๙๕. ฌานและญาณปัจจัยหลักแห่งการปฏิบัติธรรม Absorption and Insight as the Main Factors for Mental Development
By Nithee Siripat Siripat.com and Academiae Network. 2016
ความสำคัญของบทความ
แนวทางการปฏิบัติธรรมหรือการเจริญภาวนากรรมฐานที่ถูกต้องนั้น จำแนกออกเป็น ๒ อย่าง ได้แก่ (๑) การเจริญฌานสมถภาวนาสมาธิ กับ (๒) การเจริญญาณวิปัสสนาภาวนา ปัญญา โดยมีจุดประสงค์ร่วมกัน คือ การบรรลุความตรัสรู้ [อาสวักขยะสัมโพธะ] โลกุตตรธรรมทั้งหลาย เพื่อให้เข้าถึง สัจจภาวะแห่งนิพพาน เพราะฉะนั้น แนวทางดำเนินปฏิบัติสัมมาปฏิปทาอันยิ่งนั้น จึงประกอบด้วยคุณธรรม ๒ กลุ่ม ที่บ่งบอกลักษณะของธรรมที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนี้ คุณธรรมกลุ่มแรกได้แก่ (๑) วิราคะ คือ ความคลายกำหนัด (๒) วิสังโยค คือ ความไม่ประกอบทุกข์ (๓) อปจยะ คือ ความไม่พอกพูนกิเลส (๔) อัปปิจฉตา คือ ความมักน้อย (๕) สันตุฏฐี คือ ความสันโดษ (๖) ปวิเวก คือ ความสงัด (๗) วิริยารัมภะ คือ การประกอบความเพียร และ (๘) สุภรตา คือ ความเลี้ยงง่าย กับ คุณธรรมกลุ่มหลัง ได้แก่ (๑) เอกันตนิพพิทา คือ ความหน่ายสิ้นเชิง (๒) วิราคะ คือ ความคลายกำหนัด (๓) นิโรธ คือ ความดับ (๔) อุปสมะ คือ ความสงบ (๕) อภิญญา คือ ความรู้ยิ่ง (๖) สัมโพธะ คือ ความตรัสรู้ และ (๗) นิพพาน คือ ภาวะปราศจากกิเลสอาสวะทั้งหลายแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมที่เชื่อมระหว่างฌานกับญาณนั้น เรียกว่า ญาณทัสสนะ หมายถึง การหยั่งรู้จริงเห็นจริง [ยถาภูตญาณปรีชาญาณ] ที่กลายเป็น ยถาภูตญาณทัสสนะ เป็นเหตุให้บรรลุถึง วิชชา คือ ความรู้แจ้ง กับ ปัญญาญาณ คือ ปัญญาหยั่งรู้ในวิปัสสนา แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ต้องมี สติสัมปชัญญะ อยู่ด้วย โดยเป็นเหตุทำให้ไม่เกิดความประมาทในการเจริญภาวนา [อัปปมาทะ] จึงทำให้ตรัสรู้ธรรมได้ จนเข้าถึงนิพพานในอันดับสุดท้าย.
