเป็นบังสุกุลตาย แถมปล่อยปลาปล่อยนก จะช่วยตัดกรรมจากเจ้ากรรมนายเวรได้ หรือจะทำพิธีลอยกรรมตามแบบฉบับสมัยสุโขทัย ก็ยังไม่มีสำนักเวทย์มนต์ไหนออกมารับรองผลได้จริง ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องไสยาศาสตร์ เหมาะสบกับคนมีดวงตกซวยไม่รู้จบ เป็นต้น พอติดใจลัทธิผีไสยาศาสตร์มากๆ ถอนตัวไม่ขึ้น พอมาปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าให้ ก็เกิดอาการองค์ลงประทับ เกิดความวุ่นวายในศาลาวัด ระสำระสายราวครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ แทนที่จะได้ Dดี เลยกลับไปได้ Fซวย ไปเลย [ก็ไปทะลุเชียงคานเข้าลาวก็ไปไม่กลับ] เพราะฉะนั้น การบรรลุธรรมวิเศษในพระพุทธศาสนากับไสยาศาสตร์นั้น มีพื้นฐานเริ่มต้นอย่างเดียวกัน คือ ฌานสมาบัติ พอฝึกอบรมจิตจนบรรลุถึง จตุตถฌาน อันเป็นทางแยกหรือทางสามแพร่ง ก็ให้เลือกเลี้ยวไปเส้นทางวิปัสสนาภาวนาก็แล้วกัน ถ้าหยุดอยู่แค่นั้น ก็กลายเป็นฤษีผู้รู้มาก หรือพัฒนากลายเป็น ร่างทรง ไปรับขันธ์เจ้าแม่นั้นเจ้าพ่อนี้ หรือบรรดาทวยเทพจากลัทธิฮินดูทั้งหลาย เล่นเอากรมศาสนาเวียนหัวอาเจียนเป็นโลหิตจางได้ ทางภาคอีสานก็ไม่ขอน้อยหน้าจากภาคอื่นเช่นกัน เอาลัทธิผีเข้ามาบวกสนธิกำลังกับพระพุทธศาสนา ไม่ค่อยนิยมเทพฮินดู [อาจเป็นเพราะว่า คนอีสานไม่ชอบเนย กินมากเวียนหัวและเหม็นเนย] พอหมอผีสู้พี่ไม่ได้ แพ้กำลังของผี พระเกจิอาจารย์ก็กระหน่ำผีปีศาจเอาให้อยู่หมัด สังคมจึงสงบสุขเกิดสันติภาพมาทุกวันนี้ ผู้สันทัดกรณีบอกว่า เรื่องนี้มันยาว ต้องถามพระกัมมัฏฐานเอาเอง โดยเฉพาะเรื่องพญานาคคุมเขตอีสานเหนือและอีสานใต้ เทพแขกฮินดูข้ามเขตจากภาคกลางมายากเหมือนกัน ฉะนั้น ทางสามแพร่งที่ว่านี้ ด่านกำแพงความคิดกั้นแยกคนที่ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมจะเลือก สัมมาทิฏฐิ [วิปัสสนา] หรือจะเลือก มิจฉาทิฏฐิ [ไสยาศาสตร์] ถ้าไม่ดื้อแล้วเชื่อฟังตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ย่อมกลายเป็น อริยบุคคล ได้ จนข้ามภพภูมิไปสู่ พระอรหันต์ ผู้รู้แจ้งโลกและชีวิตตามเป็นจริง แต่ถ้าเป็นผู้งงในชีวิตแล้วนั้น ก็ไปศรัทธาเลื่อมใสใน ไสยาศาสตร์ ที่เรียกว่า ติรัจฉานวิชา คือ ความรู้ไม่ได้ช่วยให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายและทุกข์ทั้งปวง แต่อย่างไรก็ตาม ในการบรรลุธรรมวิเศษหรืออุตตริมนุสสธรรมทั้งฝ่ายสมถะและฝ่ายวิปัสสนานั้น เป็นเรื่องเฉพาะตน [ปจฺจตฺตํ] ที่บุคคลต้องเข้าใจอย่างรู้แจ้งเห็นจริงและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเอง ถึงจะผ่านด่านปัญญาญาณใน วิปัสสนาญาณ ๙ ได้ ส่วนใหญ่มักจะถึง วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ เข้าครอบงำทำให้เกิดความฟุ้งซ่านไป ซึ่งกำจัดด้วยปัญญาเห็นไตรลักษณ์โดยไม่วิปลาสเท่านั้น จากนั้น จึงจะข้ามโคตรจากปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยบุคคลได้ ที่เรียกว่า โลกุตตรธรรม ๙ ได้แก่ มรรค ๔ผล ๔นิพพาน ๑ สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของ ญาณสัมปยุตต์ ที่เกิดร่วมกับ โลกุตตรธรรม นั้น ย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะตนตาม ภูมิรู้ภูมิธรรมภูมิปัญญา ของแต่ละบุคคลที่จะเรียกว่า พระอรหันต์ ดังเช่น จำแนกออกเป็น ๔ ขั้น ได้แก่ (๑) ผู้บรรลุวิปัสสนาล้วน (๒) ผู้บรรลุวิชชาสาม (๓) ผู้บรรลุอภิญญาหก และ (๔) ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาสี่ ข้อ ๒ กับ ข้อ ๓ เป็นฝ่ายสมถพละโดยเฉพาะ สำหรับ ข้อ ๔ นั้น เกิดจากสมถพละกับวิปัสสนาพละรวมกัน ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมที่จะตัดสินตนได้ว่าบรรลุธรรมวิเศษหรือยัง ต้องเป็นบุคคลผู้คงแกเรียนหรือเรียนรู้มากในพระไตรปิฎก ฟังธรรมเทศนา รู้เห็นเข้าใจ ปฏิปัตติสัทธรรม และ ปริยัติสัทธรรม เป็นอย่างดี กล่าวโดยสรุป คือ การเป็นบุคคลที่มีปัญญาแตกฉานในธรรมขันธ์ทั้ง ๕ อย่าง ได้แก่ สีลขันธ์สมาธิขันธ์ปัญญาขันธ์วิมุตติขันธ์วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ เพื่อตัดสินความสำเร็จของตน ดังนี้.
|