บทความที่ ๙๕ ประจำปี ๒๕๕๙ ฌานและญาณปัจจัยหลักแห่งการปฏิบัติธรรม
เมื่อกล่าวถึงแนวทางในการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น อาจมีหลายคนสับสนถึงขั้นตอนของการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี คือ ให้เหมาะควรแก่ธรรม เพื่อป้องกันความผิดพลาด ไม่วกไปเวียนมาผิดๆ ถูกๆ สร้างความวิตกกังวลสงสัยขึ้นในระหว่างปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เข้าไปปฏิบัติธรรมตามสถานปฏิบัติธรรมต่างๆ ซึ่งมีแนวทางประพฤติปฏิบัติที่แตกต่างกันตามเจ้าของสถานที่นั้นๆ ถ้าจะพิจารณาตามแนวทางแห่งพุทธะแล้ว การถือปฏิบัติตามส่วนบุคคลเฉพาะนั้น อาจมีขั้นตอนละเอียดตามจริตของผู้เป็นครูฝึกสมาธิและวิปัสสนา อาจมีแนวทางปฏิบัติเฉพาะตน ทั้งง่ายและยากแตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมต้องใช้ปัญญาและเหตุผล ในการพิจารณาไตร่ตรองถึงประโยชน์อย่างแท้จริง ที่ตนพึงได้รับ ไม่ใช่แค่เพียงความพอใจในการสร้างภาพแค่ว่า ไปปฏิบัติธรรม แต่กลับเป็นความสูญเปล่าของเวลาชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย เพราะความประมาทการใช้ปัญญาหรือวิจารณญาณ แถมยังเกิดตัณหาอุปาทานยึดมั่นในข้อปฏิบัติอย่างผิดๆ โดยสำคัญว่าเป็นแนวทางปฏิบัตินั้นๆ ศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายและทุกข์ทั้งปวงได้ ที่เรียกว่า สีลัพพตปรามาสสีลัพพตุปาทาน เลยเป็นเหตุทำให้ไม่ก้าวหน้าในการเจริญภาวนากรรมฐาน เพราะไม่ถือปฏิบัติเป็นผู้เรียนรู้มากอีกส่วนหนึ่ง เลยไม่รู้ทิศทางอันถูกต้องเหมาะควรแก่ธรรม [ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ] ฉะนั้น อาการหลงครู คือการยึดติดกับครูอาจารย์จึงเป็นเรื่องที่ผิด เพราะจิตคนละดวง เกิด อวิชชาตัณหา มาปิดกั้นแนวทางความคิดของตนให้เศร้าหมอง ฟุ้งซ่านและร้อนใจไปเองว่า ตนจะทำผิด เพราะไม่เกิดปัญญาและไม่เข้าใจเหตุผลและความหมายแห่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจริง ตรงกับคำว่า เลี้ยงไม่รู้จักโต หรือไม่เป็นลูกศิษย์ที่ดีได้ ไม่สามารถต่อยอดความรู้ให้สูงขึ้นต่อจากครู อนึ่ง ความไม่เพลิดเพลินเจริญใจเจริญธรรมนั้น ทำให้ นิวรณ์ กลุ้มรุมจิตใจให้เศร้าหมองและไม่เกิดปัญญาเห็นธรรมตามเป็นจริง [ยถาภูตญาณ] เพราะความกลัวทำให้ลำเอียงว่าจะไม่ได้ดังใจนึก นั่นเอง อุปสรรคแห่งนิวรณ์เหล่านี้ ยังไปรวมกับกำลังของมารทั้ง ๕ ได้เช่นกัน ได้แก่ (๑) กามฉันทะพยาบาทถีนมิทธะอุทธัจจกุกกุจจะวิจิกิจฉา กับ (๒) กิลสมารขันธมารอภิสังขารมารเทวปุตตมารมัจจุมาร กล่าวโดยสรุป หมดโอกาสในการบรรลุ โลกุตตรธรรม ในที่สุดอันสุดรอบในชีวิตนี้ การถือปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เริ่มต้นจากง่ายๆ สามัญจนไปถึงยากๆ อันพิสดารตามภูมิปัญญาของแต่ละบุคคล และเป็นเรื่องปฏิปทาแนวปฏิบัติที่ศรัทธา ก็ให้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งด้วย สติสัมปชัญญะ เพื่อป้องกันความผิดพลาดอันใหญ่หลวงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้น ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีความสำคัญยิ่งต่อผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งควรจะต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้ไว้ก่อนล่วงหน้าอย่างดีพร้อม ก่อนถึงเวลาลงมือปฏิบัติจริง การเตรียมตัวพร้อมจึงสำคัญเป็น ทักษะสะสมประสบการณ์ และเป็น ต้นทุนทางปัญญา ส่วนความรู้แจ้งที่จะเกิดขึ้นในวิปัสสนาภูมิถือเป็นความต่อยอดขึ้นใหม่ ที่เรียกว่า ปัญญาญาณในวิปัสสนา ที่เป็นความรู้ที่เหนือโลกเป็นหลัก ไม่ใช่ปัญญาสามัญอย่างปุถุชนรู้ทั่วๆ ไปจากสถาบันการศึกษา ดังนั้น จึงให้พิจารณาถึง ภาวนา ๒ ประกอบด้วย (๑) ฌาน คือ ความสบงสงัดแห่งจิตเป็นสมาธิ และ (๒) ฌาน คือปรีชาหยั่งรู้แจ้งด้วยปัญญาและเหตุผล โดยมี สติสัมปชัญญะ ทำหน้าที่เป็นจิตตัววิปัสสนาสภาวธรรม ที่เรียกว่า ญาณทัสสนะ และ อาสวักขยะ [ความตรัสรู้] ตามลำดับ เพราะฉะนั้น ฌานเป็นกำลังฝ่ายสมาธิและญาณเป็นกำลังฝ่ายปัญญา ในการปฏิบัติธรรมนั้น องค์ประกอบทั้ง ๒ ประการ นี้ เป็นผลมุ่งหมายแห่งการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมวิเศษทั้งหลายโดยฌานสมาบัติ คือ รูปฌาน ๔ นั้น เป็นการเจริญภาวนาฝ่ายสมถะ ที่เรียกรวมว่า จรณะ ๑๕ หรือ เสขปฏิปทา ได้แก่ (๑) สีลสัมปทา ๑ (๒) อปัณณกปฏิปทา ๓ (๓) สัทธรรม ๗ (๔) ฌาน ๔ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุความรู้แจ้ง ที่เรียกว่า วิชชา คือ วิชชา ๓วิชชา ๘อภิญญา ๖ญาณ ๑๖ รวมทั้งบรรดา วิปัสสนาญาณ คือ ญาณในวิปัสสนา ซึ่งต้องรวมกับ สมาธิในวิปัสสนา หรือถ้าจะจำแนกใหม่ นั่นคือ (๑) จิตตัววิปัสสนา คือ สติ กับ (๒) จิตตัวสร้างปัญญา คือ สัมปชัญญะ หรือแบ่งตามงานภาวนา คือ (๑) สมถะสมาธิฌาน กับ (๒) วิปัสสนาปัญญาญาณ ที่เชื่อมด้วย ญาณทัสสนะ อันเป็นปัญญาตรัสรู้ธรรมในขั้นตอนสุดท้าย เรียกว่า ยถาภูตญาณยถาภูตญาณทัสสนะ อันเป็นญาณอีกอย่างหนึ่งใน มหาวิปัสสนา ๑๘ แต่อย่างไรก็ตาม ลำดับขั้นที่สมบูรณ์ของขั้นตอนตรัสรู้ธรรมนั้น ฝ่ายสมถะต้องมีความสมบูรณ์แบบเช่นกัน คือ ต้องประกอบด้วย รูปฌาน ๔ และ อรูปฌาน ๔ เพื่อให้สมดุลกับฝ่ายวิปัสสนา คือ ญาณ ๑๖โสฬสญาณ ที่เจริญด้วย อนุปัสสนา ๗ และ มหาวิปัสสนา ๑๘ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เรียกว่า ธรรมสามัคคี ในกระบวนการปฏิบัติธรรมทั้งหมดนี้ ต่างเรียกว่า วิสุทธิ ๗ หมายถึง ความบริสุทธิ์ที่พัฒนาสูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ ตามหลักไตรสิกขา [ศีลสมาธิปัญญา] จนบรรลุถึงความเป็นอริยบุคคลในพระธรรมวินัยนี้ เรียกว่า อริยมรรค ๔มัคคญาณ ๔ พร้อมด้วย ผลญาณ ๔ และ นิพพาน ๑ ตามลำดับ ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธะเจ้า จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกทั้งหลาย เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็น ชนผู้หลงทิศ ความรอบรู้ดังกล่าวนี้ สาธุชนทั้งหลายสามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากพระไตรปิฎกหรือเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือจากการฟังธรรมฟังเทศน์ในโอกาสต่างๆ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา อันเปรียบเหมือนยานนำพาสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายในโลกียภูมิ ข้ามไปสู่โลกุตตรภูมิอันเป็นสถานที่สงบสุขอันเป็น สันติบทแห่งนิพพาน ซึ่งบุคคลผู้จะเข้าถึงได้ต้องประกอบด้วยความเพียรอย่างสูงให้ถึงอริยมรรค ที่มีรากฐานการพัฒนาด้วย (๑) ฌาน กับ (๒)ญาณ หรือ (๑) สมาถะ กับ (๒) วิปัสสนา เท่านั้น นั่นเอง.
|